ประเด็นเรื่องค่าไฟฟ้า ที่สังคมกำลังมีความสงสัย คือ สรุปแล้ว ค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บในบิลค่าไฟฟ้าของประชาชนสำหรับเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2568 โดยเฉลี่ยแล้ว จะยังคงตรึงเอาไว้ที่ระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย ตามมติของคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ในการประชุม ครั้งที่ 12/2568 (ครั้งที่ 954) เมื่อวันที่ 26 มีนาคม 2568 ที่ผ่านมา หรือจะลดลงมาเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย ตามราคาเป้าหมายที่คณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 เห็นชอบตามที่ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นำเสนอ แต่หน่วยงานที่เผชิญกับแรงกดดันเรื่องนี้คือ กฟผ.ที่แบกภาระหนี้แทนประชาชนไว้ให้ก่อนกว่า 7 หมื่นล้านบาท ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อปัญหาการขาดสภาพคล่องและการถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง ซึ่งในที่สุดจะถูกส่งผ่านเป็นภาระค่าไฟฟ้าของประชาชน
เมื่อไปดูอำนาจหน้าที่ตามกฏหมาย เกี่ยวกับเรื่องค่าไฟฟ้า ที่กำหนดไว้ใน พระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 จะเห็นว่า การประกาศอัตราค่าไฟฟ้าของ กกพ.นั้น เป็นการใช้อำนาจตามมาตรา 65 และตามประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานเรื่อง กรอบหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าไฟฟ้า (Electricity Tariff Regulatory Framework) พ.ศ. 2564 ที่พิจารณาถึงอัตราที่สะท้อนต้นทุนของการผลิตไฟฟ้า ผลตอบแทนการลงทุนที่เหมาะสม เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถจัดหาพลังงานได้อย่างมีประสิทธิภาพและเพียงพอที่จะตอบสนองต่อความต้องการใช้พลังงานในประเทศได้ คือให้ความเป็นธรรมทั้งฝ่ายผู้ใช้ไฟฟ้าและฝ่ายผู้ผลิตไฟฟ้า

ส่วนการนำเสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ของ นายพีระพันธุ์ ซึ่งมีอำนาจตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ.2550 นั้นเป็นการใช้อำนาจ ตามมาตรา 64 ที่เป็นการให้นโยบายและแนวทางการกำหนดอัตราค่าไฟฟ้าเพื่อให้ปรับลดลงมาตามราคาเป้าหมาย ที่ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยให้ กฟผ.และ กกพ. ไปร่วมกันพิจารณาดำเนินการว่าจะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงได้ตามราคาเป้าหมายได้อย่างไร ภายใน 45 วัน โดยมีหัวข้อเรื่องที่ให้ไปดำเนินการดังนี้
1. การแก้ไขปัญหาสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed-in-tariff (FiT) และเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีการต่ออายุสัญญาในเงื่อนไขเดิมอย่างต่อเนื่องได้โดยไม่มีกำหนดสิ้นสุดสัญญา
2. หาแนวทางแก้ไขปัญหาการชำระค่าความพร้อมจ่าย ( AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่น ๆ ในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญา ที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายดังกล่าวที่สูงเกินสมควร หรือสูงเกินความเป็นจริง
3. หาแนวทางแก้ไขปัญหา อุปสรรคทั้งในทางการบริหารและตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์ควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการ การสั่งผลิตไฟฟ้า ให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้
นอกจากนี้ ยังให้ สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ไปศึกษา และเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซสำหรับใช้ในการผลิตไฟฟ้าให้ประชาชนมีราคาต่ำลง โดยให้ดำเนินการให้ทันการประกาศราคาค่าไฟฟ้า สำหรับรอบเดือน กันยายน ถึง ธันวาคม 2568


