คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมอีก10ปี ให้กับ บริษัทพีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด ผู้รับสัมปทาน ซึ่งเป็นบริษัทลูกของปตท.สผ. ตามสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช และสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU 1 ที่อยู่ภายใต้โครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อม โดยเสนอค่าภาคหลวงและภาษีเงินได้ปิโตรเลียมให้กับรัฐรวม 905 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณ28,055 ล้านบาท ที่อัตราแลกเปลี่ยน31บาทต่อ1เหรียญสหรัฐ ) ในขณะที่ในช่วงปี 2550-ธ.ค.2561 ที่ผ่านมา บริษัทมีมูลค่าการผลิตปิโตรเลียมรวมกันในพื้นที่ดังกล่าวกว่า 88,320 ล้านบาท และรัฐได้รับค่าภาคหลวงรวม11,040 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center –ENC ) รายงานว่า คณะรัฐมนตรี ซึ่งประชุมเมื่อวันที่ 7 พค. 2562 มีมติอนุมัติให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสำหรับ (1) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1 ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 3 มิถุนายน 2562 ถึงวันที่ 2 มิถุนายน 2572 และ (2) สัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 แปลงสำรวจบนบกหมาย E5 เฉพาะในพื้นที่โคราช ออกไปอีก 10 ปี นับตั้งแต่วันที่ 16 มีนาคม 2564 ถึงวันที่ 15 มีนาคม 2574 โดยอาศัยความตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติปิโตรเลียม พ.ศ. 2514 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม(ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 1/2524/19 และสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17 ตามแบบ ชธ/ป3/1 ที่กำหนดในกฎกระทรวงกำหนดแบบสัมปทานปิโตรเลียม พ.ศ. 2555 ตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ
ซึ่งตั้งแต่ช่วงปี2550-ธ.ค.2561 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5(เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช)มีมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ รวม 17,664 ล้านบาท รัฐได้รับค่าภาคหลวง 2,208 ล้านบาท ส่วนแปลง EU1มีมูลค่า 70,656 ล้านบาท รัฐได้รับค่าภาคหลวง 8,832 ล้านบาท รวมทั้งสองแปลงมีมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ กว่า 88,320 ล้านบาท และรัฐได้รับค่าภาคหลวงรวม11,040 ล้านบาท
โดยปริมาณสำรองปิโตรเลียม ที่พิสูจน์แล้ว ณ สิ้นปี 2560ของแหล่งก๊าซดังกล่าว ประเมินว่าจะมี ก๊าซธรรมชาติ 114.27 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลว 0.38 ล้านบาร์เรล และหากมีการลงทุนเพื่อสำรวจและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง คาดว่าจะมีโอกาสพบทรัพยากรปิโตรเลียมเพิ่มเติม ได้แก่ ก๊าซธรรมชาติประมาณ 527 พันล้านลูกบาศก์ฟุต และก๊าซธรรมชาติเหลวประมาณ1 ล้านบาร์เรล ซึ่งข้อเสนอต่อคณะรัฐมนตรีในครั้งนี้เพื่อขอต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมออกไปอีก 10 ปี นั้น ประกอบด้วย
1.ค่าภาคหลวงประมาณ 284 ล้านดอลลาร์สหรัฐ และภาษีเงินได้ปิโตรเลียมประมาณ 621 ล้านดอลลาร์สหรัฐ (ภายใต้สัมปทาน Thailand I)รวม 905 ล้านดอลลาร์สหรัฐ
