คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดรับฟังความเห็นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ(Ft) งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 ถึง 25 ก.ค. 2565 นี้ โดยกำหนด 3 ทางเลือกในการคิดค่า Ft กรณีแรกส่งผลให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีที่ 2 ค่าไฟฟ้า 4.95 บาทต่อหน่วย และกรณีที่ 3 ค่าไฟฟ้ารวม 4.72 บาทต่อหน่วยขณะที่การปรับขึ้นค่าไฟฟ้าตามต้นทุนจริงทั้งหมด จะทำให้ค่าไฟฟ้าเฉลี่ยโดยรวมพุ่งสูงถึง 6.12 บาทต่อหน่วย
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็น “ค่าไฟฟ้าตามสูตรการปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (Ft) สำหรับงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565” จนถึงวันที่ 25 ก.ค. 2565 ผ่านเว็บไซต์ของ กกพ. www.erc.or.th
ทั้งนี้การประกาศค่าไฟฟ้า Ft งวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 มีความแตกต่างจากทุกครั้ง โดยครั้งนี้ กกพ. ไม่สามารถสรุปว่าจะใช้อัตราค่าไฟฟ้าเท่าไหร่ เนื่องจากต้องรอให้กระทรวงพลังงานเข้ามาร่วมพิจารณาตัดสินด้วย เพราะอัตราค่าไฟฟ้าปรับสูงขึ้นมาก จากราคาเชื้อเพลิงที่พุ่งสูงขึ้น ประกอบกับเงินภาระค่าไฟฟ้าที่การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย(กฟผ.) แบกรับภาระแทนประชาชนไว้ประมาณ 83,010 ล้านบาท ต้องถูกนำมาคิดรวมในค่าไฟฟ้า เพื่อคืนให้กับ กฟผ. ด้วย
ดังนั้นหากคำนวณค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (Ft) งวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2565 ตามต้นทุนที่แท้จริง จะเท่ากับ 236.97 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่ายจริงอยู่ที่ 6.12 บาทต่อหน่วย หรือเพิ่มขึ้นถึง 53% เมื่อเทียบกับค่าไฟฟ้างวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค. 2565 ค่า Ft อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย และค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนจ่ายอยู่ที่ 4 บาทต่อหน่วย ) แต่อัตราค่า Ft ดังกล่าวจะช่วยให้ กฟผ. ได้รับเงินค่าไฟฟ้าคืนทั้งหมด 83,010 ล้านบาท ภายในเดือน ธ.ค. 2565
อย่างไรก็ตามในรายละเอียดการเปิดรับฟังความเห็นค่า Ft ในงวด ก.ย.-ธ.ค. 2565 นี้ ได้แบ่งการคิดค่า Ft เป็น 3 แนวทาง โดยยังไม่มีการตัดสินว่าจะใช้รูปแบบใด และนำมาเปิดรับฟังความเห็นประชาชนก่อนที่ กกพ. และกระทรวงพลังงานจะสรุปประกาศออกมาประมาณปลายเดือน ก.ค. 2565 นี้
โดยแนวทางที่ 1 ค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับจำนวนเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ที่อัตรา 45.70 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 139.13 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 5.17 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ส่วนหนึ่ง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 56,581 ล้านบาท โดยจะคืนเงิน กฟผ. ครบ 83,010 ล้านบาทภายใน 1 ปี
แนวทางที่ 2 ค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย รวมกับเงินที่ทยอยคืน กฟผ. ในอัตราน้อยลงที่ 22.85 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่า Ft รวมเป็น 116.28 สตางค์ต่อหน่วย และส่งผลให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย กรณีนี้จะส่งผลให้คืนเงิน กฟผ. ได้ช้าลง และยังเหลือที่ต้องส่งคืนอีก 69,796 ล้านบาท โดย กฟผ.จะได้รับเงินคืนครบภายใน 2 ปี
และแนวทางที่ 3 ยังไม่คืนหนี้ 83,010 ล้านบาท ให้ กฟผ. โดยคิดค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ราคาค่าไฟฟ้าโดยรวมที่ประชาชนต้องจ่ายอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย
อย่างไรก็ตาม กฟผ. ได้ทำหนังสือถึง กกพ. แสดงความเห็นต่อค่า Ft ในงวดดังกล่าวว่า กฟผ. เห็นควรให้ปรับค่า Ft ตามแนวทางที่ 3 โดยค่า Ft อยู่ที่ 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ตามต้นทุนเชื้อเพลิงที่แท้จริง หรือเพิ่มขึ้นจากงวดปัจจุบัน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย (ค่า Ft งวดปัจจุบัน ในเดือน พ.ค.-ส.ค. 2565 อยู่ที่ 24.77 สตางค์ต่อหน่วย ) โดย กฟผ.จะแบกรับภาระค่าไฟฟ้า 83,010 ล้านบาท ในงวดที่ผ่านมาแทนประชาชนไปก่อน ทั้งนี้เพื่อบรรเทาผลกระทบค่า Ft ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าและลดผลกระทบต่อสภาพคล่องของ กฟผ.ด้วย
นอกจากนี้ ทาง กกพ. ได้ขอความร่วมมือประชาชนช่วยกันประหยัดและลดใช้ไฟฟ้าลง เพื่อให้ไทยลดการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) และน้ำมันสำหรับผลิตไฟฟ้า เนื่องจากปัจจุบันต้นทุน LNG ราคาตลาดจร(Spot LNG) ราคาสูงถึง 900 บาทต่อล้านบีทียู ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้น โดยทุกๆ หน่วยผลิต จะสูงถึง 7-8 บาทต่อหน่วย ดังนั้นทุกหน่วยไฟฟ้าที่ลดลงจะช่วยลดค่าไฟฟ้าของทุกคนลงได้ด้วย