คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบต่ออายุมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 4 เดือน ระหว่าง 21 ม.ค.-20 พ.ค. 2566 กระทบการจัดเก็บรายได้ 40,000 ล้านบาท นับเป็นการลดภาษีดีเซลรอบที่ 6 นับตั้งแต่ปี 2565 รวมรัฐสูญรายได้กว่า 1.3 แสนล้านบาท โดยหวังช่วยพยุงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้สูงเกิน ท่ามกลางราคาน้ำมันโลกผันผวนในทิศทางขาขึ้นอีกรอบ ขณะกองทุนน้ำมันฯ ยังติดลบ 1.16 แสนล้านบาท
วันที่ 17 ม.ค. 2566 ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติเห็นชอบขยายระยะเวลาลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร ออกไปอีก 4 เดือน มีผลตั้งแต่วันที่ 21 ม.ค. – 20 พ.ค. 2566 โดยคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อการจัดเก็บรายได้เดือนละ 10,000 ล้านบาท รวม 40,000 ล้านบาท ทั้งนี้เพื่อช่วยรักษาระดับราคาน้ำมันดีเซลในประเทศไม่ให้ปรับตัวสูงขึ้น
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC) รายงานว่า การลดภาษีดีเซลครั้งนี้นับเป็นรอบที่ 6 ซึ่งกระทบการจัดเก็บรายได้ของรัฐรวมประมาณ 138,000 ล้านบาท โดยการลดภาษีดีเซล 6 ครั้งที่ผ่านมาแบ่งเป็นดังนี้
- ลดภาษีดีเซล 3 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 18 ก.พ.-20 พ.ค. 2565 กระทบรายได้รัฐ 18,000 ล้านบาท
- ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน ระหว่าง 21 พ.ค.-20 ก.ค. 2565 กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท
- ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่าง 21 ก.ค.-20 ก.ย. 2565 กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท
- ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่าง 21 ก.ย.-20 พ.ย. 2565 กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท
- ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน ระหว่าง 21 พ.ย.2565-20 ม.ค. 2566 กระทบรายได้รัฐ 20,000 ล้านบาท
- ลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 4 เดือน ระหว่าง 21 ม.ค.-20 พ.ค. 2566 กระทบรายได้รัฐ 40,000 ล้านบาท
โดยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุดที่รายงานโดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ณ วันที่ 15 ม.ค. 2566 กองทุนฯ ติดลบสุทธิ 116,883 ล้านบาท โดยมาจากการนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมัน 72,089 ล้านบาท และอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) 44,794 ล้านบาท โดย สกนช. ได้กู้เงินจากสถาบันการเงินไปแล้ว 30,000 ล้านบาท เพื่อพยุงราคาดีเซลและก๊าซหุงต้ม(LPG) ซึ่งเป็นไปตามกรอบที่ ครม.อนุมัติไว้ให้กู้ได้รวม 150,000 ล้านบาท นับตั้งแต่วันที่ 6 ต.ค.2565 – 5 ต.ค. 2566 และอยู่ระหว่างรอกู้เงินเพิ่มต่อไป
อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนฯ เริ่มมีเงินไหลเข้าวันละ 300 กว่าล้านบาท ซึ่งมาจากการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนฯ ได้วันละ 359 ล้านบาท และมีรายจ่ายจากการชดเชยราคา LPG วันละ 26.21 ล้านบาท แต่ภาระหนี้กองทุนฯ ที่ต้องจ่ายตามปกติให้ผู้ค้าปิโตรเลียมประจำวันสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท ดังนั้นกองทุนฯ จำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อบริหารสภาพคล่องในแต่ละวัน โดยเงินกู้จากสถาบันการเงิน 30,000 ล้านบาทที่ผ่านมา ได้เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กองทุนฯ ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ได้ใช้เงินดังกล่าวไปหมดแล้ว ดังนั้นกองทุนฯ ยังต้องการเงินกู้เพื่อมาเสริมสภาพคล่องรายวันต่ออีก
สำหรับสถานการณ์ราคาน้ำมันโลก ณ วันที่ 17 ม.ค. 2566 เวลาประมาณ 14.30 น. ยังคงผันผวนในทิศทางขาขึ้น โดยราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 80.02 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.63 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 79.21 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.61 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 84.66 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.20 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล
และเมื่อมาดูค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันที่รายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ณ วันที่ 17 ม.ค. 2566 พบว่าค่าการตลาดผู้ค้าดีเซลกลับมาอยู่ระดับ 1.32 บาทต่อลิตร ส่วนค่าการตลาดกลุ่มเบนซินอยู่ที่ประมาณ 3 บาทต่อลิตร ในขณะที่ค่าการตลาดเฉลี่ยระหว่าง 1-17 ม.ค. 2566 อยู่ที่ 2.06 บาทต่อลิตร โดยภาครัฐยังคงขอความร่วมมือผู้ค้าน้ำมันตรึงค่าการตลาดไว้ไม่ให้เกิน 1.40 บาทต่อลิตร
ทั้งนี้ปัจจุบันกองทุนน้ำมันฯ เรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันดีเซลเข้ากองทุนฯ อยู่ที่ 4.64 บาทต่อลิตร เพื่อลดภาระกองทุนฯ ที่ติดลบสูงถึง 116,883 ล้านบาท โดยราคาดีเซล ณ วันที่ 17 ม.ค. 2566 ทั่วไปอยู่ที่ 34.94 บาทต่อลิตร ยกเว้นค่ายน้ำมันต่างชาติที่ราคาปรับขึ้นเกิน 35 บาทต่อลิตรแล้ว เช่น ค่ายน้ำมันเชลล์ ราคาดีเซลอยู่ที่ 35.54 บาทต่อลิตร, เอสโซ่ 35.24 บาทต่อลิตร, คาลเท็กซ์ 35.24 บาทต่อลิตร และเพียว 35.24 บาทต่อลิตร