ชง กบน.เดือน ก.ย.นี้อนุมัติกู้เงิน 2 หมื่นล้านเติมสภาพคล่อง​กองทุนน้ำมันฯ

418
N2032
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ร่างแผนเตรียมกู้เงินไม่เกิน 20,000 ล้านบาท เสนอขออนุมัติกรอบหลักการจาก คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในเดือน ก.ย. 2564 นี้ เหตุราคา LPG พุ่งสูงต่อเนื่องทั้งปี ทำเงินกองทุนฯไหลออก 1,700 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลให้ปัจจุบันเงินเหลือเพียง13,000 ล้านบาท ใช้อุดหนุนราคาได้อีกแค่ 8 เดือน

แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) อยู่ระหว่างจัดทำแนวทางขอกู้เงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง สำหรับเสนอขออนุมัติหลักการกู้เงินจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ในเดือน ก.ย. 2564 นี้ ในวงเงินไม่เกินกรอบ 20,000 ล้านบาท เนื่องจากปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เหลือเงินสุทธิเพียง 13,000 ล้านบาท ที่จะสามารถดูแลราคาน้ำมันและก๊าซหุงต้ม(LPG) ได้อีกเพียง 7-8 เดือนจากนี้เท่านั้น จากเดิมที่คาดว่าจะดูแลราคาพลังงานได้ถึง 10 เดือน

ทั้งนี้เนื่องจากราคาน้ำมันโลกและราคา LPG โลกทรงตัวระดับสูงต่อเนื่อง โดยเฉพาะ LPG เฉลี่ยทั้งปี 2564 ปรับสูงถึงกว่า 600 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน สูงกว่าปกติที่เฉลี่ยประมาณ 300-400 เหรียญสหรัฐฯต่อตัน เนื่องจากสภาพอากาศโลกเปลี่ยนแปลงทำให้มีการใช้มากขึ้นและราคาสูงขึ้นตาม นอกจากนี้โลกกำลังจะเข้าสู่ฤดูหนาวอีกครั้ง ยิ่งส่งผลให้ราคา LPG โลกพุ่งสูงขึ้น และไม่ปรับลดลงต่ำกว่า 600 เหรียญสหรัฐฯต่อตันอย่างแน่นอน

- Advertisment -

ดังนั้นกองทุนฯต้องนำเงินไปอุดหนุนราคา LPG ในประเทศเพิ่มขึ้น ขณะที่ราคาน้ำมันโลกก็ยังทรงตัวสูงในระดับ 70 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล รวมถึงเอทานอลและน้ำมันปาล์มบริสุทธิ์ หรือ ไบโอดีเซล ก็มีราคาสูงเช่นกัน จึงทำให้กองทุนฯ มีเงินไหลออกเพิ่มขึ้นจาก 1,400 ล้านบาทต่อเดือน เป็น 1,600-1,700 ล้านบาทต่อเดือน

อย่างไรก็ตามเพื่อให้กองทุนฯมีเงินใช้ดูแลราคาพลังงานได้ต่อเนื่อง จึงจำเป็นต้องเริ่มกระบวนการกู้เงินตั้งแต่เดือน ก.ย. 2564 นี้ เพราะกระบวนการกู้เงินต้องใช้เวลาอย่างน้อย 7 เดือนจึงจะเสร็จสิ้น

นอกจากนี้ สกนช. จะขอขยายกรอบวงเงินดูแลราคา LPG เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 2,000 ล้านบาท ซึ่งจะทำให้มีกรอบวงเงินรวม 20,000 ล้านบาท จากเดิม กบน.กำหนดกรอบไว้ที่ 18,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้ใช้ไปแล้ว 16,000 ล้านบาท โดยวงเงิน 18,000 ล้านบาทดังกล่าวคาดว่าจะดูแลราคา LPG ให้จำหน่ายที่ราคา 318 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม ได้จนสิ้นสุดมาตรการพยุงราคา LPG ในวันที่ 30 ก.ย. 2564 ที่จะถึงนี้ได้

แต่หากคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) จะต่ออายุมาตรการช่วยเหลือราคา LPG ที่ 318 บาทต่อไปอีก 3 เดือน หรือแม้จะใช้มาตรการปรับขึ้นราคา LPG ไตรมาสละ 1 บาทต่อกิโลกรัมก็ตาม กองทุนฯ ก็ยังจำเป็นต้องขอขยายกรอบวงเงินเพื่อมาดูแลราคา LPG ดังกล่าวต่อไปเช่นกัน แต่การปรับขึ้นราคา LPG บางส่วนจะช่วยลดภาระกองทุนฯ ลงได้บ้าง หรือลดลงประมาณ 300 ล้านบาทต่อเดือนได้

สำหรับในปี 2565 สกนช. จำเป็นต้องเสนอ กบน. พิจารณาในเรื่องการสร้างสมดุลให้กองทุนน้ำมันฯ ลดปริมาณเงินไหลออกจากกองทุนฯ โดยอาจต้องปรับลดการอุดหนุนทั้งน้ำมันและLPG ลง ซึ่งอาจมีผลให้เกิดการปรับขึ้นราคาน้ำมันและLPG บางส่วน แต่ทั้งนี้ต้องขึ้นอยู่กับสถานการณ์ของประเทศที่เกิดขึ้นจริงด้วยว่าจะสามารถดำเนินการได้หรือไม่ แต่หากไม่ปรับลดภาระกองทุนฯลงบ้างจะส่งผลให้เงินไหลออกไม่หยุดและทำให้ภาระการกู้เงินสูงขึ้นได้ ซึ่งตามกฎหมาย สกนช.ขอกู้เงินได้ครั้งละไม่เกิน 20,000 ล้านบาท และกองทุนฯจะต้องมีเงินรวมไม่เกิน 40,000 ล้านบาท

ส่วนที่กฎหมายกำหนดให้กองทุนฯต้องยกเลิกการอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพภายใน ก.ย. 2565 นั้น สกนช.เห็นว่ายังเหลือเวลาอีก 1 ปีที่จะดำเนินการได้ ดังนั้นในปี 2564 นี้จะยังไม่ขอ กบน. ขยายระยะเวลาสำหรับการยกเลิกอุดหนุนราคาเชื้อเพลิงชีวภาพ แต่ในปี 2565 หากดำเนินการไม่ทันอาจจะขอยืดเวลาไปอีก 2 ปี ซึ่งตามกฎหมายกำหนดให้ขอขยายเวลาออกไปได้ 2 ครั้ง ครั้งละไม่เกิน 2 ปี เท่านั้น

Advertisment