กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย เดินหน้าส่งเสริมชุมชนนำขยะกลับมาใช้ประโยชน์ตามหลักเศรษฐกิจหมุนเวียน มุ่งถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการคัดแยกขยะ สร้างมูลค่าเพิ่มสู่เชิงพาณิชย์ ดันจังหวัดระยองเป็นพื้นที่นำร่องต้นแบบเมืองสะอาดสู่ความยั่งยืน ผ่านโครงการพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม พร้อมเดินหน้าภาคประชาสังคม มุ่งลดขยะพลาสติกในทะเลไทย อย่างน้อยร้อยละ 50 ภายในปี 2570
ดาว ประเทศไทย ได้ร่วมกับกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง (ทช.) ชุมชนเอื้ออาทรวังหว้า เทศบาลตำบลทับมา และหมีมีถัง จัดนิทรรศการเนื่องในวันเปิดโครงการพื้นที่สาธิตการบริหารจัดการขยะทะเลครบวงจรอย่างมีส่วนร่วม ณ สวนธารณะโขดปอ ชุมชนเนินพระ เทศบาลนครระยอง จังหวัดระยอง เพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านการบริหารจัดการขยะทะเลตามแนวทางเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) หนึ่งในทางออกแก้วิกฤติขยะแบบยั่งยืน พร้อมรณรงค์และสร้างความตระหนักถึงความสำคัญของการแยกขยะและนำกลับมาใช้ประโยชน์เพื่ออนุรักษ์ทะเล โดยมุ่งเน้นการให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะให้ถูกต้องตามประเภทตั้งแต่ต้นทาง การแนะนำคุณลักษณะและมูลค่าของพลาสติกแต่ละชนิด รวมทั้งจัดแสดงสินค้าและผลิตภัณฑ์ที่เกิดจากขยะพลาสติกเพื่อการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุด
ในงานยังนำเสนอตัวอย่างโครงการด้านสิ่งแวดล้อม อาทิ การเก็บขยะชายหาดในวันอนุรักษ์ชายฝั่งสากลซึ่งดาวได้ร่วมกับพันธมิตรจัดขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอด 17 ปี การปลูกต้นโกงกางและเก็บขยะในป่าชายเลนที่ปากน้ำประแสตลอดระยะเวลา 11 ปี การถ่ายทอดเทคโนโลยีที่ช่วยลดขยะในกระบวนการผลิตของเอสเอ็มอีในโครงการ ดาว เพื่ออุตสาหกรรมยั่งยืน โครงการดาวอาสาที่ออกไปเผยแพร่แนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนให้แก่นักเรียนในจังหวัดระยอง และโครงการถนนพลาสติกที่ดาว ร่วมมือกับเอสซีจีในการนำขยะพลาสติกมาทำถนน
นายนารินทร์ วงศ์ธนาศิริกุล ผู้อำนวยการฝ่ายสิ่งแวดล้อม ความปลอดภัย อาชีวอนามัย และรัฐกิจสัมพันธ์ กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย กล่าวว่า กลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย พร้อมร่วมขับเคลื่อนกับภาครัฐและภาคประชาสังคม ในการพัฒนาด้านการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในพื้นที่จังหวัดระยอง ซึ่งเป็นโมเดลที่ชัดเจนที่สุดเพื่อให้เป็นพื้นที่เป้าหมายในการนำร่องจัดการขยะพลาสติกอย่างครบวงจร ด้วยความพร้อมด้านโครงสร้างพื้นฐานในการรีไซเคิลขยะพลาสติก และเป็น 1 ใน 3 จังหวัดของพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่จะเกิดการขยายตัวในอนาคต นอกจากนี้ ยังสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการแก้ปัญหาขยะทะเลที่จะนำไปสู่การจัดทำแผนแม่บทการจัดการขยะพลาสติกของประเทศ ตั้งแต่ปี 2561–2573
“องค์การสหประชาชาติคาดว่าในอีก 30 ปี ประชากรโลกจะเพิ่มขึ้นกว่า 2 พันล้านคน ทำให้เราต้องใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้คุ้มค่าที่สุด วิธีหนึ่งคือการใช้ซ้ำ ไม่ว่าจะเป็นถุงพลาสติกหรือสิ่งของใด ๆ ก็ตาม ส่วนการแยกขยะก็ยังช่วยให้เรานำสิ่งของวนกลับมาสร้างประโยชน์ได้ใหม่ จึงอยากให้ช่วยกันแยกขยะตั้งแต่ต้นทาง” นายนารินทร์กล่าว
ทั้งนี้ ดาว ยังคงมุ่งมั่นร่วมแก้วิกฤตขยะของประเทศ โดยเฉพาะพลาสติก เพราะเชื่อว่าพลาสติกมีคุณค่ามากเกินกว่าที่จะกลายเป็นขยะ จึงได้ดำเนินงานผ่านโครงการต่าง ๆ ทั้งการช่วยลดการหลุดรอดของพลาสติกออกสู่สิ่งแวดล้อม ด้วยการนำพลาสติกใช้แล้วที่ยากต่อการรีไซเคิลมาเป็นส่วนผสมในการสร้างและเพิ่มความแข็งแรงให้กับถนนยางมะตอย ช่วยสร้างเศรษฐกิจหมุนเวียนของพลาสติกให้เกิดขึ้นจริงด้วยการพัฒนาเทคโนโลยีการรีไซเคิลพลาสติกใช้แล้วและการคิดค้นบรรจุภัณฑ์พลาสติกที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ 100% รวมทั้งช่วยสร้างผลกระทบเชิงบวกผ่านความร่วมมือกับทุกภาคส่วนในโครงการต่าง ๆ อาทิ โครงการความร่วมมือภาครัฐ ภาคธุรกิจ ภาคประชาสังคม เพื่อจัดการพลาสติกและขยะอย่างยั่งยืน (PPP Plastic) เพื่อร่วมกันบรรลุเป้าหมายในการลดขยะพลาสติกในทะเลไทยให้ได้อย่างน้อย ร้อยละ 50 ภายในปี 2570