แหล่งข่าวในวงการอุตสาหกรรมไฟฟ้า วิเคราะห์ว่า มติครม.เมื่อวันที่ 1 เมษายน 2568 ที่รับทราบเป้าหมายการปรับลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย นั้น ในแนวทางต่างๆ ที่ให้ กฟผ.และ กกพ.ไปร่วมกันพิจารณาภายใน 45 วัน จะเป็นเพียงข้อเสนอที่รายงานกลับมายัง ครม.เท่านั้น ซึ่งจะยังไม่มีผลให้ค่าไฟฟ้า ปรับลดลงได้จริง โดยการจะปรับลดราคาค่าไฟฟ้าให้มีผลในบิลค่าไฟฟ้าเดือน พฤษภาคม-สิงหาคม 2568 นั้น ทาง กกพ.จะต้องนัดประชุมกันใหม่ เพื่อแก้ไขมติ เดิม ซึ่งทำได้ โดยใช้มาตรา 64 ประกอบกับมาตรา 69 แห่ง พ.ร.บ. การประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 และข้อ 11 ตามประกาศ กกพ.มาใช้อีกครั้ง เช่นเดียวกับที่เคยใช้มาแล้วเมื่อเดือน กันยายน 2566 แต่ทั้งนี้ ทั้ง กฟผ. และ ปตท. จะต้องยอมที่จะร่วมกันรับภาระต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่เกิดขึ้นแทนประชาชนไปก่อน
ทั้งนี้ในแนวทางการแก้ไขสัญญารับซื้อไฟฟ้า ในรูปแบบ Adderและ Feed-in-tariff (FiT) หรือเรื่อง ค่าความพร้อมจ่าย ( AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่น ๆ ในสัญญารับซื้อไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าเอกชน (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว (PPA) ทุกสัญญา ที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ นั้นเป็นเรื่องที่ต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร และต้องมีนโยบายและแนวทางปฏิบัติที่ชัดเจน จาก กพช.
ดังนั้นประเด็นเรื่องการลดค่าไฟฟ้า ในครั้งนี้ จึงเป็นการส่งสัญญาณกดดันจากฝ่ายการเมืองที่คุมนโยบายพลังงาน ซึ่งไม่เห็นด้วยกับมติ กกพ.ที่ประกาศตรึงค่าไฟฟ้า และต้องการให้ กฟผ.แบกรับภาระหนี้ที่เกิดจากส่วนต่างราคาเชื้อเพลิงต่อไป โดยหากเป็นฝ่ายการเมืองยึดตามมติ กกพ.ที่ตรึงราคาค่าไฟฟ้าที่ระดับ 4.15 บาทต่อหน่วย หนี้ กฟผ.ที่เกิดขึ้นจริงจำนวน 71,740 ล้านบาท จะลดลงได้อีก 14,590 ล้านบาท เหลือ 60,474 ล้านบาท กลายเป็นหนี้ที่อยู่ในระดับเดิมหรืออาจจะเพิ่มขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลต่อสภาพคล่องทางการเงินและความเสี่ยงต่อการถูกปรับลดเครดิตเรตติ้ง
ทั้งนี้ฐานะทางการเงินของ กฟผ.จึงขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของบอร์ด กฟผ.ที่มีนายประเสริฐ สินสุขประเสริฐ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน และ นายเทพรัตน์ เทพพิทักษ์ ผู้ว่าการ กฟผ. ที่จะครบวาระในวันที่ 31 กรกฎาคม 2568 หรืออีก 4 เดือนข้างหน้า ว่าจะยืนยันข้อเท็จจริงว่าไม่สามารถรับภาระหนี้เพิ่มได้อีก เพราะอาจจะทำให้มีปัญหาสภาพคล่องทางการเงิน หรือ จะยอมรับนโยบายราคาค่าไฟฟ้า 3.99 บาทต่อหน่วยตามราคาเป้าหมายที่ ครม.ให้ความเห็นชอบ แล้วมาหาวิธีแก้ไขปัญหาสภาพคล่องกันในภายหลัง
อย่างไรก็ตามสิ่งที่ประชาชนทั่วไปยังไม่ทราบก็คือ ภาระหนี้ของ กฟผ.จากการแบกรับส่วนต่างต้นทุนเชื้อเพลิงแทนประชาชนไปก่อนซึ่งเกิดขึ้นมาตั้งแต่ปลายปี 2564 จนถึงปัจจุบัน ที่ทำให้ต้องมีการกู้เงินจากสถาบันการเงินเพื่อแก้ปัญหาซึ่งเกิดภาระดอกเบี้ยที่ตามมานั้น ในท้ายที่สุดก็จะถูกทยอยส่งผ่านให้ประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้า อีกทั้งการทำให้ กฟผ.มีฐานะการเงินที่อ่อนแอลงด้วยนโยบายประชานิยมของฝ่ายการเมืองมาอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา จะไม่ส่งผลดีต่อบทบาทการรักษาความมั่นคงด้านไฟฟ้าให้กับประเทศในระยะยาว