ชี้น้ำมันปาล์มเผาในโรงไฟฟ้าได้ไม่คุ้มเสีย

2214
- Advertisment-

วงในกฟผ.ชี้นำน้ำมันปาล์มเผาเป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าราชบุรีและบางปะกง เจตนาดี แต่ทำได้ยาก ไม่ทันใน 3 เดือน แถมประชาชนทั้งประเทศต้องแบกรับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นทั้งด้านเชื้อเพลิงและค่าขนส่ง เพื่อช่วยชาวสวนปาล์มแบบได้ไม่คุ้มเสีย

แหล่งข่าวจากการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เปิดเผยถึงนโยบายการนำน้ำมันปาล์ม (CPO) ไปใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้าราชบุรีและโรงไฟฟ้าบางปะกง เพื่อช่วยดูดซับน้ำมันปาล์มส่วนเกิน โดยรัฐบาลจะตั้งงบประมาณกลางมารับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น 500 ล้านบาท และ กฟผ.รับภาระอีก 500 ล้านบาท ว่า ในทางปฏิบัติน่าจะมีปัญหา เนื่องจากจะต้องมีการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อม (EIA) ใหม่ ที่ต้องใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน หรือมากกว่านั้น ขึ้นอยู่กับการอนุมัติของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ทั้งนี้เนื่องจาก EIA ที่มีอยู่เดิมในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังความร้อน (thermal plants) ของทั้งราชบุรีและบางปะกงนั้น ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยไม่ได้ระบุให้ใช้ก๊าซฯและน้ำมันปาล์ม

นอกจากนี้ ในด้านเทคนิคยังจะต้องมีการปรับปรุงอุปกรณ์ Boilers ให้รองรับการใช้น้ำมันปาล์ม เช่นเดียวกับที่โรงไฟฟ้ากระบี่เคยดำเนินการ โดยใช้เงินลงทุนปรับปรุงอุปกรณ์ไปประมาณ 50 ล้านบาท

- Advertisment -

ในขณะที่การขนส่งน้ำมันปาล์มจากภาคใต้  จากชุมพร กระบี่ สุราษฎร์ธานี มาที่โรงไฟฟ้าราชบุรี โดยทางรถขนส่งมีระยะทางไม่น้อยกว่า 400 กม. และโรงไฟฟ้าบางปะกง โดยรถขนส่งระยะทาง 522 กม ซึ่งจะต้องมีต้นทุนค่าขนส่งเพิ่มขึ้นอีก เมื่อเทียบกับการใช้น้ำมันปาล์มเป็นเชื้อเพลิงที่โรงไฟฟ้ากระบี่

อย่างไรก็ตาม ในครั้งที่มีการนำน้ำมันปาล์มมาใช้เป็นเชื้อเพลิงในโรงไฟฟ้ากระบี่ เมื่อปี 2558 ทาง กฟผ.ได้มีการสรุปผลมาตรการดังกล่าวด้วย ว่า เป็นแนวทางที่ทำให้เกิดผลได้ไม่คุ้มกับผลเสีย เนื่องจากต้นทุนการผลิตไฟฟ้าจากน้ำมันปาล์มสูงถึง 8.42 บาทต่อหน่วย เมื่อเทียบกับน้ำมันเตาที่ปัจจุบันโรงไฟฟ้ากระบี่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักอยู่ 3.78 บาทต่อหน่วย นอกจากนี้ยังก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมสูงกว่า

มีการคำนวณให้เห็นว่า ภาระที่รัฐบาลและ กฟผ.ช่วยกันแบกรับประมาณ 1,000 ล้านบาท เมื่อเทียบกับการช่วยดูดซับปริมาณน้ำมันปาล์มได้ 1.6 แสนตันในช่วง 3 เดือน จนทำให้ปริมาณน้ำมันปาล์มกลับมาสู่ภาวะสมดุลที่ 2.5 แสนตันต่อปี และโดยคาดว่าจะช่วยดึงราคาปาล์มของเกษตรกรขึ้นมาได้เพิ่มกิโลกรัมละ 50 สตางค์นั้น ถือเป็นการลงทุนที่ไม่คุ้มค่า และภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในที่สุดก็จะถูกผลักไปให้ประชาชนทั้งหมดร่วมกันรับภาระ เหมือนเป็นการให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า แบกรับภาระให้ชาวสวนปาล์ม

Advertisment