จี้รัฐปรับลดอัตราค่าเชื่อมระบบสายส่ง จูงใจเอกชนผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนส่งขายกันเอง

1736
- Advertisment-

สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ส่งหนังสือถึง ภาครัฐพิจารณาทบทวนอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ภายใต้โครงการ ERC Sandbox ให้ต่ำกว่า 1.151 บาทต่อหน่วย โดยมองว่าเป็นอัตราที่ไม่จูงใจให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าแบบเอกชนต่อเอกชน หรือ Peer-to-Peer (P2P) ในอนาคต พร้อมกระตุ้นภาคเอกชนมุ่งลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์​เพื่อรับมือกับการกีดกันทางการค้าจากอียูและสหรัฐ ที่เตรียมตั้งกำแพงภาษีสกัดสินค้านำเข้าในอนาคต

นายนที สิทธิประศาสน์ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวในระหว่างการสัมมนา “RE100 Thailand: Heading for Carbon Emission Net Zero” ที่จัดขึ้นภายใต้งาน ASEAN SUSTAINABLE ENERGY WEEK 2021 AND PUMPS & VALVES ASIA 2021VIRTUAL EDITION ซึ่งเป็นการประชุมแบบออนไลน์เมื่อวันที่ 15 ต.ค.2564 ว่า กลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือถึงภาครัฐเมื่อเร็วๆนี้เพื่อให้พิจารณาทบทวนอัตราค่าเชื่อมต่อระบบโครงข่ายไฟฟ้า (Wheeling Charge) ที่กำหนดไว้ 1.151 บาทต่อหน่วย (อัตราที่ใช้ทดลองในโครงการทดสอบนวัตกรรมที่นำเทคโนโลยีมาสนับสนุนการให้บริการด้านพลังงาน (ERC Sandbox) ของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ.) เนื่องจากเห็นว่าเป็นอัตราที่สูงเกินไป ไม่จูงใจให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้ารูปแบบที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนผลิตและขายไฟฟ้าตรงให้เอกชนได้ หรือ Peer-to-Peer (P2P) โดยควรกำหนดอัตราที่เหมาะสมที่ทั้งจูงใจเอกชนและไม่กระทบต่อรายได้ของหน่วยงานการไฟฟ้า และควรจะต้องดำเนินการให้เกิดขึ้นโดยเร็ว เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นนำไปสู่การใช้ไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน 100% หรือ RE100 ซึ่งเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ที่เป็นปัญหาสำคัญในการเกิดภาวะโลกร้อน

นอกจากนี้ ส.อ.ท.ยังได้ลงนามหนังสือแสดงเจตจำนงกับ “กลุ่มเด็นโซ่” เพื่อให้บรรลุเป้าหมายใช้ไฟฟ้าจาก RE 100 ภายในปี ค.ศ.2035 และเพื่อรับมือกับการกีดกันทางการค้าจากอียูและสหรัฐ ที่เตรียมตั้งกำแพงภาษีสกัดสินค้านำเข้า โดยเตรียมเสนอผลักดันเข้าร่วมโครงการ ERC Pilot Project (Sandbox 2) ต่อไป

- Advertisment -

นายวีระเดช เตชะไพบูลย์ ผู้แทนจาก RE100 Thailand Club กล่าวว่า การจะผลักดันไปสู่การใช้พลังงานทดแทน 100% หรือ RE 100 ในประเทศไทยเป็นไปได้หากรัฐมีการแก้ไขกฎหมายให้ซื้อขายไฟฟ้าผ่านสายส่ง หรือเปิดทางให้เอกชนมีการจัดตั้งโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน (RE) ได้ในพื้นที่ใกล้กับโรงงาน โดยรัฐจะต้องปลดล็อกเรื่องของผังเมืองที่เป็นข้อจำกัดอยู่ในปัจจุบัน

ส่วนรูปแบบการซื้อขายไฟฟ้าผ่านสายส่งนั้น มีผู้เสนอให้ภาครัฐศึกษาความเหมาะสมใน 2 รูปแบบ คือ เปิดให้เอกชนซื้อขายไฟฟ้ากันเองแล้วรัฐเก็บค่าบริการผ่านสายส่ง หรืออีกรูปแบบคือ รัฐเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าจาก RE และระบบกักเก็บพลังงาน( ESS) เพียงรายเดียวแล้วออกบิลค่าไฟฟ้าแยกเก็บค่าไฟฟ้าออกเป็น 2 ส่วน ซึ่งรูปแบบดังกล่าวอยู่ที่ภาครัฐจะเป็นผู้ออกกติกาให้ชัดเจนต่อไป ซึ่งจะช่วยส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 ได้

