ตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (3) : “เอราวัณ” ฮับผลิตก๊าซกลางอ่าวไทย
หลังจากที่เราได้ทำความเข้าใจในภาพกว้างไปแล้วในตอนที่ 1 และตอนที่ 2 ว่า ไทยเป็นประเทศผู้นำเข้าพลังงานสุทธิ และการผลิตปิโตรเลียมจากแหล่งภายในประเทศนั้นช่วยลดการนำเข้า สร้างความมั่นคงทางพลังงาน และช่วยเสริมสร้างเศรษฐกิจภายในประเทศ ในโอกาสที่ทีมศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) ได้มีโอกาสลงมาเยี่ยมแท่นผลิตปิโตรเลียม “เอราวัณ” กลางทะเลอ่าวไทยในครั้งนี้ จึงอยากจะพาผู้อ่านไปทำความรู้จักกับแหล่งผลิตปิโตรเลียมแห่งนี้ให้มากขึ้น
แหล่งผลิตก๊าซธรรมชาติเอราวัณและแหล่งข้างเคียงนั้น อยู่ในแปลงสัมปทานหมายเลข 10-13 โดยมี บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด เป็นผู้รับสัมปทาน และเป็นผู้ดำเนินการ (Operator) โดยเอราวัณไม่เพียงเป็นแหล่งก๊าซธรรมชาติเชิงพาณิชย์แห่งแรกในอ่าวไทย แต่ยังได้ชื่อว่าเป็นฮับการผลิตก๊าซธรรมชาติของเชฟรอนและของอ่าวไทย เพราะผลิตก๊าซตามสัญญาได้ในปริมาณสูงที่สุด มากกว่าทุกแหล่งที่มีอยู่ คือประมาณ 1,280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน หรือคิดเป็นประมาณ 1 ใน 4 ของความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติของประเทศ
ทำความรู้จักกับ ‘เอราวัณ’
แท่นผลิตกลางของเอราวัณ หรือ Erawan Complex ตั้งอยู่ห่างจากชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชประมาณ 145 กิโลเมตร ใช้ระบบคอมพิวเตอร์ควบคุมการผลิตทั้งหมด โดยมีบุคลากรคนไทยเป็นผู้ควบคุมและตรวจสอบระบบเพื่อประสิทธิภาพสูงสุดในการทำงานและการรักษาความปลอดภัย
โครงสร้างของ Erawan Complex ประกอบด้วยแท่น 6 แท่น คือ 1. แท่นผลิตกลาง (ERCPP –Erawan Centeral Processing Platform ) 2. แท่นหลุมผลิตแห่งแรก (ERWA-Erawan Alpha Platform) 3. แท่นกำจัดปรอท ที่ปนขึ้นมากับก๊าซที่ผลิตได้ (ERMPP –Erawan Mercury Removal Platform ) 4.แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน (ERCP-Erawan Compression Platform) 5. แท่นที่พักอาศัย 1 (ERLQ1- Erawan Living Quarter 1 ) และ 6. แท่นที่พักอาศัย 2 (ERLQ2- Erawan Living Quarter 2) นอกจากนี้ ยังมี เรือกักเก็บปิโตรเลียมอีก 1 ลำ (E2FSO) และแท่นหลุมผลิตอื่นๆ ซึ่งอยู่กระจายออกไปอีก 42 แท่น (รวมแท่นหลุมผลิตในแหล่งเอราวัณ แหล่งบรรพต บรรพตใต้ ประการังใต้ และดารา)
แท่นผลิตกลาง (ERCPP) เป็นแท่นขนาดใหญ่ที่ประกอบด้วยอุปกรณ์การผลิตต่างๆ เช่นระบบแยกสถานะ ระบบเพิ่มแรงดันก๊าซ ระบบดูดความชื้น และมาตรวัด เป็นต้น โดยก๊าซธรรมชาติที่ขุดขึ้นมาได้จากหลุมผลิตตามตำแหน่งกระเปาะกักเก็บก๊าซซึ่งอยู่กระจัดกระจายกันออกไปตามลักษณะทางธรณีวิทยาของแหล่งเอราวัณนั้น จะถูกส่งผ่านทางท่อใต้น้ำ มารวมกันยังแท่นผลิตกลางเพื่อเข้าสู่กระบวนการต่างๆ ต่อไป เพื่อแยก น้ำ ก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และสารปนเปื้อนอื่นๆ ออกจากน้ำมันและก๊าซธรรมชาติ สำหรับแท่นกำจัดปรอท (ERMRP) แห่งนี้ ก็จะแยกปรอทที่ปนขึ้นมากับก๊าซที่ผลิตได้ ก่อนเข้าสู่กระบวนการนำส่งไปยังโรงแยกก๊าซฯ ต่อไป
