คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน รับฟังความเห็นปรับแผนปฏิรูป เสนอยกเว้น นโยบาย Enhancing Single Buyer โดยเปิดให้เอกชนรายอื่นรับซื้อไฟฟ้าได้ภายใต้โครงการ ERC Sandbox ของ กกพ. พร้อมยกเลิกข้อเสนอที่จะรวมการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคและการไฟฟ้านครหลวง เข้ามาอยู่ในกำกับดูแลของกระทรวงพลังงาน หลังจากที่ไม่สามารถดำเนินการได้จริง แต่ให้ทำแผนบูรณาการการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี(2566-2570) ร่วมกันแทน
เมื่อวันที่ 4 ก.พ.2563 คณะกรรมการฯ ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อการปรับปรุงแผนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน หลังจากที่แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานได้นำมาใช้ครบ 2 ปี ในเดือนเม.ย.2563 โดยการจัดที่ภาคกลาง นับเป็นครั้งสุดท้าย หรือครั้งที่ 4 ก่อนหน้านี้มีการเปิดรับฟังความเห็นมาแล้วในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ ภาคใต้
นายกวิน ทังสุพานิช เลขานุการคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน เปิดเผยว่า สาระสำคัญของการปรับปรุงแผนปฏิรูปประเทศ ด้านพลังงานในครั้งนี้ ได้แก่ 1. เปลี่ยนแผนเดิมที่กำหนดให้ 2 หน่วยงาน คือ การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.)และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (PEA)โอนย้ายมาอยู่สังกัดกระทรวงพลังงาน จากปัจจุบันที่สังกัดอยู่กระทรวงมหาดไทย เพื่อให้ทั้ง 3 การไฟฟ้า(กฟน., PEA และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย หรือ กฟผ.)มาอยู่ในสังกัดเดียวกัน แต่เนื่องจากที่ผ่านมายังไม่สามารถดำเนินการได้ในทางปฏิบัติ จึงได้ปรับแผนให้ทั้ง 3 การไฟฟ้า และสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(สำนักงาน กกพ.) ไปจัดทำ “แผนบูรณาการการลงทุนและพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านพลังงาน ระยะ 5 ปี(2566-2570)” โดยโครงการลงทุนของ 3 การไฟฟ้า ที่มีมูลค่าเกิน 1,000 ล้านบาท และไม่อยู่ในแผน 5 ปีดังกล่าวจะไม่ได้รับการพิจารณาให้ดำเนินการ
2.สนับสนุนให้เกิดผู้ประกอบการส่งออกก๊าซธรรมชาติเหลว(LNG) รายที่ 3 (รายแรก บริษัท ปตท.จำกัด(มหาชน) และรายที่ 2 กฟผ.) อย่างเต็มรูปแบบในปี 2565 เพื่อรองรับการเป็นศูนย์กลาง(ฮับ)การซื้อขาย LNG ของภูมิภาคอาเซียน
3.ให้กระทรวงพลังงานปรับปรุงแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ (PDP)ให้ทันสมัย โดยให้จัดทำแผน PDP 2020 ขึ้นในปี 2564 ที่สอดคล้องกับการผลิตและความต้องการใช้ไฟฟ้า รวมทั้งต้องจัดทำโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงเป็นรายภูมิภาคและมีโรงไฟฟ้าขนาดเล็กและขนาดกลางเสริมไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงในระดับภูมิภาคอีกทางหนึ่ง
4.กำหนดให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน( กกพ.) เสนอ คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) และคณะรัฐมนตรี(ครม.)เพื่อขอความเห็นชอบการยกเว้นนโยบาย Enhancing Single Buyerเพื่อให้ผู้สนใจเข้าร่วมทดลองและทดสอบเทคโนโลยีและนวัตกรรมด้านพลังงานได้จริงโดยไม่มีอุปสรรคด้านกฎหมายและระเบียบเป็นอุปสรรคโดยให้ดำเนินภายใต้โครงการERC Sandbox ของกกพ.ที่จะเปิดให้ทดสอบระบบการซื้อขายไฟฟ้าเสมือนจริง โดยเอกชนรายอื่นสามารถเป็นผู้รับซื้อไฟฟ้าได้ และการส่งเสริมติดตั้งโซลาร์รูฟอย่างเสรีเต็มรูปแบบภายในปี 2564 ซึ่งจะเป็นการเพิ่มการแข่งขันในกิจการไฟฟ้าเสรี
5.เปลี่ยนการจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เป็นการปรับปรุงหน่วยงานเดิมที่มีอยู่เพื่อรองรับภารกิจด้านการสื่อสารและการวิเคราะห์ข้อมูลให้ครอบคลุมมากขึ้น โดยอยู่ภายใต้สังกัด สนพ.
นายพรชัย รุจิประภา ประธานกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน กล่าวว่า คณะกรรมการฯ เห็นด้วยกับภาครัฐที่ส่งเสริมเชื้อเพลิงชีวภาพและพืชพลังงานทั้งไฟฟ้าและน้ำมัน ซึ่งจะเป็นการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ผ่านการกระตุ้นราคาสินค้าเกษตร โดยหากใช้พืชพลังงานได้ 10% จะช่วยสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจได้ถึง 1.3 แสนล้านบาทต่อปี จากมูลค่าพลังงานมีสัดส่วนถึง 16% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ(GDP) ที่มีมูลค่า 16.7 ล้านล้านบาท
ทั้งนี้หลังจากรับฟังความคิดเห็นครบ 4 ครั้งแล้ว คณะกรรมการฯ จะรวบรวมข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อปรับปรุงแผนฯให้สมบูรณ์ และนำเสนอต่อ ครม.พิจารณาภายในเดือนมี.ค. 2563 และรายงานรัฐสภารับทราบ ภายในเดือน เม.ย.2563 ก่อนผลักดันสู่ภาคการปฏิบัติต่อไป