ชง กพช.อนุมัติแผนพลังงานชาติ เตรียมเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่

1786
- Advertisment-

กระทรวงพลังงาน เตรียมเสนอที่ประชุม กพช. อนุมัติ กรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ตั้งเป้าลดปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ให้มากขึ้น ซึ่งจะทำให้การจัดทำPDP2022 ต้องยกเลิกโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ที่ภาคตะวันออกและภาคใต้ทั้งหมด

นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) อยู่ระหว่างจัดทำแผนพลังงานแห่งชาติ (National Energy Plan) ซึ่งคาดว่า จะนำเสนอกรอบนโยบายการจัดทำแผน ต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธาน พิจารณาอนุมัติได้ ภายในเดือน ก.ค.64 นี้ จากนั้น จะนำมาจัดทำรายละเอียดในแผนปฏิบัติการ 5 แผนฯ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในทุกภาคส่วน เช่น สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) และสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยต่อไป โดยคาดว่า จะประกาศใช้แผนพลังงานแห่งชาติได้ในช่วงเดือน ก.ย.นี้

สำหรับรายละเอียดในแผนพลังงานแห่งชาติ เบื้องต้น จะมีการกำหนดเป้าหมายในการลดปล่อยก๊าซเรือนกระจก ให้สอดรับกับทิศทางของประเทศมหาอำนาจต่างๆ เช่น สหรัฐอเมริกา อียู จีน เพื่อไม่ให้มีการใช้พลังงานสะอาดมาเป็นข้ออ้างตั้งกำแพงภาษีสำหรับสินค้าที่ส่งออกไปยังกลุ่มประเทศดังกล่าว

- Advertisment -

ทั้งนี้ในนโยบายด้านไฟฟ้าที่สอดคล้องกับแผนพลังงานชาติ จะกำหนดให้โรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างใหม่นับจากนี้ไป จะต้องไม่เป็นเชื้อเพลิงถ่านหิน ยกเว้นโรงไฟฟ้าถ่านหินแม่เมาะ(ทดแทนเครื่องที่8-9) กำลังผลิตตามสัญญา 600 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) จะเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงสุดท้ายที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบ

โดย โรงไฟฟ้าที่จะเข้าระบบจากนี้ไป จะต้องเป็นเชื้อเพลิงสะอาดเท่านั้น โดยหากเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ก็ต้องเป็น ก๊าซธรรมชาติ

นอกจากนี้ ยังจะต้องเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนมากขึ้น ทั้งโรงไฟฟ้าชีวมวล ชีวภาพ โซลาร์ฟาร์ม ขยะ และการรับซื้อไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว เป็นต้น รวมทั้งการส่งเสริมการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (อีวี)​

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC )​ รายงานว่า
ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561 – 2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 (PDP 2018 Rev.1) ที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน กำหนดสัดส่วนเชื้อเพลิงที่มาจากก๊าซธรรมชาติ อยู่ที่ 55% และถ่านหิน อยู่ที่ 18%
โดยในแผนดังกล่าวในภาคตะวันออกจะมีการสร้างโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เข้าระบบในปี 2576และ2580 ในปริมาณ1, 700 เมกะวัตต์ เช่นเดียวกับภาคใต้ที่จะมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่ใช้ถ่านหินหรือก๊าซธรรมชาติ เข้าระบบในปี 2577และ2578 ในปริมาณ1, 700 เมกะวัตต์ ดังนั้นหากกรอบแผนพลังงานแห่งชาติ ผ่านความเห็น​ชอบ​จาก กพช. จะทำให้ การจัดทำแผนPDP 2022 ที่จะมาใช้แทน PDP 2018 Rev.1 ต้องมีการตัดส่วนที่เป็นโรงไฟฟ้าถ่านหินโรงใหม่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ออกไปทั้งหมด และสัดส่วนถ่านหินจะต่ำกว่า 18%

**ข้อมูลการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​จากโรงไฟฟ้าตามแผน PDP 2018 Rev.1

Advertisment