การผลิตไฟฟ้าที่มั่นคง ไม่เพียงส่งผลแค่มีไฟฟ้าพอใช้ แต่หมายถึงเศรษฐกิจภาพใหญ่ของประเทศ

1191
- Advertisment-

เมื่อพลังงาน เป็นอีกปัจจัยหลัก ผลักดันเศรษฐกิจของประเทศ

ปัจจุบันภาวะเรือนกระจก ภาวะโลกร้อนส่งผลกระทบต่อการใช้ชีวิตของพวกเราทุกคน รวมถึงพลังงานซึ่งถือเป็นปัจจัยพื้นฐานสำคัญในการใช้ชีวิต เห็นได้ว่าในทุก ๆ ปี โลกของเราจะต้องเผชิญกับวิกฤตขาดแคลนพลังงาน  ทิศทางพลังงานโลกจึงมุ่งเปลี่ยนผ่านสู่พลังงานสะอาดเพื่อแก้ปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ช่วยรักษาสมดุลทางธรรมชาติไม่ให้ถูกทำลายจากก๊าซพิษต่าง ๆ ที่ทำให้เกิดสภาวะโลกร้อน ช่วยลดผลกระทบต่อระบบนิเวศ และยกระดับคุณภาพชีวิตความเป็นอยู่และสุขภาพของผู้คนให้ดีขึ้นในระยะยาว รวมถึงกระตุ้นการลงทุนให้เกิดการหมุนเวียนทางเศรษฐกิจของประเทศ  ตามแผนการดำเนินงานของกระทรวงพลังงานปี 2566 การเลือกใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานหมุนเวียนมีความสำคัญต่อการพัฒนาเศรษฐกิจควบคู่ไปกับการรักษาสิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

ประเทศเพื่อนบ้าน เผชิญวิกฤตพลังงาน 

- Advertisment -

ล่าสุดสถานการณ์ของประเทศเพื่อนบ้านอย่างประเทศเวียดนาม ที่กำลังเผชิญวิกฤตพลังงานไฟฟ้าขาดแคลนอย่างหนักมาตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา และส่อแววยืดเยื้อ ถึงขั้นต้องประกาศเวียนดับไฟฟ้าทั่วประเทศเพื่อรับมือกับความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้น โดยบางพื้นที่อาจต้องดับไฟฟ้านานกว่า 7 ชั่วโมง สะท้อนถึงปัญหาความมั่นคงระบบไฟฟ้าและคุณภาพไฟฟ้าของเวียดนามที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิต ความเชื่อมั่นของนักลงทุน และเศรษฐกิจของประเทศ  ปัญหาหลักคือทรัพยากรที่นำมาใช้ในการผลิตไฟฟ้าขาดแคลน และการบริหารจัดการพลังงานหมุนเวียน ที่มีกำลังผลิตติดตั้งถึง 27% ของกำลังผลิตไฟฟ้าทั้งหมด แต่สามารถผลิตไฟฟ้าได้จริงราว 13% เนื่องจากสามารถผลิตไฟฟ้าได้เฉพาะบางช่วงเวลาเท่านั้น ตัวอย่างเช่น การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์มีเพียงพอต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าเฉพาะในช่วงกลางวันเท่านั้น แต่ไม่สามารถกักเก็บไว้จ่ายไฟฟ้าในช่วงที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงหรือช่วงที่ขาดแคลนไฟฟ้าได้ เช่นเดียวกับการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานลมที่สามารถผลิตไฟฟ้าได้ดีที่สุดในช่วงเดือนธันวาคม-กุมภาพันธ์ ทำให้เวียดนามยังต้องเผชิญความเสี่ยงขาดแคลนไฟฟ้าแม้จะมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนจำนวนมากอยู่ในระบบ และปฏิเสธไม่ได้ว่าการพึ่งพาการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังน้ำและโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนจากถ่านหินและก๊าซธรรมชาติยังมีความจำเป็น วิกฤตขาดแคลนพลังงานไฟฟ้าในเวียดนามกลายเป็นกรณีศึกษาที่บ่งชี้ว่า การบริหารจัดการระบบไฟฟ้าที่มุ่งเน้นที่ค่าไฟฟ้าในระดับต่ำที่สุดเพียงอย่างเดียวอาจไม่ใช่คำตอบของนักลงทุน เพราะการขาดแคลนไฟฟ้าเพียงไม่กี่ชั่วโมงสามารถสร้างความเสียหายทางธุรกิจอย่างมหาศาล

