จุฬาฯชวดเป็นที่ปรึกษาศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ 50ล้าน

978
- Advertisment-

“คณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้” ประกาศเลือก “ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” ของนิด้า เป็นที่ปรึกษาโครงการศึกษาโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้ มูลค่างาน 50 ล้านบาท โดยมีคะแนนเฉือนศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ที่ถูกม็อบถ่านหินเดินทางยื่นหนังสือกดดันก่อนหน้านี้

นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน และในฐานะประธานร่วมคณะกรรมการกำกับการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินในภาคใต้ เปิดเผยว่า คณะกรรมการ SEA ได้ลงคะแนนให้ “ศูนย์บริการวิชาการสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์” ของสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ (นิด้า) เป็นผู้ชนะได้เป็นที่ปรึกษา “โครงการศึกษาการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์สำหรับพื้นที่จัดตั้งโรงไฟฟ้าถ่านหินภาคใต้” จากผู้แข่งขันทั้งสิ้น 3 สถาบัน ได้แก่ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ศูนย์บริการวิชาการแห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และศูนย์บริการวิชาการของนิด้า

สำหรับขั้นตอนต่อไป คณะกรรมการ SEA จะนำเสนอผลดังกล่าวต่อปลัดกระทรวงพลังงาน และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เนื่องจากได้ขอรับงบประมาณ 50 ล้านบาท จากกองทุนพัฒนาไฟฟ้าที่ ในกำกับดูแลของ กกพ. มาดำเนินการศึกษาโครงการดังกล่าว ซึ่งผู้ได้รับคัดเลือกเป็นที่ปรึกษาโครงการนี้ จะลงนามในสัญญากับ กกพ. ได้ในต้นเดือน ธ.ค. 2561 นี้ โดยจะใช้เวลาในการศึกษา 5 เดือน หรือประมาณเดือน เม.ย.-พ.ค. 2562 และจะต้องส่งผลการศึกษาเบื้องต้นให้ทางคณะกรรมการ SEA เพื่อให้ทราบว่าภาคใต้ควรมีโรงไฟฟ้าถ่านหินหรือไม่ หากต้องสร้างควรเลือกพื้นที่ใด และหากไม่สร้างจะใช้พลังงานชนิดใดแทน ทั้งนี้ มีกรอบระยะเวลาศึกษาให้เสร็จสิ้นทั้งโครงการภายใน 9 เดือน นับจากวันลงนามเป็นที่ปรึกษา

- Advertisment -

อย่างไรก็ตาม ยืนยันว่าการพิจารณาให้คะแนนครั้งนี้ เป็นไปตามหลักเกณฑ์ SEA สากล การนำเสนอโครงการ เป็นหลัก โดยไม่ได้พิจารณาตามความต้องการของใคร ทั้งนี้ การพิจารณาประกอบด้วย เกณฑ์การกลั่นกรองตามที่สำนักงาน กกพ. กำหนด เช่น ความสำคัญและความสอดคล้องกับวัตถุประสงค์ของกองทุนพัฒนาไฟฟ้า ประสิทธิผลของโครงการ ประสิทธิภาพของโครงการ กรอบแนวคิด ขอบเขตและขั้นตอนการดำเนินงานที่สอดคล้องกับเงื่อนไขการแข่งขัน (TOR) การแสดงให้เห็นวิธีรการและกระบวนการทำงาน กระบวนการมีส่วนร่วมและการเข้าถึงกลุ่มเป้าหมายอย่างทั่วถึง ประสบการณ์ในการจัดทำหรือการศึกษาวิจัยเกี่ยวกับการประเมินสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ (SEA) รวมทั้งคุณสมบัติของบุคลากร

นายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการ SEA กล่าวว่า สำหรับศูนย์บริการวิชาการฯของนิด้า มีสถาบันเครือข่ายที่ร่วมดำเนินการศึกษาในครั้งนี้ คือ มหาวิทยาลัยทักษิณ ราชภัฏสงขลา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยจะเริ่มดำเนินการศึกษาทันทีหลังจากลงนามเป็นที่ปรึกษาต่อไป

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า เมื่อวันที่ 15 พ.ย. 2561 ที่ผ่านมากลุ่ม “เครือข่ายสองฝั่งทะเล กระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน” ได้เดินทางมายื่นหนังสือถึงรัฐมนตรีพลังงาน ขอให้ คณะกรรมการ SEA คัดเลือกที่ปรึกษาอย่างโปร่งใส โดยระบุว่า อาจารย์ในคณะที่ปรึกษาของจุฬาฯ มีประวัติสนับสนุนการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินชัดเจน โดยในวันที่ 19 พ.ย. 2561 นายประสิทธิชัย หนูนวล ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหินและในฐานะตัวแทนเครือข่ายสองฝั่งทะเลกระบี่-เทพา ยุติโรงไฟฟ้าถ่านหิน ได้เป็นตัวแทนเครือข่ายฯ เดินทางมาติดตามผลการคัดเลือกที่ปรึกษาโครงการฯ ในครั้งนี้ด้วยตัวเองด้วย

Advertisment