ครม.รับทราบมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าและราคาดีเซล

362
- Advertisment-

ครม.รับทราบมาตรการตรึงค่าไฟฟ้าที่ 4.18 บาทต่อหน่วย และราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ตามที่กระทรวงพลังงานนำเสนอ โดยให้ กฟผ.และปตท.ช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้าไปก่อน ในขณะที่ใช้กองทุนน้ำมันเป็นกลไกตรึงราคาดีเซล ซึ่ง ณ วันที่  21 ก.ค. 2567  กองทุนน้ำมันมีฐานะติดลบ 1.11 แสนล้านบาท

นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า ในวันนี้ (23 กรกฎาคม 2567) กระทรวงพลังงาน ได้เสนอแนวทางการตรึงค่าไฟฟ้างวดเดือน กันยายน – ธันวาคม 2567 ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย ภายใต้แนวทางการบริหารจัดการภาระค่าเชื้อเพลิงร่วมกับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) และ บริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) และการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไว้ ไม่เกิน 33 บาท/ลิตร โดยใช้งบประมาณจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง จนถึงวันที่ 31 ตุลาคม 2567 เสนอให้กับคณะรัฐมนตรีพิจารณา  ซึ่งที่ประชุม ครม. รับทราบถึงมาตรการของกระทรวงพลังงานในการให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องช่วยแบกรับภาระต้นทุนเชื้อเพลิงไปก่อน เพื่อช่วยลดค่าครองชีพให้ประชาชน 

ทั้งนี้ บิลค่าไฟฟ้าเดือนกันยายน – ธันวาคม 2567 อัตราค่าไฟฟ้าสำหรับประชาชนทั่วไปจะอยู่ที่หน่วยละ 4.18 บาท แต่ในส่วนของกลุ่มเปราะบาง ที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ยังคงไว้ในอัตราเดิมที่ 3.99 บาท/หน่วย ซึ่งมีจำนวน 17.7 ล้านครัวเรือน และ ครม. ได้เห็นชอบให้ใช้งบกลางมาชดเชย

- Advertisment -

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center -ENC )รายงานว่า ผลจากการตรึงราคาค่าไฟฟ้างวด เดือนก.ย.-ธ.ค.2567 เอาไว้ที่ 4.18 บาทต่อหน่วย จากที่ควรจะต้องปรับขึ้นตามแนวทางที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ได้เปิดรับฟังความคิดเห็น เป็นที่ 4.65 -6.01 บาทต่อหน่วย  ทำให้ ปตท.และ กฟผ. จะยังไม่ได้รับการคืนต้นทุนก๊าซธรรมชาติที่เกิดขึ้นจริง หรือ AFGAS  ที่ทั้ง 2 หน่วยงานร่วมกันแบกรับภาระจำนวน 15,083.79 ล้านบาท (หรือคิดเป็นค่าไฟฟ้าประมาณ 25.02 สตางค์ต่อหน่วย) ในขณะที่ กฟผ.จะได้รับคืนภาระต้นทุนคงค้าง (AF) ที่เกิดขึ้นจริงเพียง 0.05 บาทต่อหน่วย(ประมาณ 3,200 ล้านบาท จากภาระต้นทุนคงค้างที่สะสมอยู่จำนวน 98,495 ล้านบาท (หรือคิดเป็น 163.39 สตางค์ต่อหน่วย) ซึ่งจะต้องทยอยเรียกเก็บคืนจากประชาชนผู้ใช้ไฟฟ้าในภายหลัง 

ในขณะที่มาตรการตรึงราคาดีเซลเอาไว้ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ทำให้ ฐานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงยังติดลบอยู่สูงถึง 1.11 แสนล้านบาท โดย ณ วันที่ 23 ก.ค.2567 กองทุนน้ำมันยังเข้าไปช่วยจ่ายชดเชยราคาดีเซลอยู่ลิตรละ 1.06 บาทต่อลิตร ในขณะที่ผู้ใช้น้ำมันแก๊สโซฮอล์ 91 และ 95 ซึ่งเป็นกลุ่มรถมอเตอร์ไซด์และรถยนต์นั่งส่วนตัว  ต้องจ่ายเงินเข้ากองทุนฯถึงลิตรละ 3.70  บาทต่อลิตร 

Advertisment