ไม่ใช่แค่มีไฟฟ้าใช้ แต่สร้างความเชื่อมั่นและมั่นใจให้เศรษฐกิจไทยเดินหน้าอย่างมีเสถียรภาพ

สำหรับประเทศไทยเอง ก็ได้มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ในการผลิตไฟฟ้ามากขึ้น เดินหน้าบริหารจัดการพลังงาน เพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ที่จะบรรลุเป้าหมาย 5,325 เมกะวัตต์ ในปี ค.ศ. 2037 โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้าด้วยโซลาร์เซลล์ลอยน้ำแบบไฮบริด (Hydro-Floating Solar Hybrid)  มีโครงการที่แล้วเสร็จคือ เขื่อนสิรินธร จ.อุบลราชธานี กำลังผลิต 45 เมกะวัตต์ และยังมีการพัฒนาเพิ่มเติมอีก 9 เขื่อน 16 โครงการ กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ (MW) พร้อมระบบควบคุมเพื่อให้เกิดความมั่นคงในการผลิตไฟฟ้า ไม่ว่าจะเป็นระบบ BESS ระบบกักเก็บพลังงานเพื่อเพิ่มเสถียรภาพการผลิตไฟฟ้า ช่วยลดความผันผวนในระบบที่เกิดจากพลังงานหมุนเวียน และการจัดตั้งศูนย์พยากรณ์การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน (RE Forecast) สามารถพยากรณ์กำลังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนได้ทุก ๆ ครึ่งชั่วโมงจนถึงอีก 7 วันข้างหน้า ทำให้สามารถบริหารจัดการการผลิตไฟฟ้าจากโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนควบคู่กับโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงอื่น ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น โดย กฟผ. ตั้งเป้าจัดตั้ง RE Forecast Center 17 แห่งทั่วประเทศ แบ่งเป็นระดับภูมิภาค 6 แห่ง และระดับพื้นที่ที่มีศักยภาพของพลังงานหมุนเวียนตามสถานีไฟฟ้าแรงสูงอีก 11 แห่ง คาดว่าจะเปิดใช้งานอย่างเป็นทางการได้ในปี 2567

นอกจากนี้ยังตั้งเป้าใช้เชื้อเพลิงไฮโดรเจนในการผลิตพลังงานไฟฟ้าในปี ค.ศ. 2044 โดยคาดว่าจะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากเชิ้อเพลิงไฮโดรเจนได้ 66,000 ล้านหน่วย ภายในปี ค.ศ. 2050 และแผน Grid Modernization เพื่อปรับปรุงพัฒนาระบบส่งไฟฟ้า โดยอาศัยเทคโนโลยีที่ทันสมัย เพื่อใช้ในการเปลี่ยนแปลงระบบไฟฟ้าให้สามารถจัดการ ควบคุม และดำเนินงานได้อย่างมั่นคงเชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและความยืดหยุ่น รวมทั้งเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ผลักดันเมืองต้นแบบด้านพลังงานสะอาด ควบคู่การพัฒนาโครงข่ายระบบไฟฟ้ารองรับการเพิ่มขึ้นของพลังงานสีเขียว ส่งจ่ายไฟฟ้าได้อย่างมั่นคง ด้วยคุณภาพไฟฟ้าของไทยที่อยู่ในเกณฑ์ดีกว่าเป้าหมาย สอดคล้องกับผลสำรวจไฟฟ้าคุณภาพจาก World Bank ที่เผยค่าเฉลี่ยความถี่ที่ไฟฟ้าดับ (SAIFI) และค่าเฉลี่ยระยะเวลาไฟฟ้าดับ (SAIDI) อยู่ในเกณฑ์สูงกว่าเป้าหมายมาโดยตลอด และอันดับความน่าเชื่อถือที่ระดับ BBB+ (Fitch Ratings) ตอกย้ำความเชื่อมั่นของนักลงทุน  ช่วยเพิ่มขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศเพื่อให้ประเทศไทยเป็นเป้าหมายหลักในภูมิภาคอาเซียนของนักลงทุนต่างชาติ พร้อมยกระดับความเป็นอยู่ของคนไทยอย่างยั่งยืน

Advertisment