ครม.เห็นชอบกฟผ.เพิ่มวงเงินและจำนวนเมกะวัตต์โรงไฟฟ้าทดแทนแม่เมาะเครื่อง4-7

1543
- Advertisment-

คณะรัฐมนตรี ประชุมเมื่อวันที่ 26 ก.พ.2562 มีมติเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงาน เสนอ ให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินการเปลี่ยนแปลงกำลังผลิตไฟฟ้าโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะเครื่องที่ 4 – 7 จากเดิม ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 600 เมกะวัตต์ เป็น ขนาดกำลังผลิตไฟฟ้าติดตั้ง 655 เมกะวัตต์  และ ปรับเพิ่มเงินลงทุนโครงการฯ จากเดิมที่ได้รับอนุมัติเงินลงทุน 36,811 ล้านบาท เพิ่มขึ้น อีก1,150 ล้านบาท รวมเป็นเงิน 37,961 ล้านบาท โดยกฟผ.พร้อมจ่ายไฟฟ้าจากโครงการเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันทีที่ได้รับอนุมัติ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center-ENC) รายงานว่า มติครม.ดังกล่าว ที่เพิ่มจำนวนเมกะวัตต์ขึ้นอีก55เมกะวัตต์ และ เงินลงทุนอีก1,150ล้านบาทนั้น กฟผ. จะต้องมาคำนวณผลตอบแทนการลงทุนในโครงสร้างอัตราค่าไฟฟ้า

โดยการขอทบทวน จำนวนเมกะวัตต์ และวงเงินใหม่นั้นเนื่องจาก  คำสั่งคณะรักษาความสงบแห่งชาติ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557 ที่เห็นชอบให้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเพื่อทดแทนโรงไฟฟ้าแม่เมาะ เครื่องที่ 4 – 7 นั้นมีวงเงินลงทุน 36,811 ล้านบาท โดยเป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนที่ใช้ถ่านหินลิกไนต์จากเหมืองแม่เมาะเป็นเชื้อเพลิง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งประมาณ 600 เมกะวัตต์ ตั้งอยู่ภายในโรงไฟฟ้าแม่เมาะ จังหวัดลำปาง มีอายุการใช้งานประมาณ 30 ปี   แต่ในการประกวดราคาโครงการฯ กฟผ. นั้นพบว่าถ่านหินลิกไนต์เหมืองแม่เมาะมีปัญหาด้านคุณภาพที่เปลี่ยนแปลงไปจากรายงานการศึกษาความเหมาะสมของโครงการฯ ซึ่งทำให้โรงไฟฟ้าไม่สามารถเดินเครื่องได้เต็มพิกัด
ดังนั้น กฟผ. จึงมีการปรับปรุงข้อกำหนดทางเทคนิคของเอกสารประกวดราคาเพื่อให้โรงไฟฟ้าใหม่สามารถรองรับถ่านหินที่มีคุณภาพเปลี่ยนไปตลอดอายุโรงไฟฟ้าได้

- Advertisment -

โดยผู้ชนะการประกวดราคาได้เสนอข้อเสนอทางเทคนิคถูกต้อง สามารถรองรับถ่านหินลิกไนต์คุณภาพดังกล่าวได้และเสนอเทคโนโลยีโรงไฟฟ้าขนาดกำลังการผลิตใหญ่กว่าที่ กฟผ. ได้รับอนุมัติ (ได้รับอนุมัติขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 600  เมกะวัตต์ ผู้ชนะการประกวดราคาเสนอขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 655 เมกะวัตต์) ในราคา 35,312 ล้านบาท ซึ่งอยู่ภายใต้กรอบวงเงินที่ได้รับอนุมัติไว้จากคณะรักษาความสงบแห่งชาติเมื่อวันที่ 19 สิงหาคม 2557  แต่เกิดความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนที่เงินบาทได้อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันประกวดราคา (31.2182 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) กับอัตราแลกเปลี่ยนจริง ทำให้กฟผ. ต้องจ่ายค่างานให้กับคู่สัญญาตั้งแต่ปี 2558 – 2560 (32.5709 – 36.3271 บาทต่อดอลลาร์สหรัฐ) ส่งผลให้เงินลงทุนที่ได้รับอนุมัติไว้จำนวน 36,811 ล้านบาท ไม่เพียงพอ จึงต้องขอปรับเพิ่มวงเงินลงทุนเป็น 37,961 ล้านบาท (เพิ่มขึ้น 1,150 ล้านบาท)

. กระทรวงพลังงานยังแจ้งต่อที่ประชุมครม.
ด้วยว่าโครงการฯ พร้อมที่จะดำเนินการจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ได้ทันทีหลังจากที่ได้รับอนุมัติ ซึ่งการเปลี่ยนแปลงรายละเอียดของโครงการฯ ในครั้งนี้ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการการไฟฟ้าฝ่ายผลิตในคราวประชุม ครั้งที่ 2/2561 เมื่อวันที่ 21 กุมภาพันธ์ 2561 และครั้งที่ 8/2561 เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2561 และได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงานในคราวประชุมครั้งที่ 57/2561 เมื่อวันที่ 19 ธันวาคม 2561 รวมทั้งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติได้เห็นชอบรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) แล้ว อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กระทรวงการคลัง สำนักงบประมาณ และสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติไม่ขัดข้อง

Advertisment