ชงเผือกร้อน LNG 1.5ล้านตันต่อปี ของกฟผ.ให้ “สนธิรัตน์”ตัดสินเดินหน้าหรือล้มประมูล

695
- Advertisment-

สนพ.เตรียมเสนอ “สนธิรัตน์” ตัดสินใจเดินหน้าให้ กฟผ.ลงนามในสัญญา กับ เปโตรนาส แอลเอ็นจี ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุดในการจัดหา ก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ให้กับกฟผ.ในปริมาณไม่เกิน 1.5ล้านตันต่อปี หรือจะ ให้ล้มการประมูล  หลังมีการเปรียบเทียบข้อมูลแล้วพบว่า ราคาLNG ที่ประมูลได้ ต่ำกว่า สัญญาLNGระยะยาวที่ปตท.จัดหา ในขณะที่การนำเข้า ตั้งแต่ปี2564 จะไม่มีปัญหา Take or Pay (รับก๊าซไม่ได้ตามปริมาณที่กำหนดแต่ต้องจ่ายค่าก๊าซล่วงหน้าเต็มตามจำนวน) ระหว่าง ปตท.และกฟผ.

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) ในฐานะเลขานุการคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) อยู่ระหว่างการสรุปประเด็นข้อเท็จจริง เกี่ยวกับการจัดหาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) ของกฟผ.ในปริมาณ1.5ล้านตันต่อปี เพื่อนำเสนอให้ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานคนใหม่ พิจารณาว่าจะตัดสินใจ เรื่องดังกล่าวอย่างไร  โดยการตัดสินใจเดินหน้าต่อ เพื่อให้ กฟผ.ลงนามในสัญญา กับทาง เปโตรนาส แอลเอ็นจี จากมาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้เสนอราคาต่ำสุด ในบรรดาผู้เสนอแข่งขันราคาทั้งหมด 12ราย  หรือจะให้มีการยกเลิก การประมูล  ทางนายสนธิรัตน์ จะต้องนำเสนอ ต่อ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน พิจารณา

แหล่งข่าว กล่าวว่า ราคาLNG ที่ เปโตรนาส แอลเอ็นจี เสนอมานั้น เมื่อ สนพ.นำไปเทียบกับ ราคาLNG ที่ปตท.นำเข้าในสัญญาระยะยาว พบว่า มีราคาเฉลี่ย ที่ต่ำกว่า  ในขณะที่ ปัญหาเรื่องTake or Pay ระหว่าง กฟผ.  กับปตท. ที่มีสัญญาเป็นผู้ซัพพลายก๊าซให้กับโรงไฟฟ้าของกฟผ.อยู่เดิมนั้น  สนพ.ให้ความเห็นว่า หาก นำเข้าก๊าซมาในปี 2562-2563 อาจจะมีปัญหาTake or Payได้ กรณีที่ความต้องการใช้ก๊าซไม่เติบโตตามที่คาดการณ์ แต่ถ้า กฟผ. สามารถเจรจากับ เปโตรนาส แอลเอ็นจี เพื่อลดปริมาณนำเข้าในปีดังกล่าว และค่อยมาเพิ่มปริมาณในปี2564เป็นต้นไป ก็จะไม่มีปัญหา

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า ในมติที่ประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน(กบง.) ล่าสุดเมื่อวันที่ 16 พ.ค. 2562 ที่มีนายศิริ จิระพงษ์พันธ์ เป็นประธาน ในช่วงที่ยังดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีพลังงาน นั้น ได้มีมติ  เกี่ยวกับการนำเข้าLNGของ กฟผ. ที่กฟผ.ได้มีหนังสือ  ลงวันที่ 8 พ.ค. 2562 ขอให้ สนพ. ในฐานะฝ่ายเลขานุการ กบง.พิจารณาเทียบราคาLNG ที่กฟผ.จัดหา ว่าเป็นราคาที่ต่ำกว่า กับ สัญญาLNG ระยะยาวที่ปตท.จัดหาหรือไม่ เพื่อให้เข้าหลักเกณฑ์ ตามที่ กบง.เคยมีมติเอาไว้เมื่อ เดือนก.ค.2561

ซึ่ง ทาง สนพ. ได้นำเสนอผลการตรวจสอบให้ที่ประชุม กบง. พิจารณาโดย มีการเปรียบเทียบราคา LNG ตามสูตรราคาของ กฟผ. กับสูตรราคาในแต่ละสัญญาของ ปตท. โดยพบว่า ราคา LNG ตามสูตรของ กฟผ. ต่ำกว่าราคาตามสูตรของ ปตท. ในทุกสัญญา  (ใช้สมมติฐานราคา Japan Crude Cocktail (JCC) เฉลี่ยเดือนธ.ค. 2561 ม.ค. และก.ค. 2562 สำหรับคำนวณราคา LNG ในสัญญา กฟผ. Shell BP และ Petronas เท่ากับ 65.57 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และ Qatargas ใช้ราคา JCC เฉลี่ยเดือนม.ค. – มี.ค. 2562 เท่ากับ 63.48 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล และราคา Henry Hub ณ วันที่ 14 พ.ค. 2562 เท่ากับ 2.661 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู )

นอกจากนี้ยังได้นำเสนอผลกระทบที่อาจเกิดภาระ Take or Pay จากการนำเข้า LNG ของ กฟผ. โดยพิจารณาจากแผนการจัดหาก๊าซธรรมชาติ ซึ่งพบว่า ในปี 2562 – 2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติจะอยู่ในสภาวะสมดุลกับการจัดหาก๊าซฯขั้นต่ำที่มีสัญญาแล้ว และจะนำเข้า LNG เพิ่มเติมจากสัญญาการจัดหา LNG ได้ในปี 2564 เป็นต้นไป  แต่หากในปี 2562 – 2563 ความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริงต่ำกว่าแผนที่คาดการณ์ไว้ก็จะทำให้เกิดอุปทานส่วนเกินและก่อให้เกิดปัญหา Take or Pay  จึงได้เสนอให้ กฟผ. ไปเจรจากับ ปตท. ในการปรับลดปริมาณ LNG ของ กฟผ. ตามสัญญา Global DCQ และให้ กฟผ. บริหารจัดการลูกค้า LNG ของตนเองให้เกิดความเหมาะสม ภายใต้มาตรการเปิดให้ใช้หรือเชื่อมต่อระบบส่งก๊าซธรรมชาติและสถานีแอลเอ็นจีแก่บุคคลที่สาม(TPA Code)

ผู้สื่อข่าว รายงานด้วยว่า  การประมูลLNG 1.5ล้านตันต่อปี ของกฟผ. ในยุคที่นายศิริ เป็นรัฐมนตรีพลังงาน เป็นที่วิพากษ์วิจารณ์กันว่า ปตท.ถูกฝ่ายนโยบายกีดกันไม่ให้นำราคาที่เคยตกลงไว้ในแหล่งโมซัมบิก ที่ปตท.สผ.เข้าไปร่วมลงทุน ซึ่งเป็นราคาLNG ที่ปตท.คิดว่าต่ำที่สุด เข้าแข่งขันในการประมูลครั้งนี้ จนเป็นเหตุให้ ปตท. ประมูลแพ้  เปโตรนาส แอลเอ็นจี

ทั้งนี้มีการประเมินกันด้วยว่า ดีลการนำเข้าLNG 1.5ล้านตันต่อปี ของกฟผ.ครั้งนี้ มีมูลค่าตลอดอายุสัญญารวมแล้วสูงกว่า 1แสนล้านบาท

Advertisment