“พลังงาน” ชี้แผน PDP 2024 ดึงเม็ดเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐานไฟฟ้ารวมกว่า 1 ล้านล้านบาท โดยเป็นการลงทุนช่วงก่อนปี พ.ศ. 2573 มากกว่า 650,000 ล้านบาท
นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์ที่นักลงทุนกังวลต่อร่างแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศฉบับใหม่ (PDP 2024) ว่าจะลดความสำคัญของโรงไฟฟ้าหลักจากฟอสซิลนั้น ในความเป็นจริงแล้ว ภาพรวมกิจกรรมการลงทุนในแผน PDP 2024 กระทรวงพลังงานได้เน้นให้เกิดการเลือกใช้เทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าที่สามารถรักษาระดับราคาค่าไฟฟ้าที่มีความเหมาะสมและมีเสถียรภาพในระยะยาว เนื่องจากค่าไฟฟ้าเป็นปัจจัยขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจที่สำคัญของประเทศ และแม้ว่าระดับค่าไฟฟ้าไม่ได้สูงขึ้น แต่ก็ไม่ได้ส่งผลให้กิจกรรมการลงทุนในภาคไฟฟ้าลดลงแต่อย่างใด เพราะมีการเพิ่มสัดส่วนการก่อสร้างระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนที่มีมูลค่าสูงกว่ากิจกรรมการลงทุนก่อสร้างโรงไฟฟ้าฟอสซิล ซึ่งมีข้อสนับสนุนจากข้อมูลการวิเคราะห์การลงทุนจากหน่วยงานด้านพลังงานในต่างประเทศที่ชี้ให้เห็นว่าการลงทุนด้านพลังงานหมุนเวียนจะทำให้เกิดเม็ดเงินลงทุนสูงกว่าด้านเชื้อเพลิงฟอสซิล
ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาตามแผน PDP ฉบับใหม่ ยังคงมีกิจกรรมการลงทุนในภาคไฟฟ้าตามแผน PDP อย่างต่อเนื่อง จากการลงทุนของโรงไฟฟ้าที่มีข้อผูกพันไว้แล้วและที่จะเปิดรับเพิ่มเติมตามแผนในช่วงก่อนปี พ.ศ. 2573 มากกว่า 650,000 ล้านบาทประกอบด้วย พลังงานหมุนเวียนประมาณ 13,300 MW คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 525,000 ล้านบาท และการลงทุนโรงไฟฟ้าฟอสซิลประมาณ 5,300 MW คิดเป็นมูลค่าการลงทุนประมาณ 125,000 ล้านบาท รวมทั้งการเข้ามาของ RE ที่มากขึ้นจะนำไปสู่โครงสร้างระบบไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์และธุรกิจไฟฟ้ารูปแบบใหม่ที่จะต้องควบคู่ไปกับการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้สามารถรองรับได้ ซึ่งก็จะมีอีกแผนคือแผนสมาร์ทกริดที่จะมารองรับการเปลี่ยนผ่านนี้ โดยมีแผนงานที่คิดเป็นเงินลงทุนตลอดทั้งแผนอีกประมาณ กว่า 400,000 ล้านบาท
ซึ่งแผนดังกล่าวยังได้ตอบโจทย์เรื่องความมั่นคงด้านพลังงานของประเทศ การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ และลดก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นไปตามทิศทางของโลกที่สนับสนุนการใช้พลังงานสะอาด ตามที่ประเทศไทยได้ประกาศเป้าหมายการลดคาร์บอนในระหว่างการประชุมรัฐภาคีกรอบอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (COP26) โดยมีเป้าหมายในการเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ในปี พ.ศ. 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี พ.ศ. 2608
อย่างไรก็ตาม แผนพีดีพี 2024 ที่จะประกาศใช้ได้กำหนดให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มขึ้นและเร็วขึ้น เพื่อให้ประเทศไทยสามารถบรรลุเป้าหมายดังกล่าวได้ โดยนอกจากสามารถลดการปล่อยคาร์บอนได้แล้ว การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ที่เพิ่มขึ้นยังช่วยให้ค่าไฟฟ้าของไทยมีราคาคงที่ไม่ผันผวนตามราคาเชื้อเพลิงตลาดโลกอีกด้วย
นอกจากการพิจารณาปัจจัยเรื่องของการใช้พลังงานหมุนเวียนในการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้น แผน PDP 2024 ยังจะต้องพิจารณาถึงปัจจัยสำคัญอื่นๆ ได้แก่ โอกาสการเกิดไฟฟ้าดับ โดยพิจารณาจากเกณฑ์ “LOLE” หรือดัชนีโอกาสเกิดไฟฟ้าดับ โดยมีมาตรฐานว่าไฟฟ้าจะดับได้ไม่เกิน 0.7 วันต่อปี หมายความว่าแม้จะส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น แต่กระทรวงพลังงานก็ยังคงให้ความสำคัญกับเรื่องเสถียรภาพของระบบไฟฟ้าด้วย โดยการผลิตไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติยังถือว่าเป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้าของประเทศ
สำหรับบทบาทของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) ยังคงมีบทบาทสำคัญในภาคการผลิตไฟฟ้าในฐานะระบบผลิตไฟฟ้าแบบกระจายศูนย์ (Distributed Generation :DG) ที่จะช่วยเสริมความมั่นคง ลดภาระการลงทุนในระบบไฟฟ้า และทำให้การใช้พลังงานในระบบไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ โดยในอนาคตภาครัฐก็ยังคงมีแนวทางในการส่งเสริมให้มีการผลิตไฟฟ้าในรูปแบบกระจายศูนย์ต่อไป แต่อาจจะต้องปรับแนวทางการผลิตไฟฟ้าให้สอดคล้องกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมของลูกค้า SPP เอง ที่มีแรงกดดันที่จะต้องลดการปล่อย CO2 ตามทิศทางโลกด้วยเช่นกัน โดยภาครัฐต้องส่งเสริม DG ที่เป็นพลังงานสะอาดผ่านนโยบายและกลไกหลากหลายรูปแบบ เช่น การส่งเสริมเทคโนโลยีการผลิตไฟฟ้าไมโครกริดจากพลังงานหมุนเวียน กลไกการรับซื้อพลังงานสีเขียว การรับซื้อไฟฟ้าแบบ Direct PPA การส่งเสริมเทคโนโลยีทางเลือกใหม่ๆ เป็นต้น