“คาร์บอน​เครดิตป่าชายเลน” รัฐหวังช่วยชุมชนในพื้นที่และจูงใจองค์กรที่อยากร่วมโครงการจริงหรือ ?

1233
- Advertisment-

“คาร์บอน​เครดิตป่าชายเลน” รัฐหวังช่วยชุมชนในพื้นที่และจูงใจองค์กรที่อยากร่วมโครงการจริงหรือ ?

เขียนตั้งเป็นคำถามเอาไว้ เพราะไม่แน่ใจว่า สิ่งที่รัฐ คือ กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งภายใต้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ซึ่งออกระเบียบ คู่มือการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ปี 2564 พร้อมกำหนดคุณสมบัติหลักเกณฑ์เพื่อขึ้นทะเบียนผู้ประกอบการที่จะมารับจ้างปลูกป่าชายเลน เมื่อวันเสาร์ที่ 9 ต.ค.64 ที่ผ่านมานั้น จะเป็นการช่วยส่งเสริมให้องค์กรภายนอกโดยเฉพาะภาคเอกชน อยากจะเข้ามาร่วมปลูกป่าชายเลนเพื่อให้ได้ประโยชน์ จากคาร์บอนเครดิตในสัดส่วน 90 % และ ทช. 10% รวมทั้งการส่งเสริมการจ้างงานให้กับคนในชุมชนในพื้นที่โครงการได้จริงหรือไม่

โดยในประเด็นการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชน ตามประกาศที่ระบุว่า ” ให้ผู้ดำเนินการโครงการปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ต้องจ้างคนในพื้นที่ เพื่อส่งเสริมการมีส่วนร่วมของชุมชนในการอนุรักษ์ และดูแลรักษาทรัพยากร ป่าชายเลน และเป็นการกระจายรายได้สู่ท้องถิ่น”นั้นก็ดูเหมือนจะดี แต่เมื่อมาอ่าน
“คุณสมบัติและหลักเกณฑ์ของผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนงานปลูกป่าชายเลน เพื่อประโยชน์คาร์บอนเครดิต พ.ศ. 2564 “ ในรายละเอียดแล้ว ก็บอกได้เลยว่าประโยชน์ที่คนในชุมชนในพื้นที่โครงการจะได้รับนั้นมีน้อย โดยจะได้ร่วมแค่เป็นลูกจ้างกินค่าแรงรายวันเท่านั้น ไม่มีโอกาสที่จะขยับไปเป็นเถ้าแก่ หรือไปเป็นผู้รับเหมาดำเนินโครงการที่ได้ขึ้นทะเบียนกับรัฐได้

- Advertisment -

เพราะรัฐ คือกรม ทช.นั้นได้ตั้งเกณฑ์​คุณสมบัติเอาไว้สูงลิบ ว่าผู้ที่จะได้สิทธิขึ้นทะเบียนเป็นผู้ดำเนินโครงการจะต้องครบเครื่องโดย

-จะต้องมีนักวิชาการด้านป่าไม้ที่มีประสบการณ์ไม่น้อยกว่า 10 ปี

-ต้องมีอุปกรณ์เครื่องจักร เครื่องมือ ที่พร้อมทำงาน มีเอกสารด้านฐานะทางการเงิน

-ต้องมีนายช่างรังวัด ที่คณะกรรมการช่างรังวัดเอกชนรับรอง ไม่น้อยกว่า 2 ปี

-ต้องมีความพร้อมในการจัดหากล้าไม้โดยมีสถานที่เพาะชำกล้าไม้เป็นของตนเอง รวมทั้งพันธุ์กล้าไม้ ที่มีอายุไม่น้อยกว่า 1 ปี ขนาดความสูงไม่น้อยกว่า 80 ซม.และต้องเป็นพันธุ์ที่กำหนดให้ปลูกไม่น้อยกว่า 5 ชนิดพันธุ์​ โดยเลือกจาก 48 ชนิดพันธุ์​ที่รัฐมีรายการระบุไว้ให้

ซึ่งคุณสมบัติแบบนี้ชุมชนคนในพื้นที่โครงการยากจะเข้าถึงได้ทำให้หมดสิทธิ์ตั้งแต่เริ่ม แต่คาดว่าน่าจะมีบางบริษัทนอกพื้นที่ ที่มีความพร้อมตรงตามสเปก ได้เข้ามารับงานแทน ส่วนจะมีมากน้อยสักกี่รายนั้น ต้องไปติดตามกันดูตอนที่ ทช.เขาประกาศรายชื่อ

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นเรื่องค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าชายเลนเพื่อประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต ตามคู่มือที่กำหนดอัตราต่างๆสูงขึ้นกว่าในอดีตมาก อาทิ
งบปลูก 6390 บาทต่อไร่ นากุ้ง 16,000 บาทต่อไร่
สวนปาล์ม 18,000 บาทต่อไร่ พื้นที่เลนงอก 25,000 บาทต่อไร่ ซึ่งสูงกว่าที่กรมบัญชีกลางประกาศไว้ใน “อัตราราคาต่อหน่วย โดยกองมาตรฐานราคา 1 กรมบัญชีกลาง เมื่อเดือน ธันวาคม 2563

ทั้งนี้การที่ค่าใช้จ่ายในการปลูกป่าชายเลนที่เพิ่มขึ้นสูงมาก​ รวมทั้งประโยชน์ที่กระจายลงไปในชุมชนมีน้อย อาจจะทำให้องค์กรขนาดใหญ่ที่มีนโยบายอยากจะช่วยลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ เพื่อช่วยแก้ปัญหาวิกฤตโลกร้อน​ ให้สอดคล้องตามทิศทางของโลกและตามที่ประเทศไทย​ไปให้สัตยาบันสารเข้าร่วมในภาคความตกลงปารีสนั้น อาจจะต้องกลับมาคิดทบทวนแผนงานของตัวเองใหม่ โดยมองหาทางเลือกอื่นที่จะช่วยลดโลกร้อนและได้คาร์บอนเครดิตรวมทั้งได้ช่วยเหลือชุมชน ที่จูงใจมากกว่าแทนการไปปลูกป่าชายเลน ตามมาตรฐานการดําเนินโครงการลดก๊าซเรือนกระจกภาคสมัครใจ (Thailand Voluntary Emission Reduction Program : T-VER) ที่องค์การบริหารจัดการก๊าซเรือนกระจก (องค์การมหาชน) หรือ อบก.ได้พัฒนาขึ้นมาอีกหลายทางเลือกที่เป็นมาตรฐานสากล

ไม่อยากให้ภาพรวมของนโยบายกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ที่ให้ความสําคัญในการสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกและส่งเสริมการเติบโตที่ปล่อยคาร์บอนต่ำ โดยผลักดันให้ทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไขปัญหาด้วยการเร่งฟื้นฟูพื้นที่ป่าเสื่อมโทรมและส่งเสริมการเพิ่มพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อเป็นแหล่งกักเก็บก๊าซเรือนกระจก โดยที่ได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิตนั้น ต้องมาตกม้าตายเพียงเพราะหลักเกณฑ์คุณสมบัติ ของ ทช.ที่ปิดกั้นโอกาสของชุมชน และการกำหนดค่าใช้จ่ายไว้สูงจนไม่จูงใจองค์กรภายนอกให้เข้ามาร่วมโครงการเมื่อเปรียบเทียบกับทางเลือกอื่นๆที่มีอยู่ในการได้รับประโยชน์จากคาร์บอนเครดิต

Advertisment