“คุรุจิต”เสนอตั้งทีมไทยแลนด์เร่งเจรจา OCA ไทย-กัมพูชา เผยปี 65 ไทยจ่ายส่วนต่างนำเข้า LNG สูงถึง 5.9 แสนล้าน

1132
- Advertisment-

“คุรุจิต นาครทรรพ “อดีตปลัดพลังงาน เสนอรัฐบาลตั้งทีมไทยแลนด์เร่งเจรจาหาข้อยุติพื้นที่ OCA ไทยกัมพูชา เปลี่ยนความขัดแย้งในอดีต ( Conflicts )​ให้กลับมาเป็นโอกาส (Opportunities )​ ของประเทศที่จะได้ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงสำคัญในการผลิตไฟฟ้าในราคาที่ถูกลงเมื่อเทียบกับการพึ่งพาLNG นำเข้า พร้อมประเมินตัวเลขปี 65 ประเทศจ่ายเงินเพิ่มกว่า 5.9 แสนล้านบาทเพราะราคา Spot LNG นำเข้าแพงกว่าก๊าซที่ผลิตจากอ่าวไทย ในขณะที่ ” ดร.สุบิน ปิ่นขยัน” อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศสมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชี้ปัจจัยความสำเร็จในการเจรจาอยู่ที่ผู้นำของทั้งไทยและกัมพูชาต้องสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจซึ่งกันและกัน

เวทีการประชุมนานาชาติ The 17 th GMSARN International Conference 2022 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 8-9 ธันวาคม 2565 ที่โรงแรมรีเจนท์ ชะอำ จ.เพชรบุรี ซึ่งจัดโดย เครือข่ายสถาบันการศึกษาและวิจัยในอนุภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง ( Greater Mekong Sub-region Academic and Research Network หรือ GMSARN) มีการเชิญ ดร.คุรุจิต นาครทรรพ ผู้อำนวยการสถาบันปิโตรเลียมแห่ง​ประเทศไทย​ซึ่งเป็นอดีตปลัดกระทรวงพลังงาน มาบรรยายเป็นภาษาอังกฤษในหัวข้อ ” Gas a cleaner bridging fuel toward Energy Transition Turning Conflicts​ into Opportunities​ for Natural Gas E&P Development in the Offshore Thailand -​Cambodia Overlapping Claimed Area ( OCA )​


โดยสรุปสาระสำคัญของการบรรยายที่ชี้ให้เห็นถึง ทิศทางของโลกที่มุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ซึ่งรัฐบาลไทยได้ไปประกาศเป้าหมายของประเทศว่าจะเดินหน้าสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน หรือ Carbon​ Neutrality​ ในปี คศ.2050 และ Net Zero Emissions​ ในปี คศ. 2065 ดังนั้นในช่วงของการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน (Energy​Transition​)​ไปสู่เป้าหมายดังกล่าว ก๊าซธรรมชาติจะยังคงเป็นเชื้อเพลิงฟอสซิล ที่มีความสำคัญ เพราะปล่อยคาร์บอนในปริมาณที่น้อยกว่าเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้าชนิดอื่นๆ เช่น ถ่านหิน

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามปริมาณสำรองก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยนั้นเริ่มร่อยหรอลงเรื่อยๆ ทำให้ไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว หรือ LNG ในสัดส่วนที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และการที่ต้นทุนราคาLNG ตลาดจรหรือ LNG Spot Prices ที่ไทยต้องนำเข้าในปี 2565 มีราคาที่แพงขึ้นมากเมื่อเทียบกับราคาก๊าซจากอ่าวไทย จนส่งผลกระทบอย่างมากต่ออัตราค่าไฟฟ้าทำให้ไทยตกอยู่ในความเสี่ยงด้าน Energy Supply

โดยราคาเฉลี่ย JKM Spot LNG เดือน มิ.ย. 2565 อยู่ที่ 33.15 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู เทียบส่วนต่างกับ ราคาก๊าซจากอ่าวไทยในเดือนเดียวกัน อยู่ที่ประมาณ 5.51 เหรียญสหรัฐต่อล้านบีทียู พบว่า หากตลอดปี 2565 ต้องนำเข้า LNG ให้เพียงพอกับความต้องการใช้ ประมาณ 10 ล้านตัน จะคิดเป็นต้นทุนเชื้อเพลิงที่ต้องจ่ายเพิ่มขึ้นเฉลี่ย สูงถึง 595,129 ล้านบาทต่อปีหรือหากคิดเป็นค่าไฟฟ้าในส่วนของค่าFt จะทำให้ค่าไฟฟ้าแพงขึ้นอีกไม่ต่ำกว่า 8 บาทต่อหน่วย

ดังนั้นการเร่งเสาะแสวงหาและพัฒนาทรัพยากรก๊าซในประเทศขึ้นมาใช้ประโยชน์ จึงควรเป็นนโยบายสำคัญของ​รัฐบาล ที่ต้องผลักดันให้เกิดผลโดยเร็ว

