ต้นเหตุสำคัญของค่าไฟแพง?

1606
- Advertisment-

แก้ปัญหาค่าไฟให้ กฟผ. รับภาระ

การแก้ปัญหาค่าไฟฟ้าแพงของรัฐบาลเศรษฐา ที่ใช้มติคณะรัฐมนตรีเข้ามาแทรกแซงกลไกการพิจารณาของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ซึ่งมีอำนาจหน้าที่พิจารณาปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามกฎหมาย ทั้งในงวดเดือนกันยายน-ธันวาคม 2566 ที่กดค่าไฟฟ้าให้เหลือ 3.99 บาทต่อหน่วยจากที่ควรจะอยู่ที่ 4.45 บาทต่อหน่วย และงวดเดือนมกราคม-เมษายน 2567 ที่ให้ปรับขึ้นได้ 4.20 บาทต่อหน่วย จากที่ควรจะปรับขึ้นเป็น 4.68 บาทต่อหน่วย เป็นเพียงการยื้อเวลา ผลักปัญหาออกไปกองไว้ในอนาคตเท่านั้น เพราะต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ค้างจ่ายนั้นยังอยู่ และ กฟผ. ประเมินออกมาแล้วว่า ตลอดทั้งปี 2567 ภาระก้อนนี้น่าจะอยู่ที่ประมาณ 137,000 ล้านบาท ซึ่งจะต้องนำไปทยอยคิดบวกรวมในค่าไฟฟ้างวดต่อๆ ไป ให้ผู้ใช้ไฟฟ้าจ่ายคืนบวกด้วยอัตราดอกเบี้ยที่ กฟผ. ไปกู้มาดำเนินการตามนโยบายรัฐ อีกด้วย

พีระพันธุ์” เข้าใจปัญหาโครงสร้างค่าไฟแพง?

- Advertisment -
พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน

ถ้าใครได้ดูรายการ “ แฉ ” ทางทีวีช่อง GMM 25 เมื่อไม่นานมานี้ก็จะเห็นคุณพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน อธิบายถึงปัจจัยที่ทำให้ค่าไฟแพงว่า ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า โดยเฉพาะจากแหล่งเอราวัณในอ่าวไทยนั้น มีการผลิตที่ลดลงในช่วงที่มีการเปลี่ยนผ่านสัญญาเอกชนผู้ดำเนินการ ทำให้ต้องมีการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่มีราคาแพงกว่าเข้ามาทดแทน และอีกปัจจัยหนึ่งมาจากนโยบายการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด เช่น พลังงานแสงอาทิตย์ ที่มีการให้แรงจูงใจเอกชนในรูปของค่า Adder และ Feed in Tariff  ซึ่งสูงกว่าค่าไฟฟ้าปกติ ทำให้ตัวเขาอยากจะเข้าไปรื้อโครงสร้างพลังงานทั้งระบบเพื่อสร้างความเป็นธรรมให้กับผู้ใช้ไฟฟ้า 

และในวันที่คุณพีระพันธุ์ ตอบกระทู้ของ ศุภโชติ ไชยสัจ สส.บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล ก็บอกว่าในการประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 7 ธันวาคม 2566 ได้มีมติให้แก้ไขเรื่องโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ และนำค่าปรับที่ ปตท. ได้จากผู้ผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณที่ส่งก๊าซไม่ได้ตามสัญญา วงเงิน 4 พันกว่าล้านบาท มาเป็นส่วนลดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชน ในขณะเดียวกัน ก็พยายามที่จะเข้าไปแก้ไขกฎหมายเพื่อให้ฝ่ายนโยบายเข้าไปกำกับดูแล คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ (กกพ.) ที่มีบทบาทในการคิดคำนวณค่าไฟฟ้า ได้มากขึ้น  

“แหล่งก๊าซเอราวัณกลายเป็นแพะรับบาป ค่าไฟแพง”

แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ

มีการพูดถึงปัญหาของแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติได้ตามสัญญา จนกลายเป็นแพะรับบาปที่ทำให้ค่าไฟฟ้าแพง เพราะในช่วงเปลี่ยนผ่านคืนวันที่ 23 เมษายน 2565 นั้นการผลิตก๊าซลดลงเหลือ  399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในขณะที่ปริมาณตามสัญญาของ ปตท.ส.ผ.อีดี กับรัฐ คือ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปริมาณดังกล่าว ปตท.สผ.อีดี ที่เป็นคู่สัญญากับรัฐแจ้งเป็นระยะตลอดช่วงการเปลี่ยนผ่านและหลังจากได้เข้าพื้นที่ต้นปี 2565 ว่า มีการปรับแผนงานทุกขั้นตอนอย่างเต็มความสามารถอย่างต่อเนื่อง โดยแผนเดิมคือการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณให้ได้ 600​ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน​ ในวันที่​ 1​ ธันวาคม​ ​2566 ซึ่งก็ยังไม่ได้เป็นไปตามเป้าและยังไม่ชัดเจนว่าจะทำได้ในเดือนใด โดยตั้งเป้าต่อไปว่าจะเพิ่มการผลิตก๊าซให้ได้ตามสัญญา 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในเดือนเมษายน 2567

“การผลิตก๊าซของแหล่งเอราวัณ ลดลงตามศักยภาพของแหล่งที่ผลิตมายาวนาน”

ในข้อเท็จจริงนั้น แหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณ เป็นแหล่งก๊าซขนาดใหญ่ที่มีการผลิตเป็นแหล่งแรกในอ่าวไทย โดยผลิตมาจนสิ้นสุดอายุสัญญาสัมปทานรายเดิมครบ 50 ปี เมื่อ 23 เมษายน 2565 โดยผู้รับสัมปทานรายเดิมคือ เชฟรอน ผลิตได้สูงสุดวันละ 1,100-1,200 ล้านลูกบาศก์ฟุต ซึ่งในช่วงปลายสัญญาสัมปทานกำลังการผลิตนั้นลดลงตามโครงสร้างธรณีวิทยาของแหล่งที่มีความซับซ้อนเหลือหลุมกระเปาะเล็กๆกระจัดกระจาย ทำให้การประมูลเพื่อหาผู้รับสัญญาใหม่หลังหมดอายุสัญญาสัมปทาน รัฐได้กำหนดปริมาณเอาไว้เพียง 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องไป 10 ปี และเมื่อผู้รับสัญญารายใหม่คือ ปตท.สผ.อีดี ชนะการประมูลเมื่อ 13 ธันวาคม 2561 ในการดำเนินงานทางธุรกิจก็เป็นธรรมดาที่รายเดิมจะต้องลดการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่เพิ่ม และโฟกัสที่การเตรียมพร้อมด้านต่างๆ เพื่อการเปลี่ยนมือผู้ดำเนินงานอย่างปลอดภัย ทำให้ปริมาณการผลิตก๊าซลดลงเหลือเฉลี่ยทั้งเดือนพฤษภาคม 2565 ที่ปริมาณราว 300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน 

“ฝ่ายนโยบายรับทราบปัญหาการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณที่ลดปริมาณลงมาโดยตลอด”

กรณีปัญหาการผลิตก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ที่จะมีปริมาณการผลิตลดลงนั้น ฝ่ายผู้กำหนดนโยบายทั้งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ในขณะนั้น และ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) รับทราบมาโดยตลอด ตั้งแต่ ปี 2562 ว่าผู้รับสัมปทานรายเดิมซึ่งแพ้การประมูลจะชะลอการลงทุนเพราะจะไม่เกิดความคุ้มค่าในทางเศรษฐศาสตร์  อย่างไรก็ดี ในขณะนั้นแนวทางการแก้ปัญหาของรัฐที่พิจารณาเลือกใช้คือ การบริหารจัดการเชื้อเพลิงที่จะมาทดแทนก๊าซส่วนที่ขาดหายไป ซึ่งเชื้อเพลิงที่ว่านั้นก็คือ LNG 

ทั้งนี้ในส่วนของโครงสร้างพื้นฐานที่จะมารองรับการนำเข้า LNG เพื่อทดแทนก๊าซส่วนที่หายไปจากแหล่งเอราวัณนั้น ปตท. มีการวางแผนรองรับเอาไว้แล้ว แต่ประเด็นสำคัญคือ นโยบายรัฐจะให้ใครเป็นผู้นำเข้า LNG ในปริมาณดังกล่าว โดยการนำเข้า LNG 1 ล้านตันต่อปีจะเทียบเท่า ก๊าซธรรมชาติ 140 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน กรณีของแหล่งก๊าซเอราวัณ ที่ประเมินว่าก๊าซจะขาดหายไปประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คือต้องนำเข้า LNG ในปริมาณ 3 ล้านตันต่อปี 

