อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน “คุรุจิต นาครทรรพ“ ซึ่งเป็นผู้เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ในนโยบายด้านการสำรวจและผลิตปิโตรเลียม แนะให้รัฐบาลเร่งตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค หรือ Thai-Cambodia joint technical committee (JTC) เพื่อเดินหน้าเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา ภายใต้กรอบ MOU 2544 ชี้ประเทศรอไม่ได้ เหตุปริมาณก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยจะลดลงภายใน 15 ปี ระบุการพึ่งพา LNG นำเข้า จะส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่แพงขึ้น และประเทศจะสูญเสียการเก็บรายได้จากค่าภาคหลวงและภาษีจากการเปิดสำรวจปิโตรเลียมแหล่ง OCA ประเมินเร็วสุด ทั้งการเจรจาและการสำรวจและผลิตจะต้องใช้เวลากว่า 8 ปี จึงจะนำก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ประโยชน์ได้
ในงาน ASEAN Oil & Gas Conference 2024 ซึ่งจัดขึ้นที่ ไบเทค บางนา เมื่อวันที่ 17 ตุลาคม 2567 ที่ผ่านมา ดร.คุรุจิต นาครทรรพ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน ซึ่งปัจจุบัน เป็น ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมและพลังงานแห่งประเทศไทย ได้รับเชิญให้บรรยายเรื่อง It’s time to revitalize oil & Gas Exploration and Production in Thailand with New Incentives under the Petroleum Acts, and Resoving conflicts in Thailand -Cambodia Overlapping Claims Area ( OCA)
โดย ดร.คุรุจิต กล่าวถึงความจำเป็นที่ไทยต้องผลักดันให้เกิดการเจรจาเรื่องพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา เพื่อให้ไทยสามารถใช้ประโยชน์จากก๊าซธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ดังกล่าวได้ เนื่องจากปัจจุบันก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยและในแหล่งเมียนมาเริ่มลดลงไปเรื่อยๆ ขณะที่ความต้องการใช้กลับเพิ่มขึ้นมาตั้งแต่ก่อนเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 จนทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว ( LNG ) จากต่างประเทศ ซึ่งการนำเข้า LNG มาใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการ รัฐจะไม่ได้ค่าภาคหลวงและภาษี ปิโตรเลียม เหมือนกับการสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในประเทศ
โดยจากสถิติในปี 2566 พบว่าไทยมีความต้องการใช้ก๊าซธรรมชาติประมาณ 4,200-4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่ง 33% ของการใช้ก๊าซธรรมชาติทั้งหมดเป็นการนำเข้า LNG ซึ่งมีสัดส่วนที่สูงขึ้นมากเมื่อเทียบกับปี 2558 ที่มีการใช้ LNG แค่เพียง 5% เท่านั้น
ปัจจุบันมีการสร้างคลังเพื่อรองรับการนำเข้า LNG ไว้รวมประมาณ 27 ล้านตัน หรือเท่ากับ3,780 ล้านลบ.ฟุต/วันเทียบเท่า 87% ของ Demand ที่มีประมาณ 4,300 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้น การปล่อยให้มีการนำเข้า LNG เพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าประชาชนให้แพงขึ้น ซึ่งปัจจุบันประชาชนก็ยังเป็นหนี้ค่าไฟฟ้ากับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เกือบ 1 แสนล้านบาทแล้ว และแม้ว่า ราคา LNG โลกจะถูกลงแล้ว แต่ไทยก็ไม่ได้ประโยชน์จากการนำเข้ามากนัก นอกจากจะไม่ได้ค่าภาคหลวงและภาษีจาก LNG นำเข้าแล้ว LNG ที่นำเข้าก็ยังไม่สามารถที่จะนำมาใช้ทำปิโตรเคมีเพื่อเพิ่มมูลค่าได้เหมือนการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย อีกด้วย