โดยเขตพื้นที่ไหล่ทวีปคาบเกี่ยวไทย-กัมพูชา (OCA)​ในอ่าวไทยครอบคลุมพื้นที่ 26,000 ตารางกิโลเมตร ถ้าไม่สามารถเจรจาหาข้อยุติได้ ก็มีสถานะเหมือน No Man ‘s Land ที่ไม่มีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง เข้าไปสำรวจได้ จึงนับเป็นการสูญเสียโอกาสทางเศรษฐกิจของทั้งกัมพูชา​และไทย

ทั้งนี้ในการนำเข้าทุกๆตันของLNG คือการต้องเสียเงินตราต่างประเทศไปซื้อ รัฐไม่ได้ผลประโยชน์อะไรเป็นรายได้เข้ารัฐเลย

ดร.คุรุ​จิต​ให้สัมภาษณ์​สื่อมวลชน​หลังการบรรยาย​

ในการสัมภาษณ์​หลังการบรรยาย ดร.คุรุจิต กล่าวตอบคำถามสื่อ ด้วยว่า ปัจจุบันทั้งไทยและกัมพูชาต่างประสบปัญหาเศรษฐกิจ​และต้นทุนพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้นมาก ดังนั้น รัฐบาลไทยควรตั้งทีมเจรจาที่เป็นความร่วมมือกันจากหลายหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เป็นทีมไทยแลนด์ นำโดยกระทรวงการต่างประเทศ ที่มีกรอบอำนาจหน้าที่และชั้นความลับในการเจรจา ไปดำเนินการกับฝ่ายกัมพูชา​โดยคำนึงถึงหลักกฏหมายระหว่างประเทศ ความจำเป็นทางเศรษฐกิจ​ การสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจว่าทั้งสองประเทศจะได้รับประโยชน์ร่วมกันจากแหล่งพลังงานดังกล่าว ที่เป็น Win Win Solution

พร้อมย้ำด้วยว่า ที่เสนอให้เร่งเจรจาเรื่องนี้ เพราะกว่าจะเริ่มต้นเข้าไปสำรวจและผลิตก๊าซขึ้นมาใช้ได้ จะต้องใช้ระยะเวลาอย่างเร็วที่สุด 6-10 ปี โดยหากปล่อยให้ล่าช้า ทั้ง 2 ประเทศจะเสียโอกาสในการได้ใช้แหล่งพลังงานราคาถูกที่มีอยู่ในประเทศของตัวเอง เหมือนที่ได้เสียโอกาสไปแล้วในเรื่องของถ่านหิน ซึ่งมีอยู่ที่เวียงแหง พะเยา และสะบ้าย้อย สงขลา ซึ่งไม่ได้ขุดขึ้นมาใช้ตั้งแต่ 20 ปีที่แล้ว เพราะการจะนำขึ้นมาใช้ในตอนนี้ ย่อมถูกกระแสต่อต้าน ซึ่งก๊าซธรรมชาติก็เช่นเดียวกัน ถ้าไม่รีบนำขึ้นมาใช้ ในอนาคต ที่กระแสเรื่องโลกร้อนมีความเข้มข้นขึ้น ก็อาจจะถูกตีตราว่าเป็นตัวการที่ทำให้เกิดโลกร้อนได้เช่นเดียวกัน และทำให้เราต้องหันไปใช้พลังงานหมุนเวียนที่มีความไม่เสถียรและมีต้นทุนที่สูงกว่า

ดร.สุบิน ปิ่นขยัน​ ในวัย 88 ปี

ด้านดร.สุบิน ปิ่นขยัน อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงต่างประเทศ สมัยรัฐบาลพลเอกชาติชาย ชุณหะวัณ ในวัย 88 ปีที่ยังคงมีสุขภาพที่แข็งแรง และเข้าร่วมการประชุมครั้งนี้ด้วย กล่าวแสดงความคิดเห็นด้วยว่า ความสำเร็จในการเจรจาพื้นที่ทับซ้อนไทย-มาเลเซีย​ในอดีต โดยใช้เวลาบนโต๊ะเจรจาประมาณ 5 นาที ก็เพราะผู้นำสูงสุดคือ นายกรัฐมนตรี​ของทั้ง 2 ประเทศ คิอ พลเอกชาติชาย และมหาเธร์ มีความไว้เนื้อเชื่อใจกันอย่างมากว่า ทั้งไทยและมาเลเซียจะไม่เอาเปรียบซึ่งกันและกัน แต่จะร่วมมือกันสร้างประโยชน์ให้เกิดขึ้นในพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย

โดยในกรณีพื้นที่ OCA ไทย-กัมพูชา นายกรัฐมนตรีในรัฐบาลใหม่ ควรจะสร้างความไว้เนื้อเชื่อใจให้เกิดขึ้นกับนายกรัฐมนตรีกัมพูชา ในลักษณะเดียวกันกับสมัยพลเอกชาติชาย จึงจะเปิดทางให้ทีมเจรจาทำงานได้สำเร็จ


โดยมองว่า การเจรจาเพื่อแบ่งเส้นเขตแดนจะนำไปสู่ข้อยุติได้ยาก ดังนั้นจึงควรเน้นไปในเรื่องการพัฒนาพื้นที่ร่วมกัน เหมือนไทย-มาเลเซีย จะมีโอกาสที่จะสำเร็จและได้ข้อยุติเร็วกว่า

Advertisment