ซีพีเอฟ ส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่ผลิตอาหาร  โดยคว้า 3 รางวัล Thailand Energy Award 2023 

217
- Advertisment-

 บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ เดินหน้าเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานหมุนเวียนตลอดห่วงโซ่ผลิตอาหาร โดยได้รับ 3 รางวัล Thailand Energy Award 2023 จาก “โครงการก๊าซชีวภาพจากมูลไก่สู่พลังงานทดแทน” ของฟาร์มคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จะนะ จ.สงขลา  และฟาร์มคอมเพล็กซ์ไก่ไข่วังทอง จ.พิษณุโลก  และ “โครงการพลังงานสะอาดจากระบบบำบัดน้ำเสีย” ของโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.นครราชสีมา โดยมีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล ณ โรงแรมรามาการ์เด้นส์ กรุงเทพ

นายสมคิด วรรณลุกขี ผู้อำนวยการใหญ่ ธุรกิจไก่ไข่ ซีพีเอฟ กล่าวว่า การที่ฟาร์มคอมเพล็กซ์ไก่ไข่ทั้งสองแห่งที่ได้รับรางวัลดังกล่าว เป็นการยืนยันถึงกระบวนการผลิตไข่ไก่มีการบริหารจัดการด้านพลังงานและมูลสัตว์จากฟาร์มได้อย่างมีประสิทธิภาพและครบวงจร ลดการพึ่งพาพลังงานจากภายนอก และ ซีพีเอฟกำลังพัฒนาฟาร์มไก่ไข่เป็น ฟาร์มที่ใช้พลังงานหมุนเวียน 100% (RE100 Layer Farm)

ปัจจุบัน ฟาร์มคอมเพล็กซ์ไก่ไข่จะนะ และวังทอง มีการติดตั้งระบบผลิตก๊าซชีวภาพจากมูลไก่และน้ำเสียแบบบ่อหมักไร้อากาศ (Anaerobic Covered Lagoon) เปลี่ยนมูลไก่เป็นพลังงานไฟฟ้าใช้ในการดำเนินงานภายในฟาร์มได้ประมาณร้อยละ 70-80 ของการใช้พลังงานในฟาร์มทั้งหมด ช่วยลดค่าใช้จ่ายการซื้อไฟฟ้าจากภายนอกได้ โดยผลการดำเนินงานโครงการก๊าซชีวภาพของฟาร์มทั้ง 2 แห่งสามารถผลิตเป็นพลังงานไฟฟ้าได้รวมปีละกว่า 10 ล้านกิโลวัตต์ต่อชั่วโมง เทียบเท่าการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก 4,725 ตันคาร์บอนไดออกไซด์  

- Advertisment -

สำหรับโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ จ.นครราชสีมา ที่ได้รางวัลใน “โครงการพลังงานสะอาดจากระบบบำบัดน้ำเสีย” นั้นโรงงานได้นำน้ำเสียจากกระบวนการแปรรูปเนื้อไก่ซึ่งประกอบด้วยไขมันจากสัตว์ จึงได้นำระบบไบโอแก๊สขั้นสูง (Continuous Stirred Tank Reactor: CSTR) ซึ่งเป็นเทคโนโลยีบำบัดน้ำเสียที่สามารถจัดการไขมันที่มีอยู่ในน้ำเสียได้อย่างมีประสิทธิภาพ มาเปลี่ยนน้ำเสียเป็นก๊าซชีวภาพและนำมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในหม้อต้มไอน้ำและสามารถทดแทนน้ำมันเตาได้ 610,170 ลิตรต่อปี ช่วยลดค่าใช้จ่ายจากพลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 2,482 ตันคาร์บอนไดออกไซด์เทียบเท่า 

นอกจากนี้ โรงงานแปรรูปเนื้อไก่ นครราชสีมา ยังมีการติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนอาคารโรงงาน (โซลาร์รูฟท็อป) เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้า ลดการใช้ไฟฟ้าจากสายส่ง และในปี 2567 เตรียมติดตั้ง “โซลาร์ลอยน้ำ”  (Floating Solar Farm) ซึ่งเป็นไปตามนโยบายของซีพีเอฟ ในการเพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนในห่วงโซ่การผลิตอาหาร เพื่อโลกที่น่าอยู่ในระยะยาว

Advertisment