ครม.เห็นชอบ กฟผ. ร่วมทุน อินโนสเปซ ลุยธุรกิจ Startup

1090
- Advertisment-

คณะรัฐมนตรีเห็นชอบ กฟผ. ร่วมทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด สร้างธุรกิจ Startup ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ โดยจะมีมูลค่าการลงทุน 100 ล้านบาท ระยะเวลา 6 ปี ได้​สัดส่วนหุ้นร้อยละ 13.6

ผู้สื่อข่าว​ศูนย์ข่าว​พลังงาน​(Energy​ News​ Center-ENC​)​ รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 13 ก.ค.2564 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เข้าร่วมลงทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด และให้ กฟผ. ลงนามสัญญาและเอกสารที่เกี่ยวข้องเมื่อผ่านการตรวจพิจารณาจากสำนักงานอัยการสูงสุดแล้ว และให้รับความเห็นหน่วยงานไปพิจารณาดำเนินการ

โดยในสาระสำคัญของเรื่องที่ต้องขอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติครั้งนี้ เนื่องจาก
กฟผ.มีความต้องการที่จะเข้าไปร่วมลงทุนในบริษัท อินโนสเปซ (ประเทศไทย) จำกัด ซึ่งทำการลงทุนในธุรกิจ Startup ในอุตสาหกรรมที่หลากหลายตามเป้าหมายของยุทธศาสตร์ชาติ รวมถึงเทคโนโลยีด้านพลังงาน (EnergyTech) โดยมีมูลค่าการลงทุนของ กฟผ. จำนวน 100 ล้านบาท
ระยะเวลาลงทุน 6 ปี โดยมองว่าการร่วมลงทุนดังกล่าวจะเป็นประโยชน์ต่อการพัฒนาต่อยอดนวัตกรรมและเทคโนโลยีเชิงลึก
ให้กับ กฟผ. บริษัทในเครือ และบริษัทนวัตกรรมของ กฟผ. ซึ่งเข้าข่ายกิจการที่ กฟผ. มีอำนาจดำเนินการได้ตามนัยมาตรา 6 (2 ทวิ) และมาตรา 9 (9) แห่งพระราชบัญญัติการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย พ.ศ. 2511 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และโดยที่มาตรา 43 (1) แห่งพระราชบัญญัติดังกล่าวบัญญัติให้ กฟผ. จะต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรีก่อนจึงจะดำเนินกิจการลงทุนเพื่อขยายโครงการเดิมหรือริเริ่มโครงการใหม่ได้

- Advertisment -

ในส่วนของงบประมาณดำเนินโครงการนั้น ทางสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติได้อนุมัติงบประมาณและอนุมัติแผนร่วมทุนฯ ไปแล้วตั้งแต่วันที่ 30 มกราคม 2563

โดยการลงทุนของ กฟผ. จะเป็นการเข้าไปซื้อหุ้นเพิ่มทุนของบริษัท อินโนสเปซฯ ซึ่งจำนวนเงิน 100 ล้านบาทนั้น คิดเป็นหุ้นสามัญจำนวน 1 แสนหุ้น (มูลค่าหุ้นที่ตราไว้ หุ้นละ 1,000 บาท) โดยจะชำระเงินลงทุนงวดแรกร้อยละ 25 เป็นจำนวน 25 ล้านบาท ซึ่งภายหลังการร่วมลงทุนของ กฟผ. จะทำให้บริษัท อินโนสเปซฯ มีทุนจดทะเบียนบริษัททั้งหมดเป็นจำนวนเงิน 735 ล้านบาท ทุนจดทะเบียนชำระแล้ว จำนวน 183 ล้านบาท (คิดเป็นร้อยละ 25) และจะทำให้ กฟผ. มีสัดส่วนการถือหุ้นร้อยละ 13.6

โดย กฟผ.ประเมินว่าในระยะเวลาลงทุน 6 ปี มีความน่าจะเป็นที่จะเกิด Unicorn Startup ตั้งแต่ปีที่ 4 เป็นต้นไป และจะสามารถสร้างผลตอบแทนจากการขายให้บริษัท อินโนสเปซฯ ในปีที่ 4 จำนวน 33.6 ล้านบาท/ ปีที่ 5 จำนวน 66 ล้านบาท/ และปีที่ 6 จำนวน 198 ล้านบาท

อย่างไรก็ดี บริษัท อินโนสเปซฯ มีนโยบายที่จะไม่จ่ายเงินปันผลให้กับผู้ถือหุ้น แต่จะนำผลตอบแทนที่ได้มาบริหารจัดการเพื่อสร้างและพัฒนา Startup ต่อไป

สำหรับสิทธิในการร่วมทุนครั้งนี้ของ กฟผ. นอกจากจะสามารถส่งผู้แทนไปนั่งในคณะกรรมการ​ลงทุนและกรรมการ​บริษัทอย่างละ 1 คนแล้วยังจะได้รับสิทธิในการลงทุนใน Startup ที่ประสบความสำเร็จก่อน (First Right)

นอกจากนี้ยังสามารถลงทุนหรือร่วมลงทุนในธุรกิจประเภทเดียวกันอื่น ๆ ได้
หรือใน Startup ซึ่งบริษัท อินโนสเปซฯ เข้าลงทุนหรือร่วมลงทุน และสามารถพัฒนาธุรกิจประเภทเดียวกันกับ Startup ได้

Advertisment