สิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตร กบน.ใช้กลไกกองทุนน้ำมันฯ เข้าดูแลราคาดีเซลแทน

823
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เผย สิ้นสุดมาตรการตรึงราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตร ตามมติ ครม. วันนี้ 31 ต.ค. 2567 คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) รับหน้าที่พยุงราคาดีเซลแทน ยืนยันจะพยายามคงราคาไว้ไม่ให้เกิน 33 บาทต่อลิตร ภายใต้เงื่อนไขราคาน้ำมันโลกต้องไม่เกิน 100 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ชี้หากราคาน้ำมันโลกพุ่งเกินรับมือ อาจจะต้องปรับขึ้นราคาดีเซลในอนาคต ยืนยันขณะนี้กองทุนฯ เริ่มมีสภาพคล่องดีขึ้น มีเงินไหลเข้ากว่า 7,000 ล้านบาทต่อเดือน พร้อมชำระหนี้เงินต้นก้อนแรกเดือน พ.ย. 2567 ที่ 139 ล้านบาท ก่อนจะจ่ายสูงสุด เดือน ต.ค. 2568 เกือบ 3,000 ล้านบาท คาดจ่ายหนี้หมดเดือน ก.ย. 2571    

นายพรชัย จิรกุลไพศาล ผู้อำนวยการ สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์ สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) เปิดเผยถึงมาตรการตรึงราคาดีเซล 33 บาทต่อลิตร ของคณะรัฐมนตรี (ครม.) ที่ได้สิ้นสุดลงในวันที่ 31 ต.ค. 2567 ว่า หลังจากนี้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะเป็นผู้ดูแลราคาดีเซลในประเทศเอง โดยจะใช้กลไกกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงมาบริหารจัดการเพื่อให้ราคาดีเซลมีความยืดหยุ่น สามารถปรับเปลี่ยนได้ตามสถานการณ์ราคาที่เหมาะสมต่อไป

โดยเบื้องต้น กบน. จะบริหารเงินกองทุนฯ เพื่อให้ราคาจำหน่ายปลีกดีเซลคงไว้ที่ราคาไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร แต่หากราคาน้ำมันตลาดโลกขยับขึ้นเกิน 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล กบน. อาจจำเป็นต้องปล่อยให้มีการปรับราคาดีเซลเกิน 33 บาทต่อลิตรได้ และหากราคาน้ำมันโลกปรับลดลง ก็อาจพิจารณาปรับลดราคาน้ำมันดีเซลได้เช่นกัน ซึ่งปัจจุบันราคาน้ำมันตลาดโลกอยู่ที่ประมาณ 81.68 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามปัจจุบันกองทุนฯ เรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลส่งเข้ากองทุนฯ อยู่ 1.72 บาทต่อลิตร ดังนั้นหากราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้น แนวทางแรกที่จะดำเนินการคือ ทยอยลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลลงก่อน ซึ่งสามารถลดจนหมดและจากนั้นอาจนำเงินกองทุนฯ มาชดเชยราคาดีเซลก็เป็นได้ เพื่อรักษาระดับราคาจำหน่ายให้อยู่ที่ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร แต่หากราคาน้ำมันตลาดโลกพุ่งสูงต่อเนื่องจนเกินกว่าสถานะกองทุนฯ จะแบกรับไหว ก็อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลต่อไป

สำหรับปัจจุบันกองทุนฯ มีเงินไหลเข้าจากผู้ใช้น้ำมันรวม 229 ล้านบาทต่อวัน และจากผู้ค้าก๊าซหุงต้ม (LPG) 2.02 ล้านบาทต่อวัน รวมมีเงินไหลเข้าประมาณ 231 ล้านบาทต่อวัน หรือ ประมาณ 7,170 ล้านบาทต่อเดือน

โดยภาพรวมสถานะเงินกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 27 ต.ค. 2567 กองทุนฯ ติดลบรวม -92,041 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -44,564 ล้านบาท และบัญชี LPG ติดลบรวม -47,447 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามกองทุนฯ จำเป็นต้องมีเงินไหลเข้าอย่างต่อเนื่อง เพราะตั้งแต่วันที่ 1 พ.ย. 2567 กองทุนฯ จะต้องเริ่มใช้หนี้เงินต้นที่กู้มาจากสถาบันการเงินไว้รวมทั้งสิ้น 105,333 ล้านบาท ซึ่งเป็นการทยอยกู้มาตั้งแต่ปี 2565 ดังนั้นจะต้องเริ่มทยอยจ่ายหนี้เงินต้นครั้งแรกในเดือน พ.ย. 2567 นี้ ประมาณ 139 ล้านบาท รวมกับดอกเบี้ยที่ต้องจ่ายทุกเดือนประมาณ 250-300 ล้านบาท และหนี้เงินต้นจะทยอยสูงขึ้นตั้งแต่เดือน ธ.ค. 2567 เป็น 278 ล้านบาท โดยหนี้เงินต้นสูงสุดจะไปอยู่ที่เดือน ต.ค. 2568 ที่ต้องจ่ายถึง 2,926 ล้านบาท จากนั้นจะเริ่มทยอยลดลง โดยคาดว่าจะใช้หนี้หมดในเดือน ก.ย. 2571

ทั้งนี้หากการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ยังอยู่ในระดับปัจจุบันที่ประมาณ 7,000 ล้านบาทต่อเดือน ก็ยังเพียงพอชำระหนี้เงินต้นที่จะขึ้นสูงสุดในเดือน ต.ค. 2568 ได้ และยังสามารถดูแลราคาน้ำมันและ LPG ในประเทศได้อย่างต่อเนื่อง

ส่วนการสรรหาตำแหน่งผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง คาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือน ธ.ค. 2567 นี้

Advertisment