คณะรัฐมนตรีเห็นชอบในหลักการปรับลดภาษีสรรพสามิตน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 เพื่อให้ราคาลดลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นระยะเวลา 3 เดือนประเมินรัฐสูญเสียรายได้จากการจัดเก็บภาษีประมาณ 1 พันล้านบาท
ในการประชุมคณะรัฐมนตรีวันนี้ (24 ตุลาคม 2566) นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า วันนี้ได้นำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเพื่อขอความเห็นชอบในการลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ซึ่งเป็นน้ำมันเบนซินที่มีราคาถูกที่สุด ลง 2.50 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 3 เดือน โดยใช้กลไกภาษีสรรพสามิตซึ่งประเมินว่าจะใช้วงเงิน1 พันล้านบาทเศษ โดยเป็นการปรับลดราคาตามโครงสร้างที่มีอยู่เดิมเพื่อให้เกิดความรวดเร็วในการดำเนินการ ซึ่งระยะต่อไปจะมีการศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงชนิดอื่นๆ เพื่อกำหนดกรอบโครงสร้างให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมเป็นธรรมและครอบคลุมประชาชนผู้ใช้น้ำมันทุกกลุ่ม
”ผมในนามของกระทรวงพลังงานและรัฐบาลชุดนี้ ได้ให้ความสำคัญกับภาระค่าครองชีพของประชาชนเป็นสำคัญ จึงพยายามเร่งดำเนินทุกมาตรการ อะไรที่ทำได้ก่อนก็พยายามทำอย่างเต็มที่ ดังจะเห็นได้จากการลดราคาน้ำมันดีเซล และค่าไฟฟ้า ในช่วงที่ผ่านมาและในวันนี้คณะรัฐมนตรีก็ได้เห็นชอบในหลักการเพื่อลดราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 ในครั้งนี้ นอกจากนี้ ผมจะเร่งศึกษาโครงสร้างราคาน้ำมันเชื้อเพลิงทุกชนิด เพื่อให้น้ำมันมีราคาถูกลงโดยคำนึงถึงโครงสร้างที่เป็นธรรม และต้องมีความยั่งยืน“ นายพีระพันธุ์ กล่าว
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์91 ณ วันที่ 24 ตุลาคม 2566 อยู่ที่ ลิตรละ 37.98 บาทต่อลิตร โดยมีส่วนของภาษีสรรพสามิต 5.85 บาทต่อลิตร มีการเรียกเก็บเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง 2.80 บาทต่อลิตร และมีการบวกค่าการตลาด 3.20 บาทต่อลิตร ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยที่ควรจะอยู่ที่ประมาณ 2 บาทต่อลิตร ในขณะที่ราคาดีเซล ที่รัฐตรึงราคาไว้ไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร นั้น มีการบวกภาษีสรรพสามิต 3.67 บาทต่อลิตร และกองทุนน้ำมันยังต้องเข้าไปช่วยชดเชยอีกลิตรละ 5.52 บาท รวมทั้งมีการบวกค่าการตลาดอยู่ 1.50 บาทต่อลิตรอีกด้วย ซึ่งชี้ให้เห็นว่า ผู้ค้าน้ำมันมีการบวกค่าการตลาดน้ำมันในกลุ่มเบนซิน เพื่อไปถัวเฉลี่ยกับค่าการตลาดดีเซลที่อยู่ในระดับต่ำ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับผู้ใช้แก๊สโซฮอล์