คณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติกำหนดเป้าหมายค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย ภายหลังจากที่ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้ประกาศค่าไฟฟ้าไปก่อนหน้านี้แล้วที่ 4.15 บาทต่อหน่วย โดย ครม. สั่งการให้บอร์ด กฟผ. และ กกพ. ต้องดำเนินการตามเป้าหมายดังกล่าว พร้อมให้หาแนวทางแก้ปัญหาสัญญา Adder และ FiT รวมถึงสัญญา PPA ที่ทำให้รัฐเสียเปรียบ สั่งสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาค่าไฟฟ้างวดปลายปี 2568 ถูกลง กำหนดให้ดำเนินการให้เสร็จภายใน 45 วันจากนี้
นางสาวศศิกานต์ วัฒนจันทร์ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในวันที่ 1 เม.ย. 2568 ว่า ที่ประชุม ครม. มีมติกำหนดเป้าหมายให้ราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 ไม่เกิน 3.99 บาทต่อหน่วย โดยมอบหมายให้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กำกับดูแล คณะกรรมการ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (บอร์ด กฟผ.) และคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ให้ลดราคาค่าไฟฟ้าลงตามเป้าหมายดังกล่าว
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติให้ กฟผ. และบอร์ด กฟผ. รวมทั้ง กกพ. ร่วมดำเนินการใน 3 ข้อต่อไปนี้ให้เสร็จภายใน 45 วัน นับตั้งแต่วันที่ ครม.มีมติ ได้แก่ 1. หาแนวทางแก้ไขปัญหาสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ในรูปแบบการให้ส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และรูปแบบการให้เงินสนับสนุนตามต้นทุนที่แท้จริง (FiT) รวมถึงการแก้ไขเงื่อนไขที่กำหนดให้สัญญาดังกล่าวมีอายุสัญญาต่อเนื่องโดยไม่กำหนดวันสิ้นสุดสัญญาไว้

2.หาแนวทางแก้ปัญหาค่าความพร้อมจ่าย (AP) และค่าพลังงาน (EP) รวมทั้งเงื่อนไขข้อตกลงอื่นในสัญญา PPA จากโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ตามสัญญารับซื้อไฟฟ้าระยะยาว ในทุกสัญญาที่มีเงื่อนไขที่ทำให้ กฟผ. หรือรัฐเสียเปรียบ หรือมีภาระค่าใช้จ่ายที่สูงเกินควร หรือสูงเกินกว่าความเป็นจริง
และ 3. หาแนวทางแก้ไขปัญหาอุปสรรคของข้อตกลงในสัญญารับซื้อไฟฟ้าต่างๆ ที่ทำให้ศูนย์การควบคุมระบบไฟฟ้า (SO) ไม่สามารถบริหารจัดการการสั่งผลิตไฟฟ้าให้ต้นทุนผลิตไฟฟ้าของ กฟผ. ลดต่ำลงได้
นอกจากนี้ ครม. ยังมีมติเห็นชอบให้กระทรวงพลังงาน โดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) ศึกษาและเสนอแนวทางปรับโครงสร้างระบบ Pool Gas เพื่อให้ราคาก๊าซธรรมชาติสำหรับใช้ผลิตไฟฟ้าให้ประชาชน มีราคาต่ำลง โดยต้องดำเนินการให้ทันรอบประกาศราคาค่าไฟฟ้างวดเดือน ก.ย.-ธ.ค. 2568
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2568 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความเห็นประชาชนต่อค่าไฟฟ้าใน 3 ทางเลือก ได้แก่ ทางเลือกที่ 1. ค่า Ft เท่ากับ 137.39 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมอยู่ที่ 5.16 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการจ่ายหนี้คืน กฟผ. ครั้งเดียวจบ ทางเลือกที่ 2 ค่า Ft เท่ากับ 116.37 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมอยู่ที่ 4.95 บาทต่อหน่วย โดยเป็นการทยอยจ่ายหนี้คืน กฟผ. และทางเลือกที่ 3 ค่า Ft เท่ากับ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย รวมค่าไฟฟ้าฐาน 3.78 บาทต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าโดยรวมไม่เปลี่ยนแปลงอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย โดยให้ กฟผ.แบกภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าแทนประชาชนไปก่อน
ต่อมาเมื่อวันที่ 26 มี.ค. 2568 กกพ. ได้มีมติเลือกแนวทางที่ 3 โดยตรึงค่า Ft ไว้ที่ 36.72 สตางค์ต่อหน่วย ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ยยังอยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย ในงวดบิลค่าไฟฟ้าตั้งแต่เดือน พ.ค.-ส.ค. 2568 ขณะที่ ครม. ในครั้งนี้กำหนดให้หาแนวทางลดค่าไฟฟ้าเหลือ 3.99 บาทต่อหน่วย โดยไม่มีการนำเงินภาครัฐมาช่วยเหลือเหมือนที่ผ่านมาแต่อย่างใด