จับตา เม.ย. –พ.ค. 2565 โรงไฟฟ้า IPP กฟผ.ต้องปรับมาใช้น้ำมันดีเซลผลิตไฟฟ้าแทนก๊าซฯ เกือบทั้งหมด รองรับกรณี LNG แพงและก๊าซฯ แหล่งเอราวัณผลิตได้น้อยลง ปตท.ยืนยันจัดหาน้ำมันได้เพียงพอ ด้านคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานหวั่นปัญหาการขนส่งด้วยรถบรรทุกจำนวนมากจะมีปัญหา ขอพิจารณาความมั่นคงไฟฟ้าเป็นหลักว่าจะใช้ดีเซลยาวนานแค่ไหน กระทรวงพลังงานตั้งคณะทำงานดูแลวิกฤติไฟฟ้ารอบนี้แล้ว ยืนยันแม้เกิดพีคไฟฟ้า เม.ย. 2565 แต่กำลังการผลิตไฟฟ้ามีเพียงพอ พร้อมพยายามบริหารเชื้อเพลิงไม่ให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ
แหล่งข่าวกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กรมธุรกิจพลังงาน และบริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) เตรียมความพร้อมรองรับวิกฤติราคาก๊าซธรรมชาติแพง โดยในเดือน เม.ย.-พ.ค. 2565 นี้ โรงไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่(IPP) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) เกือบทั้งหมด จะเปลี่ยนจากการใช้ก๊าซฯ ผลิตไฟฟ้าเป็นใช้น้ำมันดีเซลแทน เพื่อแก้ปัญหาราคาก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) แพง และรองรับกรณีแหล่งก๊าซฯ เอราวัณ ไม่สามารถผลิตก๊าซฯ ได้ตามสัญญา ในช่วงที่ผู้รับสัมปทานรายเดิมหมดอายุสัญญาวันที่ 23 เม.ย. 2565 นี้
โดยปัญหาหลักอยู่ที่การขนส่งน้ำมันทางบก ที่ต้องใช้รถบรรทุกจำนวนมากต่อวัน ซึ่งต้องมีการเตรียมพร้อมทั้งรถบรรทุก คลังเก็บน้ำมันและเส้นทางถนนที่รถบรรทุกจะวิ่งผ่าน หากเกิดอุบัติเหตุกับรถขนส่งจะกระทบต่อการใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้าได้
แหล่งข่าวคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) กล่าวว่า ในเดือน เม.ย. 2565 นี้ หากเทียบราคา LNG กับดีเซล จะพบว่า LNG มีราคาแพงกว่า โดยอยู่ที่ 30 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ขณะที่ราคาดีเซลจะอยู่ประมาณ 20 บาทต่อลิตร ดังนั้นในเดือน เม.ย. 2565 จึงต้องเลือกใช้น้ำมันในการผลิตไฟฟ้าแทน LNG แต่ทั้งนี้ไม่ได้หมายความว่าจะต้องใช้ดีเซลเดินเครื่อง 100% สำหรับโรงไฟฟ้า IPP ของ กฟผ. แต่ต้องขึ้นอยู่กับปริมาณน้ำมันและการขนส่งว่าจะดำเนินการได้มากแค่ไหน ถ้ามีความเสี่ยงที่จะก่อให้เกิดปัญหาไฟฟ้าดับ กกพ.ก็อาจให้หยุดใช้น้ำมันและกลับไปใช้ก๊าซ LNG ได้
ทั้งนี้เนื่องจากโรงไฟฟ้าจะใช้น้ำมันได้ 3 วันต่อรถบรรทุกน้ำมัน 1 คัน และกว่าจะเติมเต็มถังสำหรับผลิตไฟฟ้าแต่ละโรงใช้เวลากว่า 10 วัน ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่ายในการขนส่ง ประกอบกับในเดือน เม.ย. 2565 เป็นช่วงฤดูร้อนที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูง ทำให้ยิ่งต้องใช้น้ำมันผลิตไฟฟ้ามากขึ้นอีก ดังนั้น กกพ.จะต้องดูเรื่องความมั่นคงไฟฟ้าประเทศเป็นหลักว่าเหมาะสมจะใช้น้ำมันยาวนานแค่ไหนต่อไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกระทรวงพลังงานได้ตั้งคณะทำงานขึ้นมาดูแลในเรื่องดังกล่าวแล้ว โดยมีตัวแทนจาก กกพ. กรมธุรกิจพลังงาน ปตท. และ กฟผ. เป็นต้น โดยขณะนี้ กฟผ. อยู่ระหว่างการวางแผนเตรียมความพร้อมโรงไฟฟ้าสำหรับใช้ดีเซล และกรมธุรกิจพลังงานเตรียมความพร้อมด้านการขนส่งน้ำมัน ส่วน ปตท.ยืนยันว่าน้ำมันมีเพียงพอป้อนโรงไฟฟ้าได้
แหล่งข่าว กล่าวว่า เมื่อวันที่ 12 มี.ค. เวลา 20.43 น. ได้เกิดความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด(พีค) ของปี 2565 ขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นในส่วนของการใช้ไฟฟ้ารวม กฟผ. โดยมียอดใช้ไฟฟ้ารวม 30,349 เมกะวัตต์ ซึ่งสูงกว่าปี 2564 ที่เกิดพีคในวันที่ 2 เม.ย. 2564 เวลา 21.03 น. ที่ 30,135 เมกะวัตต์ และสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่คาดว่าจะอยู่ระดับ 27,000-28,000 เมกะวัตต์ ในปี 2565 นี้ด้วย
อย่างไรก็ตามแม้จะเกิดพีคไฟฟ้าขึ้นอีกในเดือน เม.ย. 2565 นี้ แต่ประเทศไทยยังมีกำลังการผลิตไฟฟ้าสูงถึง 5 หมื่นเมกะวัตต์ ดังนั้นยืนยันได้ว่าจะไม่เกิดปัญหาไฟฟ้าขาดแคลนแน่นอน แต่ที่ต้องกังวลคือเชื้อเพลิงที่จะใช้ผลิตไฟฟ้าจะเพียงพอหรือไม่ เนื่องจากในเดือน เม.ย. 2565 นี้แหล่งก๊าซฯเอราวัณจะหมดอายุสัมปทานและเป็นช่วงเปลี่ยนผ่านสู่ผู้ดำเนินงานรายใหม่ ซึ่งทำให้การผลิตก๊าซฯ ลดลง ประกอบกับราคาก๊าซ LNG นำเข้ามีราคาสูง ภาครัฐจึงหันไปใช้ดีเซลผลิตไฟฟ้าแทน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่ เพื่อให้เกิดความมั่นคงด้านไฟฟ้าในประเทศ