สำหรับแท่นหลุมผลิต เป็นแท่นที่ใช้สำหรับขุดเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียม ภายในแท่นจะประกอบด้วยหลุมผลิตจำนวน 9-12 หลุมหรือมากกว่า และมีอุปกรณ์การผลิตเบื้องต้น เช่น อุปกรณ์แยกสถานะ โดยปิโตรเลียมที่ถูกผลิตขึ้นมาจะผ่าน อุปกรณ์การผลิตเบื้องต้นที่แท่นหลุมผลิตนี้ ก่อนส่งไปผ่านกระบวนการต่อไปที่แท่นผลิตกลางด้วยระบบท่อส่งก๊าซ และการควบคุมด้วยระบบคอมพิวเตอร์ โดยแท่นหลุมผลิตจะอยู่กระจัดกระจายห่างจากเอราวัณคอมเพล็กซ์เป็นระยะทางต่างๆ กัน รวมถึงแท่นหลุมผลิต ERWA ในภาพ ซึ่งเป็นหลุมก๊าซธรรมชาติลำดับแรกที่เริ่มต้นกระบวนการผลิตเมื่อ 36 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะสิ้นสุดกระบวนการผลิตเมื่อปี 2541
แท่นอุปกรณ์เพิ่มแรงดัน (ERCP) เนื่องจากหลุมปิโตรเลียมจะมีแรงดันตามธรรมชาติที่ดันปิโตรเลียมขึ้นมาจากชั้นหินใต้พื้นโลกด้วย แต่เมื่อผลิตไประยะเวลาหนึ่งแรงดันตามธรรมชาติจะลดลง จึงจำเป็นต้องใช้อุปกรณ์เพื่อเพิ่มแรงดันให้กับหลุมให้สามารถนำปิโตรเลียมขึ้นมาได้มากที่สุด เกิดประสิทธิภาพและความคุ้มค่าในการผลิต
แท่นที่พักอาศัย 1 และ 2 (ERLQ 1 และ ERLQ 2) มีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกต่างๆ เช่น ห้องนอน ห้องอาหาร ห้องนั่งเล่น ห้องออกกำลังกาย เป็นต้น โดยแท่นที่อยู่อาศัยทั้ง 2 แท่นนั้น สามารถรองรับพนักงานที่มาปฏิบัติงานได้พร้อมกันถึง 340 คน
นอกจากนี้ ยังมีเรือกักเก็บปิโตรเลียมอีก 1 ลำ นามว่า “เอราวัณ 2 แทงค์เกอร์” (E2FSO) ทำหน้าที่เก็บกักก๊าซธรรมชาติเหลวเอาไว้ชั่วคราวเพื่อรอเวลาจ่ายให้กับเรือบรรทุกก๊าซของ ปตท. ซึ่งเป็นผู้รับซื้อ ซึ่งจะเดินทางมารับก๊าซฯ ทุก 4-5 วัน
เฉพาะแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณแห่งนี้ ผลิตก๊าซส่วนที่มาจากหลุมผลิตของเอราวัณเอง ได้ประมาณ 270 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่มีการส่งก๊าซจากแหล่งอื่นผ่านทางท่อส่งก๊าซใต้ทะเล มาที่แท่นผลิตแห่งนี้ด้วย ได้แก่ จาก แหล่งบรรพต ปริมาณ 90-100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และจากแหล่งจักรวาล (ตะวันตก) อีก 90 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน รวมทั้งมีการผลิตก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ คอนเดนเสท (Condensate ) ซึ่งเมื่ออยู่ในแหล่งกักเก็บตามธรรมชาติจะมีสถานะเป็นก๊าซ แต่เมื่อขึ้นมาอยู่ในสภาพบรรยากาศจะกลายเป็นของเหลว อีกประมาณ 12,000 บาร์เรลต่อวัน
ก้าวต่อไปของ ‘เอราวัณ’
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด
สัมปทานในแหล่งเอราวัณกำลังจะหมดอายุลงในปี 2565 ซี่งกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน กำลังอยู่ในระหว่างการดำเนินการประมูลเพื่อคัดเลือกเอกชนที่มีความพร้อมทั้งทางด้านคุณสมบัติและทางเทคนิค เข้ามาบริหารจัดการแหล่งเอราวัณแห่งนี้ (หรือ แปลง G1/61 ตามที่ระบุใน TOR การประมูล) โดยเปิดให้ผู้สนใจเข้าร่วมประมูลและผ่านการพิจารณาคุณสมบัติแล้ว ซึ่งรวมถึงเชฟรอนด้วย เข้ายื่นข้อเสนอทางด้านเทคนิคและราคาในวันที่ 25 ก.ย. 2561 นี้ และคาดว่าจะทราบผลผู้ชนะการประมูลภายในสิ้นปี 2561
นับตั้งแต่ที่แหล่งเอราวัณผลิตก๊าซเชิงพาณิชย์ครั้งแรกเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2524 จวบจนถึงปัจจุบัน แหล่งก๊าซเอราวัณ มีจำนวนหลุมที่ขุดเจาะสะสมอยู่ประมาณ 766 หลุม และเป็นหลุมที่ยังคงมีการผลิตก๊าซอยู่ประมาณ 596 หลุม โดยเชฟรอน จะต้องมีการเจาะหลุมผลิตใหม่ๆ ประมาณ 50-100 หลุมต่อปี เพื่อรักษาระดับปริมาณการผลิตก๊าซเอาไว้ให้ได้ตามสัญญา
คุณไพโรจน์ กวียานันท์ ประธานกรรมการบริหาร บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด บอกกับผู้สื่อข่าวของ ENC ว่า แหล่งก๊าซเอราวัณผลิตก๊าซต่อเนื่องตามสัญญามาแล้ว 36 ปี ปริมาณสำรองก๊าซที่มีอยู่จึงถูกนำขึ้นมาใช้มากแล้วคือประมาณ 70-80% ของปริมาณสำรองที่สำรวจพบ จึงนับเป็นเรื่องน่ายินดีที่รัฐเปิดให้มีการประมูลครั้งใหม่ เพื่อให้มีการสำรวจเพิ่มเติม เพื่อคงความต่อเนื่องของการผลิตพลังงาน อย่างไรก็ดีโจทย์ที่รัฐกำหนดขั้นต่ำในการประมูล หลังจากที่แหล่งก๊าซเอราวัณแห่งนี้สิ้นสุดอายุสัมปทานและเริ่มต้นดำเนินการใหม่ด้วยระบบแบ่งปันผลผลิต ที่กำหนดว่าต้องนำส่งก๊าซให้ได้อย่างน้อย 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ต่อเนื่องไปอีก 10 ปี ในราคาก๊าซที่ไม่สูงไปกว่าเดิมนั้น นับเป็นความท้าทายของผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งรวมถึงเชฟรอน ที่มีความพร้อมที่จะเป็นโอเปอเรเตอร์ในแหล่งนี้ต่อไปด้วย
การดำเนินการที่จะทำให้แหล่งเอราวัณ ยังคงเป็นฮับการผลิตก๊าซกลางอ่าวไทยได้ต่อไป จะต้องเพิ่มประสิทธิภาพในการสำรวจและผลิต ด้วยการพัฒนากระบวนการทำงานและเทคโนโลยี เพื่อให้สามารถเข้าถึงแหล่งพลังงานที่เข้าถึงได้ยากขึ้น ตลอดจนนำปิโตรเลียมขึ้นมาได้อย่างอย่างคุ้มค่ามากที่สุด อาทิ การพัฒนาเทคโนโลยีทางธรณีวิทยาปิโตรเลียมให้สามารถระบุตำแหน่งของแหล่งปิโตรเลียมได้อย่างแม่นยำ เป็นต้น
อย่างไรก็ดี คนไทยส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่า การพัฒนาปิโตรเลียมแหล่งหนึ่งนั้นต้องใช้เวลานาน ใช้เงินลงทุนสูง และมีความเสี่ยงสูงเช่นกัน ซึ่งในบทความ ตาม ENC ลงแท่นผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ ตอนต่อไป ตอนที่ 4 ทาง ENC จะนำมาเล่าให้เห็นภาพ ว่ามันยากและเสี่ยงขนาดไหน โปรดติดตาม
(โปรดติดตามตอนต่อไป)