2. เงินผลประโยชน์ซึ่งผู้รับสัมปทานเสนอเพิ่มเติมให้แก่รัฐ (ภายใต้สัมปทาน Thailand III) ประมาณ 74 ล้านดอลลาร์สหรัฐ ซึ่งประกอบด้วยเงินให้เปล่าในการลงนามสัมปทานต่อระยะเวลาการผลิต เงินให้เปล่าจากปริมาณการขายก๊าซธรรมชาติสะสมหรือโบนัสการผลิต และค่าตอบแทนการต่อระยะเวลาผลิต (จ่ายเป็นรายปี)
3. ข้อผูกพันการสำรวจที่ผู้รับสัมปทานเสนอว่าจะเจาะหลุมสำรวจหรือหลุมประเมินผลหรือหลุมผลิตจำนวน 2 หลุม ในแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU 1 (โดยมีค่าใช้จ่ายขั้นต่ำ 18 ล้านดอลลาร์สหรัฐ)
4. การฝึกอบรมบุคลากรของกระทรวงพลังงานเพื่อเตรียมการสำรวจ การรับช่วงต่อความเป็น
ผู้ดำเนินงานภายใน 2 ปี ก่อนสิ้นระยะเวลาสัมปทาน
5. การปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการรื้อถอน บริษัทฯ จะปฏิบัติตามกฎกระทรวงว่าด้วยการรื้อถอนและประกาศกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่เกี่ยวข้องที่มีอยู่ในปัจจุบันและที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
โดยกระทรวงพลังงานพิจารณาและตรวจสอบแล้วพบว่า การต่อระยะเวลาผลิตสำหรับสัมปทานปิโตรเลียมแปลงนี้อยู่ภายใต้กติกาและเงื่อนไขที่ใช้เป็นการทั่วไปในปัจจุบัน และผู้รับสัมปทานรายนี้ได้ปฏิบัติตามข้อกำหนดของสัมปทานและบทบัญญัติของกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม รวมทั้งได้ตกลงในเรื่องข้อกำหนด ข้อผูกพัน และเงื่อนไขที่ใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างครบถ้วน โดยผู้รับสัมปทานมีประสบการณ์ในพื้นที่ผลิต และได้เสนอแผนการดำเนินงาน แผนการลงทุน และผลประโยชน์พิเศษให้แก่รัฐอย่างเหมาะสม และสอดคล้องกับศักยภาพของแปลงสำรวจ คณะกรรมการปิโตรเลียมพิจารณาแล้วเห็นควรให้บริษัท พีทีทีอีพี เอสพี ลิมิเต็ด และคณะ ต่อระยะเวลาผลิตปิโตรเลียมสัมปทานโครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมทั้ง 2 สัมปทานข้างต้น โดยให้ออกเป็นสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 5) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่1/2524/19 และสัมปทานปิโตรเลียมเพิ่มเติม (ฉบับที่ 6) ของสัมปทานปิโตรเลียมเลขที่ 2/2522/17
ทั้งนี้ แหล่งผลิตปิโตรเลียมแปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5 และแปลงสำรวจบนบกหมายเลข EU1มีพื้นที่ผลิตอยู่ในเขตจังหวัดขอนแก่นและอุดรธานี เป็นหลัก ( แปลงสำรวจE5เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช มีจำนวน 39.31 ตารางกิโลเมตร ) ภายใต้โครงการแหล่งก๊าซสินภูฮ่อมที่มีความสำคัญในการเสริมสร้างความมั่นคงของระบบไฟฟ้าภาคตะวันออกเฉียงเหนือเป็นอย่างมาก เนื่องจากก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้จากแหล่งนี้จะถูกนำไปใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักสำหรับผลิตไฟฟ้าในโรงไฟฟ้าน้ำพองที่ตั้งอยู่ที่จังหวัดขอนแก่น
ซึ่งตั้งแต่ช่วงปี2550-ธ.ค.2561 แปลงสำรวจบนบกหมายเลข E5(เฉพาะบริเวณพื้นที่โคราช)มีมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ รวม 17,664 ล้านบาท รัฐได้รับค่าภาคหลวง 2,208 ล้านบาท ส่วนแปลง EU1มีมูลค่า 70,656 ล้านบาท รัฐได้รับค่าภาคหลวง 8,832 ล้านบาท รวมทั้งสองแปลงมีมูลค่าปิโตรเลียมที่ผลิตได้ กว่า 88,320 ล้านบาท และรัฐได้รับค่าภาคหลวงรวม11,040 ล้านบาท