ชุมชนผักไหม จ.ศรีสะเกษ กำลังจะพัฒนาไปสู่การเป็นชุมชนคาร์บอนต่ำ ซึ่งพึ่งพาตัวเองได้อย่างยั่งยืนในอนาคต จากผลผลิตเกษตรอินทรีย์ โดยหวังได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานเพิ่มเติมเพื่อให้มีการใช้ระบบโซลาร์เซลล์ช่วยลดต้นทุนการผลิต ครอบคลุมพื้นที่การเพาะปลูก
เมื่อวันที่ 2 กันยายน ที่ผ่านมา นายยงยุทธ ห่อทอง พลังงานจังหวัดศรีสะเกษ นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนบ้านสิงไคร ตำบลผักไหม อำเภอ ห้วยทับทัน จังหวัดศรีสะเกษ โดยมีตัวแทนชุมชน นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม และนายไพฑูรย์ ฝางคำ ตัวแทนเกษตรกร เป็นผู้บรรยายข้อมูลรายละเอียด
นาย ไพฑูรย์ ฝางคำ ตัวแทนวิสาหกิจกลุ่มแปรรูปข้าวตำบลผักไหม กล่าวว่า ปัจจุบันชุมชนผักไหม มีพื้นที่ทำการเกษตรอินทรีย์ของสมาชิกที่รวมกลุ่มกันเป็นวิสาหกิจ ประมาณ 1,800 ไร่ โดยพืชที่ปลูกแบบเกษตรอินทรีย์ที่ไม่ใช้สารเคมีและสร้างรายได้ให้กับสมาชิกคือ ข้าวหอมมะลิ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และกระเจี๊ยบ ที่มีลูกค้าเข้ามารับซื้อเพื่อแปรรูปเป็นผลผลิตซึ่งได้ราคาที่สูงกว่าราคาตลาดโดยทั่วไป
อย่างไรก็ตามในการทำเกษตรอินทรีย์ พื้นที่เพาะปลูกจะต้องมีความชุ่มชื้นอยู่ตลอดเวลาจึงจะให้ผลผลิตต่อไร่ที่ดี จำเป็นต้องมีการใช้เครื่องสูบน้ำเข้าพื้นที่ ซึ่งที่ผ่านมาเกษตรกรใช้เครื่องสูบน้ำที่ต้องเติมน้ำมัน ทำให้มีต้นทุนสูง แต่เมื่อได้รับการสนับสนุนระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์จากโครงการของกระทรวงพลังงาน จำนวน 7 ชุด ทำให้ลดต้นทุนลงได้อย่างมากและเป็นประโยชน์ต่อเกษตรกร ช่วยให้มีรายได้เพิ่มขึ้น โดยยังมีจุดที่ต้องการติดตั้งอีกประมาณ 21 จุดจึงจะครอบคลุมพื้นที่เพาะปลูกทั้งหมด
นายยงยุทธ ห่อทอง พลังงานจังหวัดศรีสะเกษ กล่าวว่า โครงการติดตั้งระบบสูบน้ำพลังงานแสงอาทิตย์เพื่อการเกษตร (บ่อบาดาล) แบบตั้งพื้น ของชุมชนผักไหมได้รับการสนับสนุนงบประมาณ ปี 2561-2565 จากกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน โดยติดตั้งระบบสูบน้ำฯ ขนาด 2,500 วัตต์ จำนวน 7 จุด วงเงิน 3,029,000 บาท เพื่อสูบน้ำจากบ่อบาดาล มาเก็บในแทงค์ขนาด 25,000 ลิตร หรือ 50,000 ลบ.ม และนำมาใช้ในแปลงเกษตรของชุมชนและบริเวณใกล้เคียง ซึ่งมีครัวเรือนได้รับประโยชน์กว่า 71 ครัวเรือน อีกทั้งยังมีส่วนช่วยลดภาระค่าไฟฟ้าได้เกือบ 1 แสนบาทต่อปี และสามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 8,155.22 kgCo2 ต่อปี
นางจันทรา หาญสุทธิชัย นายกองค์การบริหารส่วนตำบลผักไหม ที่ถือเป็นผู้นำชุมชนในภาคการเมืองที่ชนะการเลือกตั้งมาทุกสมัยและชนะใจคนในชุมชนด้วยผลงานการยกระดับความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น กล่าวว่า พื้นที่แปลงเกษตรในตำบลผักไหม ส่วนใหญ่ไม่มีไฟฟ้าใช้ ระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์จากธนาคารน้ำใต้ดิน แล้วปล่อยกระจายด้วยระบบท่อ ไปใช้ในฟาร์มและแปลงเกษตรกร สามารถช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรในช่วงฤดูแล้งได้เป็นอย่างดี ทำให้ดินมีความชุ่มชื้น พืชผลอุดมสมบูรณ์ได้ตลอดปี โดยชุมชนมีเป้าหมายที่จะติดตั้งระบบสูบน้ำด้วยโซลาร์เซลล์ให้ครอบคลุมทุกพื้นที่ทั้งหมด และมีความหวังว่าจะได้รับการสนับสนุนจากกระทรวงพลังงานเพิ่มเติมในอนาคต ในขณะที่วิสาหกิจชุมชนก็พยายามที่จะพึ่งพาตัวเองก่อนด้วยการนำรายได้จากการขายผลผลิตมาทยอยติดตั้งระบบสูบน้ำ
การยกระดับการเกษตรมาเป็นเกษตรอินทรีย์ทั้งหมด ซึ่งใช้เวลาตั้งแต่เริ่มต้นจนถึงปัจจุบันเป็นระยะเวลาเกือบ 30 ปี โดยได้รับการสนับสนุนทั้งทุนและความรู้ทางด้านวิชาการเพื่อให้ผลผลิตที่ได้ตรงตามมาตรฐานสากล ช่วยให้ผลผลิตเป็นที่ต้องการของตลาดต่างประเทศและเกษตรกรในชุมชนมีรายได้ต่อคนต่อหัวต่อปีเฉลี่ยประมาณ 120,000 บาท ซึ่งเป็นระดับรายได้ที่สูงกว่าขีดความยากจน ช่วยให้หนี้สินลดลง และมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นอย่างยั่งยืน
นาย ไพฑูรย์ ซึ่งถือเป็นเกษตรกรผู้บุกเบิกเรื่องเกษตรอินทรีย์ในชุมชนผักไหม มาตั้งแต่เริ่มต้น กล่าวเสริมต่อด้วยว่า ชุมชนผักไหม พยายามที่จะถ่ายทอดองค์ความรู้และภูมิปัญญาให้กับรุ่นลูกรุ่นหลาน ที่ออกไปเรียนและทำงานที่ต่างถิ่น ได้กลับมาพัฒนาพื้นที่การเกษตรและสร้างรายได้จากชุมชนของตัวเอง ซึ่งในอนาคตชุมชนผักไหม ที่เห็นผลสำเร็จแล้วจากเกษตรอินทรีย์ก็อยากที่จะยกระดับสู่การเป็นชุมชนที่ลดการปล่อยคาร์บอน ที่ยังต้องการองค์ความรู้และการสนับสนุนจากหน่วยงานรัฐและเอกชน