กรุงเทพฯ – 21 ตุลาคม 2565 – โครงงาน “ผลของวัสดุครอบต่อการกระตุ้นการสร้างท่อเข้ารังของชันโรงดินเพื่อการใช้ประโยชน์และการอนุรักษ์” ของโรงเรียนดำรงราษฎร์สงเคราะห์ จังหวัดเชียงราย ได้รับรางวัลชนะเลิศ Special Award for Prime Minister’s Science Award 2022 ระดับมัธยมศึกษาตอนต้น ซึ่งประยุกต์ใช้องค์ความรู้วิทยาศาสตร์ในการต่อยอดเกษตรอินทรีย์ในท้องถิ่น ช่วยให้ชุมชนเข้าถึงนวัตกรรมได้ง่ายและประหยัดค่าใช้จ่ายมากขึ้น สอดคล้องกับการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยมีนางสาวกาญจนา อุ่นอารมณ์ ผู้อำนวยการฝ่ายควบคุมและประกันคุณภาพ และศูนย์การวิเคราะห์เพื่อพัฒนาเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์จากกลุ่มบริษัท ดาว ประเทศไทย (Dow) มอบรางวัลทุนการศึกษาจำนวน 30,000 บาท ให้ทีมชนะเลิศในงานซึ่งจัดโดยกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) และองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ณ ห้องแสงเดือน แสงเทียน ชั้น 2 อาคารพิพิธภัณฑ์พระรามเก้า อพวช. คลองห้า ปทุมธานี
ชันโรงดิน (Tetragonilla collina) เป็นผึ้งจิ๋วที่ทำรังและอาศัยอยู่ในโพรงใต้ดิน โดยสร้างปากทางเข้ารังเป็นท่อกลมยาวจากยางไม้หรือยางชันที่มีสมบัติเป็นพรอพอลิสซึ่งสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้อย่างหลากหลาย โครงงานจึงได้ศึกษาผลของวัสดุที่นำมาใช้ครอบปากทางเข้ารังของชันโรงต่อการกระตุ้นการสร้างท่อเข้ารังของชันโรง ศึกษาและเปรียบเทียบสมบัติของยางชัน โดยใช้กระถางพลาสติกโปร่งแสง กระถางพลาสติกทึบแสง และกระถางดินเผาเป็นวัสดุครอบ พบว่ากระถางดินเผาที่มีขนาดเส้นผ่านศูนย์กลาง 3 เซนติเมตร ความสูงของกระถาง 20 เซนติเมตร มีความเหมาะสมที่สุดในการปกป้องชันโรง และให้ปริมาณพรอพอลิสมากที่สุด และยังพบว่าพรอพอลิสที่ได้มีคุณสมบัติการยับยั้งการเจริญเติบโตของเชื้อราเขียวมากกว่าท่อเข้ารังธรรมชาติ
พรอพอลิสจากธรรมชาติที่ได้สามารถนำไปใช้แทนแว็กซ์เคมีที่ใช้เคลือบผลส้มเพื่อเพิ่มความเงางาม จึงปลอดภัยกับผู้บริโภคมากขึ้น อีกทั้งยังช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายของเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งส่งผลต่อรายได้ในชุมชนและเป็นแนวทางการส่งเสริมการอนุรักษ์และใช้ประโยชน์จากชันโรงดินอย่างยั่งยืนตามแนวทางโมเดลเศรษฐกิจ BCG