“กุลิศ”นั่งหัวโต๊ะศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน รับมือพายุโซนร้อน “ปาบึก”

342
- Advertisment-

“กุลิศ”นั่งหัวโต๊ะศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน รับมือ สถานการณ์พายุโซนร้อน “ปาบึก” ที่ส่งผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทย โดยกระทรวงพลังงานออกแถลงการณ์ฉบับที่2  ยังไม่มีการหยุดผลิตก๊าซในอ่าวไทยเพิ่มเติม คาดพายุพัดผ่านแท่นผลิตบงกช ในเวลา 04:00 น. ของวันที่ 4 ม.ค.2562 ในขณะที่เรือขนส่งLNG เทียบท่ามาบตาพุดแล้ว พร้อมจ่ายก๊าซทดแทนก๊าซจากแหล่งบงกชเหนือ ที่ลดกำลังการผลิตลง600ล้านลบ.ฟุตต่อวัน  จาก2,400ล้านลบ.ฟุตต่อวัน พร้อมเตรียมการสำรองน้ำมันเตาและน้ำมันดีเซล รวมทั้งเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากสปป.ลาว มั่นใจ ไม่กระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าของประเทศ

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน(Energy News Center –ENC) รายงานถึงความคืบหน้าของการรับมือสถานการณ์พายุโซนร้อนปาบึก (PABUK) ที่จะมีผลต่อการผลิตปิโตรเลียมในทะเลอ่าวไทย ว่า  กระทรวงพลังงานได้มีการจัดตั้งศูนย์เฝ้าระวังสถานการณ์ฉุกเฉินด้านพลังงาน โดยจะหารือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อติดตามและรายงานสถานการณ์อย่างใกล้ชิด  แล้วโดยมีนายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธาน  พร้อมกันนี้ยังได้ออกแถลงการณ์กระทรวงพลังงาน ฉบับที่2 เมื่อ วันที่ 3 มกราคม 2562 เวลา 16.00 น. เพื่อแจ้งความคืบหน้าให้ประชาชนที่ติดตามสถานการณ์ได้รับทราบว่า  ปัจจุบันมีการอพยพเจ้าหน้าที่แล้ว 2,635 คน และเหลือปฏิบัติหน้าที่อยู่ 246 คน การอพยพของเจ้าหน้าที่แต่ละบริษัทเป็นไปโดยสวัสดิภาพ โดยพายุอยู่ห่างจากแท่นบงกชประมาณ 500 km คาดว่าจะผ่านแท่นในเวลา 04:00 น. ของวันที่ 4 ม.ค.62

ด้านการผลิตก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ขณะนี้ยังไม่มีการหยุดผลิตเพิ่มเติม ข้อมูลล่าสุด ก๊าซธรรมชาติลดลงในปริมาณเท่าเดิมที่ 600 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วันจากการหยุดผลิตของแหล่งบงกชเหนือ (แหล่งบงกชใต้ หยุดซ่อมบำรุงตั้งแต่ช่วงเดือนธันวาคม)   และน้ำมันดิบลดลงอยู่ที่ 27,000 บาร์เรล/วัน อย่างไรก็ตาม ในส่วนของแหล่งก๊าซธรรมชาติไพลินเหนือสามารถกลับมาผลิตได้อีกครั้งเร็วกว่าแผนหลังจากหยุดซ่อมบำรุง ทำให้มีก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยเข้าระบบมากขึ้น รวมถึงในส่วนของก๊าซ LNG มีความพร้อมจ่ายได้สูงสุด 1,400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และในวันนี้เรือขนส่ง LNG ได้เข้าเทียบท่าที่มาบตาพุดแล้ว ซึ่งจะสามารถส่งก๊าซ LNG เข้าระบบได้ เมื่อรวมกับ Inventory มีปริมาณ 10,800 ล้านลูกบาศก์ฟุต (ทั้งนี้เรือลำถัดไปจะเทียบท่าในวันที่ 7 ม.ค. 62) ทำให้ปริมาณสำรอง LNG มีมากเพียงพอในการรองรับสถานการณ์การหยุดผลิตจากพายุ รวมถึงสามารถจัดสรรก๊าซธรรมชาติให้กับภาคไฟฟ้า ภาคอุตสาหกรรม และ NGV ได้ตามแผน

- Advertisment -

ส่วนด้านไฟฟ้านั้น  การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) มีมาตรการเฝ้าระวังสถานการณ์ทั้งในส่วนของสถานีผลิตไฟฟ้าและระบบส่ง และสำรองจากเชื้อเพลิงอื่นเพิ่มมากขึ้น ทั้งน้ำมันดีเซล และน้ำมันเตาเพื่อให้สามารถผลิตไฟฟ้าได้อย่างเพียงพอ รวมถึงการนำเข้าไฟฟ้าพลังน้ำจาก สปป.ลาว ในปริมาณสูงสุด นอกจากนี้ได้มีการประสานกับประเทศมาเลเซียเพื่อขอซื้อไฟฟ้าในกรณีฉุกเฉิน และจัดเตรียมอุปกรณ์หนักสำหรับแก้ไขปัญหาหากระบบผลิตและระบบส่งไฟฟ้าได้รับความเสียหายจากพายุ

สำหรับด้านน้ำมันเชื้อเพลิงและก๊าซหุงต้ม กระทรวงพลังงานได้สั่งการให้ผู้ค้าน้ำมัน สำรองน้ำมันและจัดส่งให้เพียงพอ โดยเฉพาะในพื้นที่ที่อาจได้รับผลกระทบจากสถานการณ์พายุ ในส่วนของก๊าซหุงต้มมีปริมาณเพียงพอสำหรับการใช้ของประชาชน

Advertisment