กัลฟ์ ร่วมกับ กระทรวง ทส. และภาคีเครือข่ายลงนามร่วมมือจัดการขยะทะเล

370
- Advertisment-

กัลฟ์ ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและภาคีเครือข่ายลงนามความร่วมมือในการแก้ปัญหาและเดินหน้าจัดการขยะทะเลในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ โดยนำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล

เนื่องในวันทะเลโลก ประจำปี 2565 บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ร่วมกับ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ลงนามบันทึกข้อตกลงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ณ สวนสาธารณะลานโลมา ชายหาดป่าตอง จ.ภูเก็ต โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ สมาคมบริษัทจดทะเบียนไทย ปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะทะเลจากปลายทางไปสู่การจัดการขยะจากต้นทาง และมุ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกมากขึ้น โดยเริ่มจากการให้ภาคเอกชนที่มีความพร้อมเข้ามามีส่วนร่วมในการดำเนินกิจกรรมหรือภารกิจของภาครัฐตามหลักการของการเป็นภาครัฐที่เปิดกว้าง เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เดินหน้าสู่ภารกิจการจัดการขยะทะเลในประเทศไทยให้เป็นศูนย์

นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาประเทศไทยได้ให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการขยะอย่างครบวงจรทั้งขยะบนบกและขยะทะเล ในส่วนของรัฐบาลก็ได้กำหนดให้ปัญหาขยะมูลฝอย และขยะทะเลเป็นวาระแห่งชาติในการร่วมกันบริหารจัดการขยะในประเทศ และมีแผนบริหารจัดการขยะอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งระยะสั้น ระยะกลาง และระยะยาว ภายใต้ Roadmap การจัดการขยะพลาสติก (พ.ศ.2561 – 2573) โดยตนได้มอบหมายนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กำชับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการจัดการขยะในประเทศไทยให้เป็นศูนย์ โดยร่วมมือกับภาคีเครือข่าย

- Advertisment -

ดังเช่นวันที่ 8 มิ.ย.65 ถือเป็นวันทะเลโลก ซึ่งจัดขึ้นภายใต้แนวคิด “รวมพลังฟื้นฟู กอบกู้มหาสมุทร” โดยมีพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเล โดยการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ นำร่อง 5 ปากแม่น้ำสายหลัก ระหว่างกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมควบคุมมลพิษ และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม กับสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ และสมาคม บริษัทจดทะเบียนไทย เพื่อตระหนักถึงความเร่งด่วนในการแก้ไขปัญหาขยะทะเล

โดยดำเนินการลดปริมาณขยะในแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ในบริเวณปากแม่น้ำโดยเร็ว ทั้งนี้ แม้ว่าที่ผ่านมา กระทรวง ทส. ได้ระดมทรัพยากร และเร่งดำเนินการอย่างเต็มความสามารถมาโดยตลอด แต่เมื่อพิจารณาถึงหลักการของการแก้ไขปัญหาดังกล่าว จะต้องอาศัยความรับผิดชอบร่วมกันของทุกภาคส่วนในสังคม ดังนั้น คงจะดีมากกว่า หากภาคีเครือข่ายสามารถเข้ามามีส่วนร่วมในขอบเขตที่กว้างและเข้มข้นขึ้น มากกว่าการบริจาคเงินทุนในการทำกิจกรรมเพื่อสังคม

โดยสามารถร่วมดำเนินกิจกรรมต่างๆ กับหน่วยงานภาครัฐ เช่น การจัดหาและบริหารจัดการเครื่องมือดักขยะบริเวณปากแม่น้ำ การสนับสนุนเทคโนโลยีหรือนวัตกรรม และการจัดกิจกรรมร่วมกับชุมชนในพื้นที่ โดยบันทึกความเข้าใจฯ ฉบับนี้จัดทำขึ้นเพื่อส่งเสริม ประสานความร่วมมือ และร่วมกันผลักดันการดำเนินงานตามโครงการฯ ให้บรรลุผลสำเร็จตามวัตถุประสงค์ โดยมีกำหนดระยะเวลา 5 ปี นับตั้งแต่วันที่ลงนามในบันทึกความเข้าใจฯ เป็นต้นไป

ด้านนายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวเสริมว่า จากความร่วมมือของภาคีเครือข่ายในครั้งนี้ ถือเป็นจุดเริ่มต้นครั้งสำคัญที่จะได้นำนวัตกรรมอย่างทุ่นกักขยะ (Boom) เข้ามามีบทบาทในการจัดการแก้ไขปัญหาขยะในแหล่งน้ำโดยนำร่องบริเวณพื้นที่ 5 ปากแม่น้ำสายหลักที่ไหลลงสู่ทะเล ได้แก่ ปากแม่น้ำบางปะกง ปากแม่น้ำเจ้าพระยา ปากแม่น้ำท่าจีน ปากแม่น้ำแม่กลอง และปากแม่น้ำบางตะบูน เพื่อแก้ไขปัญหาขยะทะเล ปรับเปลี่ยนระบบการจัดการขยะทะเลจากปลายทางไปสู่การจัดการขยะจากต้นทาง และมุ่งให้ทุกภาคส่วนเข้ามามีส่วนร่วมเชิงรุกมากขึ้น 

