จับประเด็นเหตุและผลที่ทำไมค่าไฟฟ้าต้องแพง

1259
N2032
- Advertisment-

จับประเด็นเหตุและผลที่ทำไมค่าไฟฟ้าต้องแพง และถึงเวลาที่ทุกภาคส่วนต้องช่วยกันประหยัดอย่างจริงจังเพื่อลดภาระการนำเข้าLNGราคาแพงให้กับประเทศ

เหตุแห่งโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ 800 เมกะวัตต์ และเทพา อีก 2000 เมกะวัตต์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)​ ที่สอดคล้องกับนโยบายการกระจายความเสี่ยงเรื่องเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้าในยุคนั้น ถูกถอดออกจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ หรือ PDP2018 และPDP2018 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 1 เมื่อเปลี่ยนตัวรัฐมนตรีพลังงาน ด้วยนโยบายใหม่ที่เหตุผลต้องการจัดหาพลังงานสะอาดตามเทรนด์โลก เกิดเป็นผลสำคัญหนึ่งที่ทำให้ประชาชนต้องเผชิญกับค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น นับตั้งแต่ค่าเอฟที งวด ต.ค-ธ.ค. 64 เรื่อยมาจนถึง เอฟที งวด พ.ค.-ส.ค.65 ต่อเนื่องจนถึงปี 66 และหนึ่งในผู้ที่รับภาระจนขาดสภาพคล่องทางการเงินและต้องขอ ครม.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่อง ก็คือ กฟผ.

การถอดโรงไฟฟ้าถ่านหินกว่า 2800 เมกะวัตต์ของ
กฟผ.ออกจากแผนและเพิ่มโรงไฟฟ้าที่ใช้LNGนำเข้าเข้ามาทดแทน ในขณะที่มีการยกเลิกการประมูลนำเข้าLNGของ กฟผ.ระยะเวลาสัญญา 7 ปี ที่มี ปิโตรนาส แอลเอ็นจี ของมาเลเซีย เป็นผู้ชนะการประมูล ในราคา ประมาณ 7 เหรียญสหรัฐ​ต่อล้านบีทียู

- Advertisment -
สัดส่วนเชื้อเพลิงถ่านหินที่ลดลง เพราะโรงไฟฟ้ากระบี่และเทพา ของ กฟผ.ไม่ได้อยู่ในแผนPDP2018

ในขณะเดียวกันฝ่ายนโยบายในช่วงนั้นก็ไม่ยอมให้ ปตท.ทำสัญญาระยะยาวเพื่อนำเข้า LNG เพิ่มเติมมาทดแทนในช่วงที่ราคาLNGยังอยู่ในระดับต่ำ ทำให้ ปัจจุบันราคาSpot LNG ที่ขยับตัวสูงขึ้นเป็นประวัติการณ์ จากสถานการณ์รัสเซีย​รบกับยูเครนที่ยังยืดเยื้อ กดดันให้ประเทศต้องจัดหาLNGป้อนโรงไฟฟ้าในราคาที่แพงขึ้นมากจนกระทบกับค่าไฟ

อีกประเด็นสำคัญที่ผิดไปจากที่ฝ่ายนโยบายคาดการณ์ไว้เมื่อต้นปี 61 ว่าการประมูลแหล่งเอราวัณ และ บงกช ที่มี ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิตในแปลงสำรวจหมายเลข G1/61 (เอราวัณ)​และ ปตท.สผ.เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด เป็นผู้ได้รับสิทธิเป็นผู้รับสัญญาแบ่งปันผลผลิต และ G2/61 ( บงกช)​ ในราคาก๊าซที่ต่ำประมาณ 116 บาทต่อล้านบีทียู และจะช่วยให้ค่าไฟฟ้าถูกลงได้ประมาณ 24 สตางค์ต่อหน่วย นั้น ก็จะไม่เป็นไปตามเป้า เพราะล่าสุดมีการชี้แจงจากกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ แล้วว่า ความไม่ต่อเนื่องในการผลิตก๊าซในแปลงG1/61(เอราวัณ)​ เมื่อสิ้นสุดสัญญาในวันที่ 23 เม.ย 65 นี้จะทำให้ปริมาณก๊าซลดลงจากปริมาณที่ต้องผลิตตามสัญญาแบ่งปันผลผลิต ที่ 800 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน เหลือเพียง 425 ล้าน ลบ.ฟุตต่อวัน ทำให้ต้องนำเข้าLNGมาทดแทนในจังหวะที่LNGมีราคาแพงถือเป็นโชคร้ายของผู้ใช้ไฟฟ้าที่ต้องแบกรับภาระ จากเดิมที่ถูกยาหอมจากรัฐมนตรีว่า จะได้ใช้ไฟฟ้าถูกลง

