เขียนเล่าข่าว EP. 71 – ดร. คุรุจิต นาครทรรพ เขียนบทความ “เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯนโยบายพลังงานของอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างไร?”

692
- Advertisment-

เมื่อโดนัลด์ ทรัมป์ ชนะเลือกตั้งกลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯนโยบายพลังงานของอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างไร? บทความโดย ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย  14 พฤศจิกายน 2567

ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย

(1)

ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา เมื่อวันที่ 5 พฤศจิกายน 2567 ปรากฏว่า นาย โดนัลด์ ทรัมป์ (Donald J Trump) วัย 78 ปีจากพรรครีพับลิกัน เอาชนะคู่แข่งจากพรรคเดโมแครต คือ นางกมลา แฮร์ริส (Kamala Harris) วัย 60 ปีไปอย่างขาดลอย ได้กลับเข้าสู่ทำเนียบขาวอีกครั้ง เป็นประธานาธิบดีคนที่ 47 ของสหรัฐฯ ถือเป็นการกลับมาที่ยิ่งใหญ่มากและจะถือเป็นการครองตำแหน่งครั้งสุดท้ายของเขา เพราะตามรัฐธรรมนูญสหรัฐฯ บุคคลใดจะเป็นประธานาธิบดีรวมเวลาเกิน 8 ปีไม่ได้ การเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ตามระบบกฎหมายของอเมริกันเป็นการเลือกทางตรง แต่แบ่งเป็น 2 ชั้น คือ ประชาชนจะไปเลือกตัวแทนหรือ electors ที่ถูกระบุว่ามาจากพรรคไหนและตั้งใจจะไปเลือกใครเป็นประธานาธิบดี แยกตามถิ่นที่อยู่ในแต่ละรัฐ จากทั้ง 50 รัฐและจากนครหลวงกรุงวอชิงตันดีซี โดยแต่ละรัฐจะมีตัวแทนที่เรียกว่า electors ในจำนวนที่ไม่เท่ากัน ขึ้นกับสัดส่วนประชากรในรัฐนั้นๆ ต่อจำนวนประชากรทั้งประเทศ ประกอบกันเป็นคณะ electoral college รวมจำนวน 538 คน ผู้ชนะที่จะได้เป็นประธานาธิบดีจะต้องได้เสียงจาก electors ตั้งแต่ 270 คะแนนขึ้นไป ผลการนับคะแนนอย่างไม่เป็นทางการในวันถัดมา สำนักข่าวต่างๆ ประกาศตรงกันว่า นายทรัมป์ชนะนางแฮร์ริส ใน electoral college  ด้วยคะแนน 312 : 226 โดยจะมีขั้นตอนนับคะแนนนี้อย่างเป็นทางการที่รัฐสภาในกรุงวอชิงตันดีซี ในต้นเดือนมกราคม 2568 และมีพิธีสาบานตนของโดนัลด์ ทรัมป์ เข้าดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีในวันที่ 20 มกราคม พร้อมๆ กับผู้ร่วมทีมคือ นาย เจ ดี แวนซ์ (J D Vance) ที่ได้รับเลือกเป็นรองประธานาธิบดีคนที่ 50 ในประวัติศาสตร์อเมริกา

- Advertisment -

ชัยชนะของทรัมป์ นอกจากเขาจะได้รับเลือกจากคณะ electoral college ดังกล่าวแล้ว คะแนนเสียงของประชาชนจากทุกรัฐรวมกัน หรือ popular votes นายทรัมป์ก็ชนะนางแฮร์ริส อีกด้วยคะแนน 75.517 ล้านเสียงต่อ 72.379 ล้านเสียง หรือราว 50.2% ต่อ 48.1% ประเด็นหาเสียงที่สำคัญที่น่าจะเป็นตัวตัดสินใจให้คนอเมริกันหันมาเทคะแนนให้ทรัมป์ ก็คือสภาพเศรษฐกิจในประเทศที่ฝืดเคือง เงินเฟ้อสูง ของแพง ปัญหาอาชญากรรม  การปล่อยให้คนต่างด้าวนับล้านๆ คนที่อพยพหลบหนีเข้าเมืองก่อให้เกิดปัญหาสังคมตามมา และนโยบายด้านการต่างประเทศที่ทำให้อเมริกาดูอ่อนแอ แม้ว่าพรรคเดโมแครตจะพยายามโจมตีว่าทรัมป์เป็นคนก้าวร้าว นิยมเผด็จการ ต่อต้านการทำแท้ง ต่อต้านการแปลงเพศ และจะเก็บภาษีนำเข้าสินค้าที่จะทำให้ของแพงก็ตาม ชาวอเมริกันก็ดูจะเบื่อนายโจเซฟ ไบเดน ประธานาธิบดีคนปัจจุบันและนางแฮร์ริส รองประธานาธิบดี โดยมองว่าไบเดนเป็นคนขี้หลงขี้ลืม บริหารบ้านเมืองไม่ถูกจุด มีแต่ความวุ่นวายและปัญหา จึงต้องการเห็นความเปลี่ยนแปลงและผู้นำที่เข้มแข็ง บารมีความนิยมต่อตัวนายทรัมป์ ยังส่งผลต่อการเลือกตั้งในสภาสูง (Senate) ด้วย ซึ่งพรรครีพับลิกันได้รับเลือกเป็นวุฒิสมาชิกมากขึ้นจนพลิกกลับจากที่เคยเป็นเสียงข้างน้อยในวุฒิสภา มาเป็นเสียงข้างมากที่ 53 : 47

