ครม.ปลดล็อก พนักงาน กฟผ. 1,267 คนให้ได้รับการชดเชยค่าจ้างที่เป็นธรรมมากขึ้น โดยจะใช้วงเงินประมาณ 16.28 ล้านบาทต่อปีที่มาจากรายได้ขององค์กร
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน ( Energy News Center-ENC ) รายงานว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2564 ได้เห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอ เรื่อง การปรับเงินเดือนค่าจ้างชดเชยผู้ได้รับผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างแรกเข้าทำงานของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ. เฉพาะคุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี (ปวส. ปวช. และต่ำกว่า ปวช.) โดยให้มีผลตั้งแต่วันที่คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบ ซึ่งเรื่องดังกล่าวผ่านการพิจารณาของบอร์ดในคราวประชุมครั้งที่ 11/2560 และคณะกรรมการแรงงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ในการประชุมครั้งที่ 1/2563 แล้ว
ทั้งนี้ พนักงาน กฟผ.ที่จะได้รับการชดเชยค่าจ้างเพิ่มขึ้น มีจำนวนประมาณ 1,267 คน จากพนักงานที่มีอยู่ทั้งหมด 18,849 คน แบ่งเป็นระดับ ปวส. 755
คน ปวช. 35 คน และต่ำกว่า ปวช. 477 คน โดยค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้นประมาณ 16.28 ล้านบาทต่อปี นั้นจะมาจากงบประมาณของ กฟผ.เอง
การปรับการชดเชยค่าจ้างดังกล่าวเนื่องจากเมื่อเปรียบเทียบกับค่าตอบแทนของภาคแรงงานของอุตสาหกรรม (Industry Norm) พบว่า พนักงาน
กฟผ. ที่คุณวุฒิต่ำกว่าปริญญาตรี มีอัตราค่าจ้างแรกเข้าทำงานที่ต่ำกว่า จึงจำเป็นต้องมีการปรับอัตราค่าจ้างเพิ่มขึ้นเพื่อให้สามารถสรรหารักษาบุคลากรที่มีความรู้ ประสบการณ์ และทักษะที่จำเป็นต่อการดำเนินภารกิจของ กฟผ.เอาไว้ได้ อย่างไรก็ตามอัตราใหม่ที่ปรับขึ้น ก็ไม่ได้สูงมากไปกว่ารัฐวิสาหกิจอื่นๆ
ที่ประชุม ครม.ยังได้รับทราบ สถานะทางการเงินและผลการดำเนินงานของ กฟผ. เพื่อให้มั่นใจว่า การปรับชดเชยค่าจ้างดังกล่าวจะไม่กระทบต่อฐานะการเงินของ กฟผ. โดยในปี 2562 กฟผ. มีรายได้รวม 576,405 ล้านบาท มีกำไรสุทธิ 45,176 ล้านบาท (เพิ่มสูงขึ้นจากปี 2561 ร้อยละ 15.06) และนำส่งเงิน
รายได้แผ่นดินเป็นเงิน 22,201 ล้านบาท
โดยมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ยปีละ 27,925 ล้านบาท หรือประมาณร้อยละ 5.24 ของรายได้รวม และมีคะแนนผลการดำเนินงานย้อนหลัง 5 ปี เฉลี่ย 4.6893 คะแนน ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ดีขึ้น – ดีมาก