ไม่มีนโยบายให้ ปตท. นำเข้า LNG เพื่อแก้ปัญหาแหล่งก๊าซเอราวัณ ในช่วงที่ราคายังต่ำ 

โดยเมื่อย้อนไปดูราคา LNG แบบ Spot ในช่วงปี 2562 และ 2563 พบว่ายังมีราคาที่ไม่สูงมาก ซึ่งเดือน กรกฎาคม 2563 ปตท. สร้างสถิตินำเข้า LNG แบบ Spot ราคาต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 1.78 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู ต่ำกว่าราคาก๊าซที่ผลิตได้จากแหล่งในอ่าวไทย ดังนั้นหากฝ่ายนโยบายตัดสินใจให้ ปตท. จัดทำสัญญานำเข้า LNG ในช่วงเวลาดังกล่าว ด้วยสัญญาระยะกลาง หรือสัญญาระยะยาว ที่จะมาทดแทนก๊าซจากแหล่งเอราวัณส่วนที่ขาดหายไปก็จะไม่มีประเด็นเรื่องแหล่งเอราวัณในวันนี้ แต่ฝ่ายนโยบายกลับเร่งดำเนินนโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ที่จะให้เอกชนเข้ามามีบทบาทในการนำเข้า LNG โดยให้เหตุผลว่าเพื่อให้มีเอกชนรายใหม่มาแข่งขันกับ ปตท. 

เปิดเสรีก๊าซให้เอกชนนำเข้า LNG แต่เจอผลพวง สงครามรัสเซีย-ยูเครน 

นโยบายการเปิดเสรีธุรกิจก๊าซธรรมชาติ ผ่านความเห็นชอบจาก กพช. เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2564 โดยมีเอกชนที่ได้ใบอนุญาตเป็น Shipper รายใหม่ที่สามารถจัดหาและค้าส่ง LNG ได้ 7 ราย ซึ่งมีการกำหนดโควตานำร่องสำหรับปี 2564-2566 ให้เอกชนเป็นผู้นำเข้า อย่างไรก็ตามเมื่อเกิดเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน ช่วงต้นปี 2565 ที่ดันทั้งราคาน้ำมันดิบและราคา LNG ให้พุ่งสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ไม่มี Shipper เอกชน นำเข้า LNG ตามนโยบายแม้แต่รายเดียว เพราะการนำเข้า LNG ในราคาที่แพงกว่าซื้อจาก Pool Gas เอกชน ต้องเป็นผู้รับความเสี่ยงจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นเอง  ดังนั้นโควตานำเข้า LNG จึงถูกโยกมาให้ ปตท. และ กฟผ. เป็นผู้นำเข้า โดยส่งผ่านต้นทุนมาที่ค่าไฟฟ้า  

LNG นำเข้าราคาพุ่ง เหตุการณ์ที่ทุกฝ่ายไม่ได้เตรียมการรับมือ ทำให้คนไทรับภาระค่าไฟแพง

LNG แบบ Spot ที่มีราคาทะลุเกิน 30 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู จากผลของสงครามรัสเซีย-ยูเครน ที่ต้องนำเข้ามาใช้ในช่วงการเปลี่ยนผ่านผู้ดำเนินงานในแหล่งเอราวัณ ซึ่งมีปริมาณการผลิตก๊าซลดลง เพื่อไม่ให้มีปัญหาความมั่นคงด้านไฟฟ้า กลายเป็นต้นทุนค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องแบกรับเอาไว้ในที่สุด   

โดยหากฝ่ายนโยบายซึ่งรับรู้ปัญหาของแหล่งเอราวัณเป็นอย่างดีมาตั้งแต่ต้น ได้มีการบริหารจัดการให้มีการนำเข้า LNG ในช่วงที่ยังราคาต่ำเอาไว้ล่วงหน้า คนไทยก็จะไม่ต้องเจอค่าไฟฟ้าแพงเช่นปัจจุบัน แหล่งก๊าซเอราวัณก็จะไม่กลายเป็นแพะรับบาปว่าเป็นต้นเหตุของค่าไฟแพง และใครบางคนที่เป็นผู้กำหนดนโยบายพลังงาน ก็จะไม่ต้องตีกรรเชียง ลอยตัวเหนือความทุกข์ร้อนของผู้ใช้ไฟฟ้าเช่นในปัจจุบัน

Advertisment