คณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) นัด ประชุมวันที่ 30 ส.ค. 2562 พิจารณา วาระการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) 1.5 ล้านตันต่อปี คาดมีความชัดเจนว่าจะให้เดินหน้าต่อโดยให้มีการลงนามกับผู้เสนอราคาต่ำสุดคือ PETRONAS LNG Limited ของมาเลเซีย ได้หรือไม่ ในขณะที่ กบง.ยุค “ศิริ จิระพงษ์พันธ์ ” เมื่อ 27 พ.ค.2562 รับทราบรายงาน ทั้งปตท.และกฟผ. สามารถร่วมกันบริหารจัดการปัญหา Take or Pay ที่อาจจะเกิดขึ้นในปี2563และ2564 ได้
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันที่ 30 ส.ค. 2562 จะมีการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) มีนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน โดยหนึ่งในวาระสำคัญ คือการ พิจารณาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) 1.5 ล้านตันต่อปี ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ว่าจะอนุมัติให้ กฟผ.ลงนามในสัญญากับผู้ที่เสนอราคาต่ำสุด คือ PETRONAS LNG Limited ของมาเลเซีย หรือ จะให้ยกเลิกการประมูล หลังจากที่เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2562 ที่ผ่านมา ทางนายสนธิรัตน์ ได้เรียกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้ง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) ปตท. และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) มาหารือในประเด็นที่ยังมีข้อกังวลคือ ปัญหาเรื่อง Take or Pay (ไม่รับก๊าซตามปริมาณที่ตกลงก็ต้องจ่ายเงินล่วงหน้าเต็มจำนวน ) ในสัญญาก๊าซเดิมที่กฟผ. ทำสัญญาไว้กับ ปตท. และ ที่ ปตท.ทำสัญญาระยะยาวไว้กับผู้จัดหาLNG
ทั้งนี้ ในการประชุม กบง.เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา ในช่วงที่ นายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานและประธานกบง. ได้มีการพิจารณาวาระการนำเข้าLNG ปริมาณไม่เกิน1.5ล้านตันต่อปี ของกฟผ. โดยที่ประชุม ได้รับทราบรายงานความคืบหน้าผลการดำเนินงานในการบริหารจัดการก๊าซธรรมชาติเพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay ของสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้มีมติรับทราบความคืบหน้ารายงานการเจรจาระหว่างกฟผ.และปตท. ภายใต้การกำกับของสำนักงาน กกพ. และมอบหมายให้ กฟผ. และ ปตท. ไปจัดทำข้อตกลงในการนำเข้า กำกับ และบริหารจัดการการนำเข้า LNG เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay จากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. รวมทั้งให้เจรจาสัญญา Global DCQ ให้สอดคล้องกัน ที่จะไม่ให้เกิดภาวะการขาดแคลน LNG ในอนาคต โดยอยู่ภายในระยะเวลาการเริ่มต้นใช้ LNG Terminal ของ กฟผ. และดำเนินการให้แล้วเสร็จภายในกรอบระยะเวลาตามข้อเสนอในสัญญาการนำเข้า LNG ของ กฟผ. (ภายในวันที่ 15 กันยายน 2562)
โดยในการประชุมกบง.เมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2562 ผู้แทนของกฟผ. ได้รายงานที่ประชุมว่า กฟผ. และ ปตท. ได้ข้อสรุปร่วมกันว่า ในปี 2563 กฟผ. กับ ปตท. สามารถที่จะบริหารร่วมกันเพื่อไม่ให้เกิดปัญหา Take or Pay ได้ และในปี 2564 หากมี ซัพพลายเพิ่มขึ้นในปริมาณ 100 พันล้านบีทียู ก็สามารถจะบริหารร่วมกันได้เพื่อไม่ให้เกิดภาระ Take or Pay รวมถึงได้หารือเรื่องโครงสร้างของสัญญา Global DCQ โดยมีความเห็นร่วมกันว่า ในสัญญา Global DCQ ที่มีอายุสัญญา 10 ปี สามารถทบทวนปริมาณ LNG ได้ทุกๆ 5 ปี
ในขณะที่นายพัฒนา แสงศรีโรจน์ รองผู้ว่าการยุทธศาสตร์ ในฐานะโฆษกการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ออกมาชี้แจง เช่นเดียวกันว่า การนำเข้าแอลเอ็นจีไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี สามารถที่จะได้ผู้เสนอราคาแอลเอ็นจีที่มีราคาถูกกว่าราคาต่ำสุดของสัญญาจัดหาระยะยาวของประเทศ ที่มีอยู่ ในขณะนี้ และหากนำไปเฉลี่ยรวมกับก๊าซธรรมชาติจาก อ่าวไทยและเมียนมา ก็จะมีราคาที่ถูกลง กว่าที่ใช้ในระบบปัจจุบัน
ในขณะที่ปัญหาค่าปรับตามสัญญาที่ไม่ใช้ก็ต้องจ่าย หรือ Take or Pay นั้น กฟผ. ก็มั่นใจว่าจะไม่เกิดปัญหา โดยสัญญาซื้อขายแอลเอ็นจีของ กฟผ. มีความยืดหยุ่นที่ สามารถปรับลดปริมาณการนำเข้า โดยกำหนดปริมาณไว้ระหว่าง 0.8 -1.5 ล้านตันต่อปี อีกทั้ง กฟผ. ได้เจรจากับบริษัทคู่สัญญาให้ดำเนินการขายแอลเอ็นจีส่วนที่ไม่ได้ใช้ให้กับรายอื่นแทน กฟผ. ต่อไปได้
ด้านนายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า การประชุมกบง.ในวันที่ 30 ส.ค. 2562 นี้ จะมีการทบทวนเรื่องการนำเข้า LNG ของกฟผ.หรือไม่นั้น ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ แต่ยืนยันว่าเรื่องดังกล่าวจะมีข้อสรุปโดยเร็วและคำนึงถึงนโยบายที่ไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้าภาคประชาชน และแผนงานที่ประเทศไทยจะเป็นศูนย์กลางจำหน่าย LNG ในภูมิภาค
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC ) รายงานว่า ตามแผนเดิม กฟผ.คาดว่าจะสามารถลงนามในสัญญากับ PETRONAS LNG Limited ได้ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมาและเริ่มนำเข้าล็อตแรก ตั้งแต่เดือนก.ย.จนถึงสิ้นปี2562 ใน ปริมาณ2.8 แสนตัน และในปี2563ต่อเนื่องไปจนถึงปี2568 จะนำเข้าในปริมาณไม่เกิน 1.5 ล้านตันต่อปี โดยมีการประเมินมูลค่าการนำเข้าLNG ของกฟผ. ตลอดอายุสัญญาว่าน่าจะเกิน1แสนล้านบาท