ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 6 ก.ย.65 เห็นชอบแผนการกู้เงินของ กฟผ.วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท เพื่อบริหารภาระค่าไฟฟ้าในส่วนค่าเอฟที ในปีงบประมาณ 2566 หลังจากที่ต้องแบกรับภาระค่าเอฟทีแทนประชาชนไปก่อน 3 งวดตั้งแต่ เดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 จนถึงงวด พ.ค.- ส.ค. 65 รวมเป็นเงินกว่า 87,849 ล้านบาท
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center- ENC ) รายงานว่า เงินกู้ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.วงเงินประมาณ 85,000 ล้านบาท ที่คณะรัฐมนตรีให้ความเห็นชอบในครั้งนี้ จะช่วยให้ กฟผ.มีสภาพคล่องเพียงพอในการดำเนินกิจการสำหรับปีงบประมาณ 2566 เนื่องจากการแบกรับภาระค่าไฟฟ้าเอฟทีให้ประชาชนไปก่อน 3 งวดตั้งแต่ เดือน ก.ย.-ธ.ค. 64 งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.65 และงวดเดือน พ.ค.- ส.ค. 65 รวมเป็นเงินกว่า 87,849 ล้านบาทตามนโยบายของภาครัฐ ทำให้ กฟผ.มีสภาพคล่องที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยมีการประมาณการกระแสเงินสดของ กฟผ.ว่า จะขาดเงินสูงสุดในวันที่ 30 มีนาคม 2566 จำนวนเงินประมาณ 74,000 ล้านบาท
โดยการกู้เงินเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงินเพิ่มเติม ในปีงบประมาณ 2566 ประกอบด้วย สัญญากู้ยืมเงิน (Term Loan) กู้เบิกเกินบัญชี ตั๋วสัญญาใช้เงิน การทำ Trust Receipt (T/R) และการทำสัญญากู้เงินเมื่อทวงถาม (Call Loan) ซึ่งกระทรวงการคลังจะเป็นผู้ค้ำประกันเงินกู้ตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการค้ำประกันการชำระหนี้ของหน่วยงานรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือสถาบันการเงินของภาครัฐ
ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า มติคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ที่ให้ปรับค่าไฟฟ้าเอฟทีงวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 65 อีก 68.66 สตางค์ต่อหน่วย รวมเป็นค่าเอฟทีทั้งสิ้น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย ส่งผลให้อัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยอยู่ที่ 4.72 บาทต่อหน่วย นั้น ยังไม่ได้คิดรวมภาระที่ กฟผ.ช่วยแบกรับเอาไว้ให้ก่อน โดย กกพ.จะมีการพิจารณาทยอยเฉลี่ยคืนให้ ในการคำนวณค่าเอฟที ตลอดปี 2566