อย่างไรก็ตาม กระทรวง ทส. ได้มุ่งมั่นในการที่จะแก้ไขและลดปัญหาขยะทะเลมาอย่างต่อเนื่อง ที่ผ่านมาได้ดำเนินการบริหารจัดการแก้ไขปัญหาด้านขยะให้เป็นไปตามมาตรฐานทางวิชาการ ให้ข้อเสนอแนะ และสนับสนุนข้อมูลด้านเทคนิควิชาการ องค์ความรู้ต่างๆ รวมทั้งประสานความร่วมมือและส่งเสริมกระบวนการมีส่วนร่วมกับภาคีเครือข่าย ภาครัฐ เอกชน กลุ่มอุตสาหกรรม เครือข่ายภาคประชาชน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ตลอดจนรณรงค์ประชาสัมพันธ์สร้างความรู้ความเข้าใจ และสร้างกระแสให้สังคมมีส่วนร่วมในการลดปริมาณขยะ เพื่อนำไปสู่การบรรลุเป้าหมายในการขจัดปัญหาขยะทะเลอย่างยั่งยืนสืบไป 

นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ กรรมการด้านความยั่งยืน กำกับดูแลกิจการ และบริหารความเสี่ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารฝ่ายการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF กล่าวว่า GULF ให้ความสำคัญกับการสร้างความยั่งยืนต่อโลกในทุกมิติ ดังนั้นบริษัทฯ จึงเข้าไปมีส่วนร่วมในโครงการต่างๆ ที่มุ่งหวังให้เกิดความตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการเปลี่ยนแปลงในเชิงบวกมากยิ่งขึ้น และในปัจจุบัน GULF เล็งเห็นถึงปัญหาปริมาณขยะมูลฝอยและขยะทะเลที่มีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้น เป็นผลมาจากขยะประเภทต่างๆ โดยเฉพาะขยะพลาสติกที่ไม่ได้รับการบริหารจัดการอย่างถูกต้อง การผนึกกำลังร่วมกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง รวมถึงภาคเอกชน เพื่อนำเอาความเชี่ยวชาญของแต่ละภาคส่วนมาร่วมมือกันสร้างสรรค์นวัตกรรมจัดการขยะที่มีประสิทธิภาพและสามารถแก้ปัญหาขยะทะเลได้อย่างยั่งยืน จึงเป็นอีกหนึ่งภารกิจที่ตอกย้ำความมุ่งมั่นของ GULF ที่ดำเนินธุรกิจเพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายภาครัฐและทิศทางพลังงานโลกที่มีเป้าหมายลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกซึ่งเป็นต้นเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน


การผนึกกำลังระหว่างหน่วยงานภาครัฐและภาคีเครือข่าย ถือเป็นการบูรณาการการทำงานร่วมกัน และนำนวัตกรรมเทคโนโลยีสมัยใหม่มาปรับใช้ให้เกิดประโยชน์ และเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการปัญหาขยะทะเล ซึ่งภายหลังจากที่หน่วยงานได้มีการลงนามในบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือแก้ไขปัญหาขยะทะเลฯ แล้ว มีการลงนามในบันทึกแสดงเจตจำนงว่าด้วยความร่วมมือในการจัดการขยะทะเลโดยการมีส่วนร่วม ของทุกภาคส่วนในบริเวณปากแม่น้ำ จำนวน 6 บริษัท ได้แก่ บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) บริษัท ปตท. น้ำมันและการค้าปลีก จำกัด (มหาชน) บริษัท ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บริษัท ปูนซิเมนต์ไทย จำกัด (มหาชน) และบริษัท พีทีที โกลบอล เคมิคอล จำกัด (มหาชน)

โดยทั้ง 6 บริษัท จะร่วมมือกับหน่วยงานใน MOU ในการดำเนินโครงการติดตั้งทุ่นกักขยะ (Boom) และการบริหารจัดการที่เกี่ยวข้องในบริเวณปากแม่น้ำสายหลักบริเวณอ่าวไทยตอนบน เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างภาครัฐ กับภาคเอกชน ในการแก้ไขปัญหาขยะทะเลและลดผลกระทบจากขยะทะเลต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมต่อไป

Advertisment