ดร.คุรุจิต มองว่า พื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา ซึ่งเป็นแหล่งที่มีโอกาสสำรวจพบก๊าซธรรมชาติได้สูง เมื่อค้นพบแล้วก็สามารถเชื่อมต่อท่อส่งก๊าซธรรมชาติของ ปตท. ที่อยู่ห่างแหล่ง OCA เพียง 50-100 กิโลเมตรเท่านั้น โดยจะใช้เวลาวางท่อเพียง 4-5 เดือนเสร็จแล้วก็สามารถใช้ก๊าซธรรมชาติได้เลย
ทั้งนี้ ปัจจุบันไทยมีท่อก๊าซ 3 เส้น รองรับก๊าซฯ ได้ 3,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ในอ่าวไทยปัจจุบันผลิตได้ไม่ถึง 2,000 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ดังนั้นหากมีก๊าซธรรมชาติที่มาจาก OCA จะทำให้เกิดการใช้ท่อส่งก๊าซธรรมชาติเต็มศักยภาพและค่าผ่านท่อก็จะถูกลงด้วย โดยก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทย มีราคาเฉลี่ยที่ถูกกว่า LNG ที่นำเข้า
โดยในการพัฒนาก๊าซธรรมชาติในแหล่ง OCA ไทย-กัมพูชา ขึ้นมาใช้ประโยชน์นั้น รัฐบาลจะต้องเร่งเดินหน้าเจรจา ซึ่งกระทรวงการต่างประเทศจะต้องเสนอตั้งคณะกรรมการร่วมทางด้านเทคนิค หรือ Thai-Cambodia joint technical committee (JTC) ขึ้นมาโดยให้กระทรวงพลังงานเป็นผู้ช่วย รวมถึงต้องมีฝ่ายทหาร สภาความมั่นคงแห่งชาติ กองทัพเรือ เพื่อช่วยดูแลในมิติเรื่องแผนที่ในทะเล รวมถึงมีผู้แทนกระทรวงกลาโหม มาร่วมด้วย ซึ่งจะทำให้การเดินหน้าไปสู่การเจรจาทำได้ครบทุกมิติมากขึ้น
สำหรับกรณีที่มีกระแสเรียกร้องให้ยกเลิก MOU 2544 นั้น ส่วนตัวเห็นว่า MOU 2544 ยังเป็นประโยชน์ เพราะเป็นกรอบให้ไทยและกัมพูชาได้เจรจากันบนพื้นฐานกรอบข้อตกลงที่วางไว้ได้ ดังนั้นเบื้องต้นรัฐบาลควรเปิดรับฟังความเห็นจากทุกฝ่ายทั้งกรรมาธิการ, สส., สว., นักวิชาการ รวมถึงฟังกลุ่ม NGO และฝ่ายค้าน โดยอยู่บนหลักของเหตุและผล เพื่อให้เห็นว่ารัฐบาลได้พยายามแสดงเจตนารมณ์ให้ประชาชน มั่นใจว่ารัฐบาลทำเพื่อผลประโยชน์ของประเทศ และลบล้างข้อกล่าวหาว่าทำเพื่อประโยชน์ส่วนตน
ทั้งนี้ไทยจำเป็นต้องเร่งการเจรจาเรื่องพื้นที่แหล่ง OCA ไทย-กัมพูชา เพื่อให้ได้ก๊าซธรรมชาติมาทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่จะลดลงไปเรื่อยๆ ภายใน 15 ปี โดยประเมินว่าหากบรรลุข้อตกลงกับกัมพูชาได้ ก็ต้องใช้เวลาอีก 5 ปีกว่าจะเอาก๊าซธรรมชาติขึ้นมาใช้ได้รวมเวลาทั้งหมดน่าจะไม่ต่ำกว่า 8 ปี
ดร.คุรุจิต ยังให้ความมั่นใจด้วยว่า การเจรจาภายใต้กรอบ MOU 2544 จะไม่ทำให้ไทยต้องสูญเสียดินแดนเกาะกูด อย่างที่มีบางฝ่ายพยายามสร้างประเด็นขึ้นมา เพราะที่ผ่านมา ฝ่ายกัมพูชา ยอมรับอยู่แล้วว่า เกาะกูด เป็นของไทย และมีผู้ประกอบการของไทยไปสร้างโรงแรมและรีสอร์ท จำนวนมากบริการนักท่องเที่ยว ในปัจจุบัน ซึ่งไม่ได้มีปัญหาความขัดแย้งใดๆ
”ปัญหาพื้นที่ทับซ้อนไทย-กัมพูชา เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 2515 จนถึงปัจจุบัน 52 ปีมาแล้ว เท่ากับหนึ่งเจเนอเรชั่นของคน ตอนนี้ ประเทศจะรอไม่ได้แล้วเพราะมีกระแส Net Zero เลิกใช้ เชื้อเพลิงฟอสซิล นักลงทุนต่างประเทศก็ถอนตัว เพราะยังไม่เห็นเราเดินหน้าตัดสินใจทำอะไรสักอย่างเกี่ยวกับเรื่องนี้ ก็นำเข้า LNG เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ อีกเดี๋ยว ถ้ามีเรื่องสงครามขึ้นมา ราคา LNG ขยับสูงขึ้นมาอีก เราก็จะเจอปัญหาค่าไฟฟ้าแพงตามมา “ ดร.คุรุจิต กล่าวโดยสรุปกับผู้สื่อข่าว ภายหลังจากการบรรยาย