นายทวี จงควินิต รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การซื้อขายไฟฟ้าระหว่างเอกชนกับเอกชนด้วยกันเอง มีความเป็นไปได้ แต่รัฐต้องจัดเตรียมโครงสร้างพื้นฐานให้รองรับการซื้อขายไฟฟ้าที่จะเกิดขึ้น โดยจะต้องมีเรื่องของระบบสมาร์ทกริด ระบบสมาร์ทมิเตอร์ เข้ามาร่วมเป็นต้น รวมถึงจัดให้มีการแสดงข้อมูลการซื้อขายไฟฟ้าแบบเรียลไทม์ ซึ่งจะต้องจัดระบบลงทุนผลิตไฟฟ้าโดยต้องจัดตั้งระบบไมโครกริดให้เกิดขึ้นเพื่อรองรับการผลิตไฟฟ้าในกลุ่มขนาดเล็ก หรือระบบชุมชนให้เกิดการซื้อขายไฟฟ้าระหว่างกลุ่มย่อยกันเอง ก่อนส่งขายไฟฟ้าข้ามสู่ระบบสายส่งหลัก

นอกจากนี้เรื่องของดิจิตัลแพลตฟอร์ม ก็จะเป็นส่วนสำคัญที่จะต้องเกิดขึ้นเพื่อรองรับการซื้อขายดังกล่าว เพื่อทำให้เกิดการจับคู่ซื้อขายไฟฟ้าระหว่างผู้ผลิตและผู้ใช้ไฟฟ้า แต่ปัจจุบัน การซื้อขายไฟฟ้าในลักษณะดังกล่าวยังไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากโครงสร้างกิจการไฟฟ้าของไทยยังเป็น “ระบบผู้ซื้อรายเดียว” (Enhanced Single Buyer) ฉะนั้นภาคนโยบายจะต้องปลดล็อกเรื่องนี้ก่อน และปักหมุดให้ชัดเจนเพราะการผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 เป็นเป้าหมายของโลก ที่ไทยหลีกเลี่ยงไม่ได้

นายอาทิตย์ เวชกิจ รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ไทยเป็นหนึ่งในประชาคมโลก ที่จะต้องมีส่วนร่วมลดปัญหาภาวะโลกร้อน และต้องทำทุกวิธีการเพื่อลดการปล่อยคาร์บอน ทั้งการทำเรื่องลดการใช้พลังงาน (energy efficiency) ในปัจจุบัน สามารถดำเนินการได้ง่ายกว่าอดีตที่ผ่านมา เพราะการลงทุนติดตั้งอุปกรณ์ประหยัดพลังงานมีราคาถูกลง เอื้อต่อการทำเรื่องคาร์บอนเครดิตได้ง่ายขึ้น แต่สิ่งสำคัญยังจะต้องทำควบคู่กับเรื่องการตรวจวัดและพิสูจน์ผล และต้องเป็นไปตามมาตรฐานสากลที่ประเทศคู่ค้าให้การยอมรับ

รวมถึง เรื่องการเปิดให้ใช้ระบบโครงข่ายไฟฟ้าแก่บุคคลที่ 3 (Third Party Access : TPA Code) เข้ามาซื้อขายไฟฟ้าในระบบสายส่งหลักได้ เพื่อให้การผลิตไฟฟ้าจาก RE 100 เกิดได้เร็วขึ้น ซึ่งจะช่วยให้ภาคอุตสาหกรรมที่ถูกกระทบจากมาตรการกีดกันทางการค้าอยู่รอดจากการตั้งกำแพงภาษีสกัดการนำเข้าสินค้าในอนาคต

นายอมร ทรัพย์ทวีกุล รองประธานกลุ่มอุตสาหกรรมพลังงานหมุนเวียน (ส.อ.ท.) กล่าวว่า การส่งเสริมยานยนต์ไฟฟ้า(EV) เป็นหนึ่งในแนวทางที่จะช่วยลดการปล่อยคาร์บอนในภาคขนส่งที่มีสัดส่วนราว 20% จากภาคพลังงานที่ปล่อยคาร์บอนสูงถึงราว 70% ฉะนั้น หลายประเทศทั่วโลกจึงให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการใช้รถ EV และการจะผลักดันให้การใช้รถ EV เกิดขึ้นได้ จุดเริ่มต้นจะต้องมาจากนโยบายสนับสนุนของภาครัฐ รวมทั้งการให้สิทธิประโยชน์ต่างๆเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนผลิตรถยนต์ไฟฟ้า

เป็นอย่างไรก็ตาม การส่งเสริมรถEV จะเป็นจุดสำคัญที่ทำให้ประเทศไทย บรรลุเป้าหมายการเป็นศูนย์กลางการลงทุนยานยนต์ไฟฟ้าที่สำคัญของอาเซียน และยังช่วยรักษาการเป็นฐานผลิตรถยนต์ในระดับโลก ที่ปัจจุบันไทยน่าจะอยู่ในอันดับที่ 10 ที่มีการผลิตราว 2 ล้านคันต่อปี มีแรงงานที่เกี่ยวข้องประมาณ 8 แสนคน และมีบริษัทผู้ผลิตชิ้นส่วนฯที่เกี่ยวข้องประมาณ 3,000 บริษัท ดังนั้น หากไทยไม่เร่งปรับตัวตั้งแต่วันนี้ก็อาจทำให้ไทยสูญเสียการเป็นฐานการผลิตรถยนต์ที่สำคัญในอนาคตได้

Advertisment