กระทรวงพลังงานเตรียมเสนอคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ในเดือน พ.ย.2563 นี้เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์รับซื้อไฟฟ้าภายใต้โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานรากใหม่ ทำให้ต้องเลื่อนกำหนดเปิดโครงการอีกรอบไปเป็นเดือน ม.ค. 2564 โดยหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่แบ่งประเภทเป็นQuick win แต่อาจใช้วิธีประมูล พร้อมให้วางแบงค์การันตีกับทั้งภาครัฐเพื่อป้องกันการดัมพ์ราคาประมูล และกับชุมชน 5-6 พันบาทต่อไร่ ป้องกันการทิ้งโครงการ
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาวน์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนเพื่อเศรษฐกิจฐานราก ว่า การกำหนดหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนใหม่จะแล้วเสร็จในสิ้นเดือน ต.ค. 2563 นี้ โดยเบื้องต้นมีแนวโน้มจะใช้วิธีการประมูล เพื่อให้แน่ใจว่าผู้ประกอบการจะแข่งขันกันให้โครงการเกิดขึ้นได้จริง
ด้าน นายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ อธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กล่าวเพิ่มเติมว่า โครงการโรงไฟฟ้าชุมชนฯอาจต้องเลื่อนประกาศรับซื้อไฟฟ้า จากภายในสิ้นปีนี้ เป็นเดือน ม.ค. 2564 แทน เนื่องจากจะต้องเสนอหลักเกณฑ์ใหม่ให้ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ(กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ซึ่งจะประชุมในเดือนพ.ย. 2563 นี้พิจารณา เพื่อแก้ไขหลักเกณฑ์เดิมที่ กพช.เคยมีมติ เมื่อวันที่ 19 มี.ค. 2563 จากนั้นคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ก็จะออกระเบียบการรับซื้อไฟฟ้า และเปิดประชาพิจารณ์ ซึ่งต้องใช้เวลาถึง 15 วัน
สำหรับหลักเกณฑ์โรงไฟฟ้าชุมชนที่ปรับปรุงใหม่นั้น จะไม่มีการแบ่งประเภทเป็นแบบ Quick win และประเภททั่วไป แต่ยังคงกำหนดให้ชุมชนได้สัดส่วนการถือหุ้นไม่ต่ำกว่า10% ของเงินลงทุน และยังคงให้ใช้กรอบราคารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนที่แท้จริง (Feed in Tariff -FiT )เดิม ทั้งนี้หากใช้วิธีการประมูลจะทำให้เกิดการแข่งขันและราคา FiTอาจลดลงได้ และไม่เป็นภาระค่าไฟฟ้ากับประชาชนมากนัก
อย่างไรก็ตามขณะนี้กำลังพิจารณาว่าจะใช้วิธีการประมูลเข้าร่วมโครงการหรือไม่ ซึ่งหากใช้วิธีการประมูล ก็จะต้องพิจารณาว่าจะแยกประมูลตามประเภทเชื้อเพลิงระหว่างกลุ่มชีวมวลและก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงาน หรือไม่ เนื่องจากทั้งสองกลุ่มมีการใช้เทคโนโลยีที่แตกต่างกัน แต่ที่สำคัญจะต้องพิจารณาบทลงโทษป้องกันกรณีผู้ประประกอบการดัมพ์ราคาประมูล โดยอาจให้วางแบงค์การันตีกับภาครัฐ ซึ่งกำลังพิจารณาว่าจะกำหนดวงเงินให้สูงกว่าการวางหลักประกันในโครงการโรงไฟฟ้าของผู้ประกอบการรายเล็กมาก(VSPP)หรือไม่ เพื่อป้องกันการทิ้งโครงการ รวมทั้งอาจจะต้องให้วางแบงค์การันตีกับวิสาหกิจชุมชนด้วย เบื้องต้นมีแนวคิดจะให้วางแบงค์การันตีประมาณ 5-6 พันบาทต่อไร่ โดยหากโรงไฟฟ้าผลิต 6 เมกะวัตต์ จะต้องใช้พื้นที่ประมาณ 1,000 ไร่ ก็จะเท่ากับต้องวางแบงค์การันตี 5-6 ล้านบาทต่อเมกะวัตต์ เป็นต้น
นอกจากนี้กำลังพิจารณาด้วยว่าจะให้ผู้ประกอบการแต่ละรายสามารถยื่นข้อเสนอได้กี่โครงการ เบื้องต้นมีแนวคิดจะให้ยื่นได้ 3-5 โครงการต่อราย และในหลักเกณฑ์ใหม่จะไม่มีการกำหนดให้ผู้ประกอบการต้องส่งรายได้เข้ากองทุน(เดิมยังไม่มีการกำหนดชนิดกองทุน) 25 สตางค์ต่อหน่วย แต่จะให้ผู้ประกอบการและชุมชนจะต้องไปตกลงผลประโยชน์ตอบแทนที่จะคืนให้ชุมชนกันเอง
อย่างไรก็ตามโครงการโรงไฟฟ้าชุมชนในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดโครงการตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ. 2561-2580 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 ที่เพิ่งผ่านความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา