ซีอีโอ ปตท.เชื่อ โครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด เฟส3 อนุมัติได้ทันรัฐบาลนี้ ส่วน โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F)รอศาลปกครองกลางตัดสิน ชี้ทั้ง2โครงการสร้างประโยชน์ต่อประเทศในระยะยาว
นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร และกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท. เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่ 1)ที่กลุ่ม ปตท. โดยบริษัทลูก คือ บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด (พีทีที แทงค์) ได้ร่วมกับ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) ยื่นข้อเสนอการประมูลเพียงรายเดียวนั้น
ล่าสุดเรื่องของผลตอบแทนทางการเงินที่ทางภาคเอกชนต้องเจรจาทำข้อตกลงกับภาครัฐนั้น ได้ข้อยุติร่วมกันแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป ทาง การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จะนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี(ครม.)ในเร็วๆนี้ คาดว่ากระบวนการต่างๆน่าจะดำเนินได้ทันภายในวาระของรัฐบาลชุดปัจจุบัน
ส่วนโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) ที่กลุ่ม ปตท.ได้ยื่นประมูลในนาม กลุ่มกิจการร่วมค้า จีพีซี ประกอบด้วย บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน), บริษัท พีทีที แทงค์ เทอร์มินัล จำกัด และ China Harbour Engineering Company Limited นั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้มีการตั้งคณะกรรมการฯขึ้นมาพิจารณาข้อเรียกร้องของอีกกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับผลการประมูล ซึ่งคิดว่าไม่น่าจะมีอะไรเป็นอุปสรรค และขึ้นอยู่กับกระบวนการของภาครัฐ ที่ต้องดำเนินการไปตามกระบวนการ เพราะเรื่องดังกล่าวหากรีบดำเนินการไปโดยที่ยังมีข้อขัดแย้งอยู่ก็จะไม่ใช่เรื่องดี
นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า การเข้าลงทุนทั้ง 2 โครงการดังกล่าวจะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจในประเทศ เพราะหากโครงการ พัฒนาพื้นที่เศรษฐกิจภาคตะวันออก(อีอีซี) เกิดขึ้นได้ ประโยชน์ก็จะเกิดกับประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ความต้องการใช้ไฟฟ้า และก๊าซธรรมชาติเพิ่มขึ้น ความต้องการใช้คลังสินค้าปิโตรเคมีก็มากขึ้นด้วย แต่การลงทุนดังกล่าวเป็นแผนระยะยาว และเป็นการลงทุนโครงการด้านโครงสร้างพื้นฐานที่ต้องใช้เวลา
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า สำหรับโครงการแหลมฉบัง ระยะที่ 3 นั้นทางคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนฯ ได้พิจารณาซองที่ 4 เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ยังไม่ประกาศผล เนื่องจากต้องรอผลการพิจารณาของศาลปกครองกลางก่อน เพราะ กลุ่มกิจการร่วมค้า เอ็นพีซี ประกอบด้วยบริษัท นทลิน จำกัด, บริษัท แอสโซซิเอท อินฟินิตี้ จำกัด, บริษัท พีเอชเอส ออแกนิค ฮีลลิ่ง จำกัด, บริษัท พริมา มารีน จำกัด (มหาชน) และบริษัท ไชน่า เรลเวย์ คอนสตรัคชั่น คอร์ปอเรชั่น จำกัด ที่ถูกคณะกรรมการฯตัดสิทธิ์ เนื่องจากยื่นเอกสารเข้ามาไม่ครบตามมาตรฐาน ได้ยื่นฟ้องผู้ตรวจการแผ่นดินและศาลปกครองกลาง เพื่อขอความเป็นธรรม