ส่วนในสภาล่างหรือสภาผู้แทนราษฎร (House of Representatives) พรรครีพับลิกันก็ยังคงรักษาเสียงข้างมากไว้ได้แบบเฉียดฉิวที่ 221 : 214  ด้วยการชนะแบบเบ็ดเสร็จเช่นนี้ ประธานาธิบดีทรัมป์ จะมีพลังทางการเมืองด้วยฉันทานุมัติ (mandate) จากประชาชนที่จะสามารถผลักดันนโยบายที่เขาหาเสียงเอาไว้รวมทั้งกฎหมายสำคัญๆ ผ่านรัฐสภา (Congress) ได้อย่างสะดวกและบริหารประเทศแบบตัดสินใจได้รวดเร็วฉับไว ขณะเขียนบทความนี้ ทรัมป์กำลังคัดสรรบุคลากรมาเป็นรัฐมนตรีและผู้บริหารหน่วยงานสำคัญๆ ในการขับเคลื่อนนโยบาย โดยล่าสุดได้ประกาศจะแต่งตั้งนายลี เซลดิน (Lee Zeldin) อดีต ส.ส.พรรครีพับลิกันจากรัฐนิวยอร์ก ให้เป็นผู้อำนวยการใหญ่ขององค์กร Environmental Protection Agency: EPA) โดยจะมอบหมายให้รื้อปลดอุปสรรคกฎหรือระเบียบต่างๆ ของรัฐบาลกลาง เพื่อส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในการผลิตและใช้พลังงาน/เชื้อเพลิงจากฟอสซิล รวมถึงผ่อนปรนมาตรฐานการปล่อยไอเสียจากรถยนต์ที่เป็นปฏิปักษ์ต่อเครื่องยนต์สันดาปภายใน (internal combustion engine: ICE) สำหรับตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงานนั้น มีข่าวว่าอาจจะเป็นนายดั๊ก เบอร์กัม (Douglas Burgum) ผู้ว่าการรัฐ North Dakota ซึ่งมีพื้นเพเป็นนักธุรกิจและสนับสนุนนโยบายเพิ่มการสำรวจและผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติในรัฐของตน ยืดอายุโรงไฟฟ้าถ่านหิน และพัฒนาโรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์

นโยบายพลังงานของอเมริกาจะเปลี่ยนไปอย่างไรบ้าง? เมื่อทรัมป์มา

ทรัมป์ได้กล่าวไว้หลายๆ ครั้ง ในทุกๆ แห่งที่เขาไปหาเสียงเลือกตั้งตลอดระยะเวลาหนึ่งปีที่ผ่านมาว่า ตนต้องการให้สหรัฐอเมริกากลับมาพึ่งพาตนเองได้ในทางพลังงานอีกครั้ง (America must be Energy-Independent again) เขาจึงเห็นว่า จำเป็นที่ประเทศสหรัฐฯ จะต้องเพิ่มการขุดเจาะแสวงหาและพัฒนาแหล่งผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้น (Drill, Baby, Drill) ปลดเปลื้องกฎระเบียบด้านสิ่งแวดล้อมที่เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาเชื้อเพลิงฟอสซิล อนุญาตการอัดความดันเข้าสู่ชั้นหินอุ้มปิโตรเลียม (fracking) อนุมัติใบอนุญาตสำรวจปิโตรเลียมในทะเลและในพื้นที่สงวนของรัฐบาลกลาง อนุมัติการวางท่อขนส่งน้ำมันข้ามประเทศ เพื่อลดต้นทุนและเพิ่ม supply อันจะทำให้คนอเมริกันสามารถซื้อเชื้อเพลิงในราคาที่ลดลงจากปัจจุบัน รวมถึงจะอนุญาตโครงการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่รัฐบาลของไบเดนระงับเอาไว้