ในตัวเลขจริงของค่าไฟฟ้าผันแปรหรือเอฟที งวด (ต.ค.-ธ.ค. 64 )​ ที่มีต้นทุนสูงกว่าตัวเลขที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)​คำนวณได้ และอนุมัติให้ปรับขึ้นค่าเอฟที นั้น ทำให้ กฟผ.ต้องแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิง แทนประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าไปก่อนถึง 3.8 หมื่นล้านบาท

ซึ่งผลจากการแบกรับภาระค่าเอฟทีงวดดังกล่าว ทำให้ กฟผ.อาจมีปัญหา​ขาดสภาพคล่องทางการเงิน เพราะต้องใช้เงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินงานสูงมาก โดยมีรายจ่ายที่ต้องชำระเป็นค่าเชื้อเพลิง ค่าซื้อกระแสไฟฟ้า งบลงทุน และอื่น ๆ ที่มีกำหนดเวลาการชำระเงินที่แน่นอนจึงเสนอเรื่องต่อคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 10 มี.ค.ที่ผ่านมา ที่อนุมัติให้ กฟผ.กู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน ในปี2565–2567 ภายใต้กรอบวงเงินไม่เกิน 2.5หมื่นล้านบาท

อย่างไรก็ตามในการคำนวณค่าเอฟที งวด ม.ค-เม.ย.65 ที่ตัวเลขจริงจะมีต้นทุนสูงกว่าตัวเลขที่ กกพ. อนุมัติให้ปรับขึ้น รวมทั้งการคำนวณค่าเอฟทีงวด พ.ค.-ส.ค.65 ซึ่งเป็นการคาดการณ์​ล่วงหน้าว่า ต้นทุนเอฟทีจะต้องเพิ่มขึ้นถึง 129.91 สตางค์ต่อหน่วยหรือคิดเป็นวงเงินประมาณ 8 หมื่นล้านบาทนั้น มีแนวโน้มสูงที่กระทรวงพลังงานจะต้องช่วยแบกรับภาระค่าเอฟทีไปก่อนเพิ่มขึ้นอีกจาก 3.8 หมื่นล้านเป็น 4 หมื่นกว่าล้านและ 6 หมื่นกว่าล้านบาท ซึ่งจะทำให้ กฟผ.ต้องขออนุมัติ ครม.เพื่อกู้เงินเสริมสภาพคล่องทางการเงินอีกรอบ

ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์​

ผศ.ดร.ณัฐพล ฤกษ์เกษมสันต์​ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเคมี สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง ในฐานะผู้ใช้พลังงานที่สนใจ ติดตามและวิเคราะห์นโยบายพลังงาน นำเสนอทางออกในสถานการณ์ที่เชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าราคาแพงที่กระทบต่อค่าไฟฟ้าของประชาชน จากค่าไฟเฉลี่ย 3.76 บาทต่อหน่วยเพิ่มเป็น 4 บาทต่อหน่วยและอาจจะทะลุถึง 5 บาทต่อหน่วยหากมีการปรับราคาขึ้นตามต้นทุนจริง ว่า​โครงสร้างการผลิตไฟฟ้าของไทยมากกว่า 2 ใน 3 มาจากก๊าซธรรมชาติ ซึ่งการที่ก๊าซจากอ่าวไทยที่มีราคาถูกมีปริมาณลดลงและต้องนำเข้า LNG ราคาแพงมากขึ้น โดยมีการคาดการณ์ว่าไทยจำเป็นต้องนำเข้า LNG ที่ยังไม่มีสัญญาระยะยาว และมีราคาผันผวนตามสถานการณ์ตลาดโลกเป็นจำนวนถึง 4.5 ล้านตันต่อปี ทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของประเทศยังแพงอยู่ ในขณะที่ปัจจุบันหน่วยงานภาครัฐโดย กฟผ. ได้แบกรับภาระไว้ก่อนถึง 3.8 หมื่นล้านบาทแล้วนั้น หากสถานการณ์ราคาLNGยังไม่ถูกลงโดยเร็ว ก็จำเป็นที่ทุกภาคส่วนจะต้องช่วยกันประหยัดการใช้ไฟฟ้าเพื่อลดการเดินเครื่องโรงไฟฟ้าจากLNGที่มีต้นทุนสูงลงให้ได้มากที่สุด

