คณะรัฐมนตรี (ครม.) เห็นชอบลดภาษีดีเซลเพิ่มเป็น 5 บาทต่อลิตร ช่วง 2 เดือน ระหว่าง 21 พ.ค. -20 ก.ค. 2565 หลังมาตรการลดภาษีดีเซลเดิม 3 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดวันที่ 20 พ.ค. 2565 นี้ คาดรายได้รัฐหด 2 หมื่นล้านบาท ชี้จำเป็นต้องช่วยประชาชนลดภาระค่าครองชีพด้านพลังงานในช่วงนี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เปิดเผยผลการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 17 พ.ค. 2565 ว่า ที่ประชุม ครม.มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลตามที่กระทรวงการคลังนำเสนอ โดยให้ปรับลดภาษีน้ำมันดีเซลลง 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน นับตั้งแต่วันที่ 21 พ.ค.-20 ก.ค. 2565 ซึ่งจะต่อเนื่องจากมาตรการลดภาษีดีเซล 3 บาทต่อลิตร ที่จะสิ้นสุดลงในวันที่ 20 พ.ค. 2565 นี้ การต่ออายุมาตรการดังกล่าวทำให้การลดภาษีเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องเพื่อดูแลราคาพลังงานประชาชน หลังจากนั้น ครม. จะพิจารณามาตรการดังกล่าวทีละ 2 เดือนต่อไป
ทั้งนี้คาดว่ามาตรการลดภาษีดีเซลดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อรายได้ของภาครัฐประมาณ 20,000 ล้านบาท และเมื่อรวมกับภาระกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ช่วยเหลือราคาดีเซลที่ผ่านมา เท่ากับภาครัฐใช้เงินดูแลราคาดีเซลถึง 70,000 ล้านบาท แต่ถือเป็นความจำเป็นที่ภาครัฐต้องดูแลราคาดีเซลต่อไป เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนประชาชน อีกทั้งยังจะมีมาตรการอื่นๆ อีก ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างการหารือ
ส่วนน้ำมันเบนซินนั้น รัฐบาลจะให้การช่วยเหลือเป็นการเฉพาะกลุ่มที่ได้รับผลกระทบโดยตรง แต่จะเน้นการดูแลผลกระทบในส่วนของดีเซลเป็นหลัก เพราะเป็นน้ำมันเชื้อเพลิงหลักที่จะส่งผลกระทบต่อต้นทุนสินค้า บริการ และภาคการขนส่ง ซึ่งภาคประชาชนเอง ก็ควรหาวิธีว่าจะทำอย่างไรถึงจะเกิดการประหยัดพลังงานด้วย
“รัฐบาลอยากช่วยทุกภาคส่วน แต่เนื่องจากมีงบประมาณจำกัด และการแพร่ระบาดของโควิด-19 ก็ยังมีอยู่ การจัดเก็บรายได้ของรัฐก็ลดลง ฉะนั้นหากทำอะไรลงไปโดยไม่ระวัง ปัญหาจะทับซ้อนกลับมาได้” พล.อ.ประยุทธ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า ที่ผ่านมา ครม. เมื่อวันที่ 15 ก.พ. 2565 มีมติเห็นชอบมาตรการลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซลในอัตรา 3 บาทต่อลิตร จากเดิมเก็บอยู่ที่ราคา 5.99 บาทต่อลิตร โดยมีผล 3 เดือน นับตั้งแต่ร่างกฎกระทรวงกำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิตมีผลบังคับใช้ไปจนถึงวันที่ 20 พ.ค. 2565 และหลังจากลดภาษีครบ 3 เดือนก็จะกลับมาเก็บในอัตรา 5.99 บาทต่อลิตรตามเดิม สำหรับการปรับลดภาษีดีเซล 3 เดือนดังกล่าวจะส่งผลให้ภาครัฐขาดรายได้ 5,700 ล้านบาทต่อเดือน หรือคิดเป็น 17,100 ล้านบาทต่อ 3 เดือน