เปรียบเทียบนโยบายพลังงาน ระหว่าง ปธบ.ไบเดน กับ ปธบ.ทรัมป์

พลังงาน

ทรัมป์หาเสียงไว้ว่า จะลดราคาน้ำมันเชื้อเพลิงโดยการเพิ่มการผลิตปิโตรเลียมในประเทศ และเสนอแก้ไขกฎระเบียบต่างๆ เพื่อยุติความล่าช้าในการขอใบอนุญาต และให้สิทธิแก่เอกชนมาทำการสำรวจขุดเจาะในพื้นที่สงวนของรัฐบาลกลาง “เราจะ เจาะ เจาะ เจาะ ในทันที” แก้ไขข้อบัญญัติในด้านมาตรฐานสิ่งแวดล้อมในการผลิตพลังงาน การเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน และเขายังให้คำมั่นที่จะยกเลิกข้อจำกัดในการส่งออกก๊าซธรรมชาติของอเมริกาด้วย

ยานยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicles: EV)

ทรัมป์สัญญาว่า จะยกเลิกกฎควบคุมไอเสียจากรถยนต์สันดาปภายใน (ICE) ออกใหม่ของหน่วยงานคุ้มครองสิ่งแวดล้อม (EPA) ซึ่งภายใต้กฎหมาย Inflation Reduction Act ของไบเดน ต้องการกำหนดมาตรฐานไอเสียให้ลดลงจนแทบปล่อยไม่ได้เลย เพื่อที่จะทำให้ยานยนต์ไฟฟ้าขายได้มากขึ้น จนมีสัดส่วนมากถึง 2 ใน 3 ของรถยนต์ใหม่ที่ขายในสหรัฐฯ ภายในปี พ.ศ. 2575 (2032) “ในวันแรกของการทำงาน ผมจะยกเลิกคำสั่งด้านยานยนต์ไฟฟ้าของไบเดน และจะยกเลิกกฎเกณฑ์ที่ฆ่าล้างอาชีพทุกฉบับที่บดขยี้คนงานในอุตสาหกรรมรถยนต์ในอเมริกา” ทรัมป์กล่าวไว้ เพราะเขาต้องการให้เป็นทางเลือกของผู้บริโภคโดยสมัครใจว่าจะเปลี่ยนมาใช้รถ EV หรือไม่ และไม่ต้องการเห็นอุตสาหกรรมผลิตรถยนต์ ICE ที่มีการจ้างงานคนจำนวนมากต้องล่มสลาย นอกจากนี้ มีแนวโน้มที่ทรัมป์จะขึ้นภาษีนำเข้ารถ EV จากจีนให้สูงขึ้นอีกด้วย

ตารางต่อไปนี้ เปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงทางนโยบายพลังงานที่กำลังจะมีขึ้นในสหรัฐอเมริกา 

(2 )

นโยบาย(ยัง)ไม่เปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของทรัมป์จะกระทบต่อการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในเวทีโลกหรือไม่? อย่างไร?

