ครม.ไฟเขียวมาตรการลดผลกระทบโควิด-19 ของกระทรวงพลังงาน

913
- Advertisment-

 ครม. นัดพิเศษ เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโควิด-19 เพิ่มเติม ทั้งลดต้นทุนค่าไฟแก่ผู้ประกอบการภาคอุตสาหกรรม ลดอัตราสำรองน้ำมันดิบจาก 6% พร้อมกระตุ้นด้านการส่งเสริมอาชีพให้เกิดการจ้างงานในกิจกรรมรื้อถอนและสร้างแท่นปิโตรเลียมแหล่งเอราวัน-บงกช 

นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า กระทรวงพลังงานได้เสนอมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา (Covid-19) เพิ่มเติม ให้คณะรัฐมนตรีรับทราบ ในการประชุมนัดพิเศษวันนี้(3เม.ย.) ได้แก่

ด้านการลดค่าครองชีพของประชาชนและช่วยเหลือผู้ประกอบการ โดย

- Advertisment -

-เสนอมาตรการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าให้ผู้ประกอบการ โดยคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ผ่อนผันการเรียกเก็บอัตราค่าไฟฟ้าต่ำสุด (Minimum Charge) จากเดิมกำหนดให้ผู้ใช้ไฟฟ้าต้องจ่ายในจำนวนที่ตายตัวคือร้อยละ 70 ของการใช้ไฟฟ้าสูงสุดในรอบ 12 เดือน ไม่ว่าผู้ใช้ไฟฟ้าจะใช้ไฟฟ้าถึงจำนวนที่กำหนดหรือไม่ก็ตาม โดยเปลี่ยนมาเป็นผ่อนผันให้จ่ายตามการใช้ไฟฟ้าสูงสุดจริง ให้กับผู้ใช้ไฟฟ้าประเภท 3-7 เช่น กลุ่ม SMEs โรงงานอุตสาหกรรม และโรงแรม ให้มีผลตั้งแต่ เดือนเมษายน-มิถุนายน 2563 รวม 3 เดือน

-มาตรการลดค่าไฟฟ้าอย่างน้อยร้อยละ 30 ให้กับผู้ประกอบการโรงแรมหรือหอพักที่จะปรับเปลี่ยนให้เป็นที่พักหรือโรงพยาบาลสนาม 2 รูปแบบ คือ ที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้พักฟื้นผู้ป่วยโรคโควิด-19 และที่พักหรือโรงพยาบาลสนามที่ใช้สังเกตอาการของผู้เข้าข่ายเฝ้าระวังฯ

-มาตรการปรับลดอัตราสำรองน้ำมันดิบตามกฎหมายจากร้อยละ 6 เพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการค้าน้ำมันเชื้อเพลิงซึ่งประสบปัญหาการใช้น้ำมันที่ลดลงเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะน้ำมันอากาศยาน ทำให้ประสบปัญหาถังเก็บน้ำมันไม่เพียงพอ จึงขอลดอัตราสำรองน้ำมันดิบจากร้อยละ 6 โดยระยะแรก ลดสำรองเป็นร้อยละ 4 ระยะเวลา 1 ปี และระยะที่สอง ลดสำรองเป็นร้อยละ 5 หลังจาก 1 ปี เป็นต้นไป พร้อมกับขยายระยะเวลาการคงอัตราสำรองก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ตามกฎหมายที่ร้อยละ 1 ออกไปอีกเป็นระยะเวลา 6 เดือน (สิ้นสุด 30 มิถุนายน 2564) รวมทั้งสนับสนุนการเพิ่มปริมาณการจัดเก็บน้ำมันของคลังน้ำมันบริเวณคลองเตย บางจาก ช่องนนทรี กรุงเทพฯ เพื่อรองรับภาวะน้ำมันที่มีปริมาณล้นสต็อกโดยให้มีปริมาณการจัดเก็บน้ำมันสูงสุดได้ตามที่กฎหมายกำหนด

• ด้านการส่งเสริมการลงทุนและส่งเสริมอาชีพด้านพลังงาน
โดยจะเร่งรัดการลงทุนช่วงรอยต่อของแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช เบื้องต้นคาดว่า จะเกิดการจ้างงานเพิ่มขึ้นประมาณ 2,000 อัตรา ในการสร้างแท่นผลิต พร้อมกับผลักดันให้เกิดกิจกรรมการรื้อถอนแท่นผลิตที่จะไม่ได้ใช้งานต่อ โดยเฉพาะในแหล่งเอราวัณและแหล่งบงกช ที่จะมีการรื้อถอนแท่นผลิตจำนวน 53 แท่น ซึ่งจะทำให้เกิดการลงทุนกว่า 10,000 ล้านบาท และคาดว่าจะเกิดการจ้างงานที่เป็นคนไทยกว่า 1,000 อัตราต่อปี (รื้อถอน 25 แท่นต่อปี) นอกจากนี้ ยังส่งเสริมการใช้วัสดุอุปกรณ์หรือบริการจากภายในประเทศ เช่น การใช้เรือไทย โดยหารือกับผู้รับสัมปทานและกรมเจ้าท่า

นอกจากนี้ ได้จัดจำหน่ายแอลกอฮอล์เพื่อป้องกันโควิด-19 โดย ปตท. จะนำร่องที่สถานีบริการน้ำมัน โดยจำหน่ายแอลกอฮอล์ทำความสะอาดที่สามารถใช้ทำความสะอาดมือโดยไม่ต้องล้างน้ำออก และใช้ทำความสะอาดพื้นผิวทั่วไป ขนาด 1 ลิตร ต่อ 1 ขวด ในราคา 110 บาท เริ่มจำหน่ายในวันที่ 4 เมษายน 2563 และคาดว่าจะมีผู้ค้าน้ำมันจำหน่ายแอลกอฮอล์ในสถานีบริการน้ำมันเพิ่มเติมอีก อาทิ บางจาก เชลล์ และเอสโซ่

“การเสนอมาตรการดูแลและเยียวยาผลกระทบทางเศรษฐกิจจากไวรัสโคโรนา (Covid-19) ของกระทรวงพลังงานเพิ่มเติมนี้ จะเป็นประโยชน์ทั้งกับภาคประชาชนและเอกชนที่กำลังได้รับผลกระทบ และที่สำคัญยังเป็นการช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจได้ในอีกทางหนึ่งด้วยในสถานการณ์ที่การดำเนินกิจการทุกด้านแทบจะหยุดชะงัก” รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานกล่าว

Advertisment