จีนพัฒนาสถานีเติมไฮโดรเจนสีเขียวใช้กับรถยนต์ พร้อมให้ทดลองขับรถยนต์ไฮโดรเจนสร้างความมั่นใจ ก่อนนำออกขายสู่ท้องตลาด
นายวีระ ตั้งวิชาชาญ ผู้ช่วยผู้ว่าการบริหารเชื้อเพลิง การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และผู้บริหาร กฟผ. นำคณะสื่อมวลชนเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนไห่โข่วที่ใช้กับรถยนต์ (Haikou Photovoltaic Hydrogen Production and High Pressure Hydrogenation Station) พร้อมต่อยอดพัฒนาโครงการวิจัยไฮโดรเจนสีเขียว โดยบริษัท Haima Automobile (Haima Motor) และ China Aerospace Science and Technology Corporation เพื่อเป็นสถานีไฮโดรเจนสีเขียวแห่งแรกของมณฑลไห่หนาน ณ เมืองไห่โข่ว สาธารณรัฐประชาชนจีน
นายวีระ กล่าวว่า ไฮโดรเจนเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำคัญในยุคของการเปลี่ยนผ่านพลังงาน และการมุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) โดยการเยี่ยมชมสถานีเติมไฮโดรเจนไห่โข่วจะช่วยทำให้เห็นการพัฒนาและความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานไฮโดรเจนแบบที่สามารถนำมาใช้ได้จริงโดยสถานีแห่งนี้เริ่มดำเนินการในปี 2565 ใช้ไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าโซลาร์เซลล์ ขนาดกำลังผลิต 5 เมกะวัตต์ ในการผลิตไฮโดรเจนสีเขียว ด้วยกระบวนการอิเล็กโทรไลซิส (Electrolysis) หรือการแยกน้ำเป็นไฮโดรเจนด้วยไฟฟ้า ซึ่งสามารถผลิตไฮโดรเจนสีเขียวได้ 100 กิโลกรัมต่อวัน จากนั้นจะนำเชื้อเพลิงไปกักเก็บไว้ในถังเก็บไฮโดรเจนเพื่อปรับแรงดันให้มีความเหมาะสมกับการใช้งาน ก่อนนำไปเติมให้รถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจน โดยใช้เวลาในการเติมประมาณ 3 นาทีต่อคัน และสามารถให้บริการได้ประมาณ 100 คันต่อวัน โดยตั้งเป้าหมายในการช่วยลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 60,000 ตันต่อปี
สำหรับการพัฒนาพลังงานไฮโดรเจนในภาคพลังงานไฟฟ้า เพื่อสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดอย่างยั่งยืนของประเทศ มุ่งสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality) และ การปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero Emissions) ภายในปี 2593 และ 2608 ตามลำดับ กฟผ. ได้ร่วมกับพันธมิตรศึกษาสัดส่วนการนำก๊าซไฮโดรเจนมาผสมกับก๊าซธรรมชาติเพื่อใช้เป็นเชื้อเพลิงร่วมในการผลิตไฟฟ้าสำหรับโรงไฟฟ้าของ กฟผ.
นอกจากนี้ กฟผ. ยังได้ศึกษาศักยภาพและพัฒนาการผลิตไฮโดรเจนจากพลังงานสะอาดพร้อมโครงสร้างพื้นฐาน ประมาณการต้นทุนการผลิต การจัดเก็บ การแปรสภาพและการขนส่งในพื้นที่ศักยภาพของ กฟผ. รองรับการผลิตไฟฟ้าและการนำไปใช้ในภาคส่วนอื่น ทั้งนี้ การดำเนินงานในปัจจุบันได้ศึกษาความเหมาะสม (Feasibility Study) เสร็จแล้ว และเตรียมความพร้อมสำหรับการขออนุมัติเห็นชอบให้ดำเนินโครงการ โดยมีเป้าหมายให้ดำเนินการภายในปี 2573