ในเวที COP29 ของ UNFCCC ที่เมือง Baku ประเทศ Azerbaijan ที่กำลังมีขึ้นระหว่างวันที่ 11-22 พฤศจิกายน 2567 นี้ รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้นายไบเดนคงอยู่ในภาวะที่กระอักกระอ่วนใจ เพราะอยู่ในสภาพที่ไม่อาจจะมีบทบาทนำใดๆ ในการเสนอข้อผูกพันหรือแสดงเจตนารมณ์ หรือกำหนดเป้าหมายใหม่ๆ ในการแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศต่อประชาคมโลกให้เป็นที่เชื่อถือได้  เพราะยังไม่รู้เลยว่า ในปลายปีถัดไปสหรัฐอเมริกาจะยังเป็นภาคีอยู่ในความตกลงปารีส ค.ศ. 2015 ต่อไปหรือไม่?  เป้าหมายการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (NDC) ลง 50-52% (จากปีฐาน 2548 (2005)) ภายในปี พ.ศ. 2573 (2030) และเป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (net zero GHG emission) ภายในปี พ.ศ. 2593 (2050) ของ ปธบ.ไบเดน คงถูกเปลี่ยน หรือไม่ได้รับการสานต่อจาก ปธบ.ทรัมป์  ยิ่งหากรัฐบาลสหรัฐฯ จะเผชิญหน้าและกดดันจีน (ซึ่งเป็นประเทศที่ปล่อยก๊าซ CO2 มากเป็นอันดับหนึ่งของโลก ที่ 27%) มากขึ้นในเวทีการค้าและการเมืองระหว่างประเทศ  เวทีการประชุม COP / UNFCC ต่อจากนี้ ก็คงจะไม่มีความร่วมมือเด่นๆ หรือการแสดงเจตนารมณ์ใดๆ ที่เข้มข้นหรือท้าทายออกมาให้เห็น เพราะเมื่อสหรัฐฯ คือประเทศที่ปล่อยก๊าซ CO2 มากเป็นอันดับสองของโลกถึง 15% โดยตนก็เป็นประเทศที่มั่งคั่งที่สุดด้วย แต่ทว่าเมื่อสองประเทศที่ยิ่งใหญ่นี้จะไม่คุยหรือร่วมมือกัน   ความหวังในการควบคุมอุณหภูมิเฉลี่ยของโลกไม่ให้สูงเกิน 2 องศาเซลเซียส ก็คงจะเคว้งคว้างไปอย่างน้อยอีกสี่ปี

บทสรุป

นโยบายพลังงานของทรัมป์จะแตกต่างจากของไบเดนเป็นอย่างมาก โดยในช่วงเวลาสี่ปีจากนี้ไป (พ.ศ. 2568-2571) รัฐบาลสหรัฐอเมริกาจะให้ความสำคัญในเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน ราคาพลังงาน และการสร้างความเข้มแข็งและสร้างงานในประเทศให้แก่อุตสาหกรรมปิโตรเลียม ปิโตรเคมีและอุตสาหกรรมรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายในของอเมริกาเป็นหลัก มากกว่าการใส่ใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและปัญหาภาวะโลกร้อนกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ อเมริกาจะผลิตน้ำมันดิบและก๊าซธรรมชาติให้มากขึ้นเพื่อเพิ่ม supply และทำให้ราคาเชื้อเพลิงและไฟฟ้าถูกลง ปลดเปลื้องพันธนาการด้านกฎระเบียบต่างๆ ที่เป็นอุปสรรคหรือที่เพิ่มต้นทุนในการพัฒนาและใช้พลังงานจากฟอสซิล ดังนั้น จึงคาดหวังได้ว่า เมื่อผลิตปิโตรเลียมได้มากขึ้น สหรัฐฯ ก็จะนำเข้าน้ำมันน้อยลงจนถึงไม่นำเข้าเลย จะส่งออกก๊าซธรรมชาติ LNG ได้มากขึ้น ราคาพลังงานในตลาดโลกจึงคงจะทรงตัว ไม่สูงขึ้นกว่าในปัจจุบัน และหากทรัมป์ผลักดันให้สงครามรัสเซีย-ยูเครนจบลงได้อย่างสันติ เงื่อนไขการบอยคอตหรือแซงก์ชันการนำเข้าก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียสู่ยุโรปอาจได้รับการผ่อนปรน น้ำมันดิบของรัสเซียอาจออกสู่ตลาดโลกได้เพิ่มขึ้น ก็น่าจะทำให้มี supply เติมเข้ามาอีก จนมีผลให้ราคาน้ำมันดิบและ LNG อาจอ่อนตัวลงในช่วง 2-3 ปีต่อจากนี้ก็เป็นไปได้  ในด้านการส่งเสริมพลังงานทางเลือก อเมริกาน่าจะเลือกส่งเสริมเฉพาะสิ่งที่สามารถนำนวัตกรรมอเมริกันมาใช้ กับสิ่งที่ก่อให้เกิดงานในประเทศเป็นหลัก ได้แก่ โรงไฟฟ้าพลังงานนิวเคลียร์ และพลังงานจากแสงอาทิตย์ ขณะที่พลังงานลมและพลังงานจากไฮโดรเจน อาจถูกลดการให้เงินอุดหนุนหรือลดการส่งเสริมลงจากการงดให้เครดิตด้านภาษี  ด้านยานยนต์ไฟฟ้า จะไม่ได้รับการส่งเสริมมากนัก โดยปล่อยให้เป็นไปตามกลไกตลาดและความนิยมของผู้บริโภค

Advertisment