โดยรัฐอาจต้องขอความร่วมมือเอกชนที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่ให้ลดการใช้ไฟฟ้าในช่วงพีคโดยการปรับรอบการผลิต หรือลดการใช้ไฟฟ้าลง เพื่อให้ประเทศผ่านช่วงเวลาวิกฤติพลังงานในคราวนี้ไปให้ได้ก่อน

ในขณะที่ภาครัฐโดยกระทรวงพลังงานนำเสนอทางออกต่อสถานการณ์​พลังงานราคาแพง ซึ่ง ครม.เมื่อวันที่ 23 มี.ค.65 เห็นชอบมาตรการประหยัดพลังงานในหน่วยงานภาครัฐลดการใช้พลังงานจากเดิมร้อยละ10เป็นร้อยละ 20 พร้อมทั้งรายงานผลการประหยัดพลังงานผ่าน www.e-report.energy.go.th โดยมาตรการที่จำเป็นอาทิ

กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน (พพ.) กระทรวงพลังงาน จัดกิจกรรมนำร่องประหยัดพลังงานในหน่วยงานราชการ 20 %

การให้หน่วยงานราชการจัดซื้ออุปกรณ์/เครื่องใช้ไฟฟ้า ที่เป็นอุปกรณ์ประหยัดพลังงาน หรือมีฉลากประสิทธิภาพเบอร์ 5

การกำหนดเวลาเปิด – ปิดเครื่องปรับอากาศ เช่น 8.30 – 16.30 น. และปรับอุณหภูมิให้อยู่ที่ 25 – 26 องศาเซลเซียส และล้างเครื่องปรับอากาศเป็นประจำทุก 6 เดือน
                                     

การกำหนดใช้ลิฟต์ให้หยุดเฉพาะชั้น เช่น การหยุดเฉพาะชั้นคู่ หรืออาจจะสลับให้มีการหยุดเฉพาะชั้นคี่และปิดลิฟต์บางตัวในช่วงเวลาที่มีการใช้งานน้อย

การรณรงค์ขึ้น – ลงชั้นเดียวไม่ใช้ลิฟต์ การพิจารณาให้เจ้าหน้าที่ของหน่วยงานทำงานที่บ้าน (Work from Home) เป็นต้น โดยแต่ละมาตรการให้เป็นไปตามความเหมาะสมของสถานการณ์

สถานการณ์​ไฟฟ้าราคาแพงที่ไม่สามารถย้อนไปแก้ปัญหาความผิดพลาดเชิงนโยบายในอดีตได้ ทำให้ทุกภาคส่วนต้องจริงจังในการช่วยกันประหยัดพลังงานเพื่อลดการนำเข้าพลังงานราคาแพงให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด โดยหากไม่สามารถลดการนำเข้าLNGในช่วงที่มีราคาแพงลงได้ ภาระต้นทุนที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในค่าเอฟที งวด พ.ค.-ส.ค.65 กว่า 8 หมื่นล้านบาท ก็จะถูกเฉลี่ยไปรวมอยู่ในต้นทุนค่าไฟฟ้าในเอฟทีงวดถัดๆไปในที่สุด

Advertisment