ในสถานการณ์ที่ทั่วโลกเผชิญวิกฤตราคาพลังงานจากสถานการณ์สงครามรัสเซีย – ยูเครน ทำให้การเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy Transition) เพื่อให้สอดรับกับเทรนด์เทคโนโลยีด้านพลังงานสะอาดถูกกระชับพื้นที่เข้ามาเร็วยิ่งขึ้นเพื่อแสวงหาพลังงานทดแทนเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มีความผันผวน ทิศทางของโลกจึงมุ่งสู่สังคมไร้คาร์บอน โดยประเทศไทยได้วางเป้าหมายมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) ภายในปี ค.ศ. 2050 และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ในปี ค.ศ. 2065
ในปี 2566 คาดการณ์ว่าสถานการณ์พลังงานจะยังคงผันผวนต่อเนื่องจากปีที่แล้ว กระทรวงพลังงานต้องปรับบทบาทองค์กรก้าวสู่ยุคเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานดังกล่าว โดยนอกจากจะต้องสร้างความมั่นคงด้านพลังงานแล้ว ยังต้องเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายและการดำเนินการหลายด้านเพื่อขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ทั้งการส่งเสริมการผลิตพลังงานสะอาดให้เป็นไปตามเป้าหมาย การปรับตัวเพื่อรองรับและส่งเสริมการผลิตและการใช้ยานยนต์ไฟฟ้า (EV) พร้อมๆ ไปกับติดตามและบริหารจัดการสถานการณ์ราคาพลังงาน เพื่อลดผลกระทบต่อประชาชนและผู้ประกอบการ รวมทั้งสร้างพันธมิตรและร่วมมือกับทุกภาคส่วนขับเคลื่อนการพัฒนา เพื่อให้เกิดการลงทุนธุรกิจพลังงานใหม่ๆ ตามเป้าหมาย
ทั้งนี้ แผนงานสำคัญด้านพลังงานเพื่อตอบโจทย์สังคมยุคไร้คาร์บอน ได้ถูกจัดวางผ่าน 4 มิติ ดังนี้
มิติที่ 1 พลังงานสร้างความมั่นคงสู่สังคมคาร์บอนต่ำ
–> แผนพลังงานชาติและแผนพลังงานรายสาขาใหม่ (แผน PDP 2022/EEP2022/AEDP2022/Oil Plan 2022/Gas Plan 2022) เน้นการส่งเสริมพลังงานสะอาด ตามเป้าหมายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน ภายในปี ค.ศ. 2050
–> แผนการลงทุน Grid Modernization ของประเทศฉบับแรก เร่งกำหนดแผนบูรณาการการลงทุนและการพัฒนาระบบโครงข่ายสมาร์ทกริดและโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงานไฟฟ้า ระยะ 5 ปี (พ.ศ. 2566 – 2570) ของการไฟฟ้าทั้ง 3 แห่ง
–> ปลดล็อค ปรับปรุงกฎ กติกา เพื่อส่งเสริมการซื้อขายไฟฟ้าสะอาดเชิงพื้นที่
–> ส่งเสริมการลงทุนรถ EV และสถานีอัดประจุไฟฟ้า EV Charging Station
–> ศึกษาศักยภาพ กำหนดหลักเกณฑ์และแนวทางการพัฒนาเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์และการกักเก็บคาร์บอน (CCUS)
มิติที่ 2 พลังงานเสริมสร้างเศรษฐกิจ
–> กำหนดแนวทางจัดหาเชื้อเพลิงพลังงานที่ต้นทุนไม่สูง โดยการจัดหาก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศและประเทศเพื่อนบ้านซึ่งมีต้นทุนการผลิตต่ำกว่าการนำเข้า Spot LNG
–> เร่งพัฒนาเครื่องมือทางการเงินเพื่อส่งเสริมพลังงานทดแทน และการอนุรักษ์พลังงาน
–> ส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน อาทิ โรงไฟฟ้าขยะ โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ
–> การบังคับใช้เกณฑ์มาตรฐานอาคารด้านพลังงาน (Building Energy Code : BEC)
–> การใช้กลไกบริษัทจัดการพลังงาน (Energy service company : ESCO) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ พลังงานในภาครัฐ
–> คาดว่ามิติด้านเศรษฐกิจจะเกิดเม็ดเงินลงทุนกระตุ้นเศรษฐกิจประมาณ 240,000 ล้านบาท
มิติที่ 3 พลังงานลดความเหลื่อมล้ำและสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น
–> ส่งเสริมการลงทุนโรงไฟฟ้าชีวมวล/ก๊าซชีวภาพจากพืชพลังงานเพื่อชุมชนและเศรษฐกิจฐานราก โดยเร่งการลงทุน 200 เมกะวัตต์ คาดว่าจะมีเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจรวม 20 ปีประมาณ 37,700 ล้านบาท ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้กว่า 630,737 ตันคาร์บอนไดออกไซด์ต่อปี
–> พัฒนาระบบไฟฟ้าสำหรับพื้นที่เกาะและพื้นที่ห่างไกล
–> มาตรการการช่วยเหลือด้านพลังงานแบบเฉพาะให้กับกลุ่มเปราะบาง
- ตรึงราคาขายปลีก LPG อยู่ที่ 408 บาทต่อถังขนาด 15 กิโลกรัม จนถึงวันที่ 31 มกราคม 2566
- ให้ส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม (LPG) แก่ผู้มีรายได้น้อยผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคน
ต่อ 3 เดือน ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566 - ปตท.ยังคงให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ร้านค้าหาบเร่ แผงลอยอาหารที่มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ จำนวน 100 บาทต่อคนต่อเดือน เพื่อเป็นการลดต้นทุนค่าครองชีพ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม 2566
มิติที่ 4 พลังงานกับการพัฒนาองค์กรเพื่อให้บริการ
–> เผยแพร่ข้อมูลด้านพลังงานรูปแบบ Interactive Dashboard แสดงข้อมูลเชิงลึกด้านพลังงานผ่านการประมวลผลรูปแบบที่เข้าใจง่าย เพื่อใช้สื่อสารให้ประชาชนเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก
–> เพิ่มประสิทธิภาพด้านดิจิทัลในการดำเนินงานด้านพลังงาน
–> ให้บริการศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ
–> พัฒนาระบบการขออนุญาตประกอบกิจการพลังงาน
ขณะที่เรายังต้องเผชิญกับความไม่แน่นอนด้านพลังงาน และกระแสการลดโลกร้อนกำลังทวีความสำคัญ ดังนั้น การพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานสะอาดจึงเป็นหัวใจสำคัญของการดำเนินนโยบายด้านพลังงาน เพื่อเปลี่ยนผ่านไปสู่การใช้พลังงานอย่างยั่งยืนควบคู่ไปกับการดูแลผลกระทบจากสถานการณ์ราคาพลังงานที่ผันผวนต่อเนื่องให้แก่ประชาชนอย่างทั่วถึง