กองทุนน้ำมันฯ กลับมาติดลบแตะ 1 แสนล้านบาท รอบ 2 พร้อมเบิกเงินกู้ทั้งหมดเสริมสภาพคล่องแล้ว จับตา กบน. อาจปรับราคาดีเซลอีกรอบ

399
N4431
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ติดลบแตะ 1 แสนล้านบาท เป็นครั้งที่ 2 นับจากที่เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 แม้ขยับราคาดีเซลขึ้น 50 สตางค์ต่อลิตรไปแล้ว แต่กองทุนฯ ยังต้องชดเชยราคาอยู่อีก 4.57 บาทต่อลิตร หรือ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน ส่งผลกระทบสภาพคล่องหนักขึ้น จนต้องเริ่มดึงเงินกู้ในธนาคารที่เหลือออกมาใช้หมด จับตา กบน. อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลอีกครั้ง

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center – ENC) รายงานว่า หลังจากคณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ประกาศปรับขึ้นราคาดีเซลรอบแรก 50 สตางค์ต่อลิตร ไปแล้วเมื่อวันที่ 6 เม.ย. 2567 ทำให้ราคาดีเซลจำหน่ายอยู่ที่ 30.44 บาทต่อลิตร แต่สถานการณ์กองทุนน้ำมันฯ ยังไม่ดีขึ้น ล่าสุดกองทุนฯ ติดลบแตะระดับ 1 แสนล้านบาทอีกครั้ง นับเป็นครั้งที่ 2 จากปี 2565 ที่กองทุนฯ ติดลบถึงหลักแสนล้านบาท โดยกองทุนฯ เคยติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ 1.3  แสนล้านบาท เมื่อปี 2565

ทั้งนี้สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ได้รายงานสถานะกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 7 เม.ย. 2567 ว่า กองทุนฯ ติดลบสุทธิรวม -101,606 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม -54,468 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,138 ล้านบาท

- Advertisment -

นอกจากนี้กองทุนฯ ยังได้เบิกเงินกู้จากสถาบันการเงินที่เหลือทั้งหมด 30,333 ล้านบาท ออกมาแล้วเพื่อเสริมสภาพคล่องกองทุนฯ หากต้องการขอกู้เพิ่มในอนาคตจะต้องได้รับการพิจารณาจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่ออนุมัติกรอบวงเงินกู้รวมใหม่อีกครั้ง

อย่างไรก็ตามเมื่อปี 2565 ครม. เคยอนุมัติกรอบวงเงินกู้ให้ 1.5 แสนล้านบาท ให้กู้ได้ภายใน 1 ปี (6 ต.ค. 2565-5 ต.ค. 2566) ซึ่งกองทุนฯ กู้จริงไป 105,333 ล้านบาท โดยเป็นการทยอยกู้เงิน และก่อนครบกำหนดเวลาดังกล่าว กองทุนฯ ได้ทำเรื่องกู้ครั้งสุดท้ายไว้กับสถาบันการเงินแต่ยังไม่เบิกเงินออกมา ซึ่งเหลืออยู่ 30,333 ล้านบาทนั่นเอง

แต่ล่าสุดกองทุนฯ จำเป็นต้องเบิกเงินกู้ทั้งหมด 30,333 ล้านบาทออกมาแล้ว เพื่อนำมาเป็นเงินหมุนเวียนเสริมสภาพคล่อง แม้ที่ผ่านมาจะปรับขึ้นราคาดีเซล 50 สตางค์ต่อลิตรแล้วก็ตาม แต่ราคาดีเซลตลาดโลกยังสูง ทำให้กองทุนฯ ยังต้องชดเชยราคาดีเซลอยู่อีก 4.57 บาทต่อลิตร จากผู้ใช้ดีเซลทั้งประเทศเกือบ 70 ล้านลิตรต่อวัน หรือประมาณ 9,000 ล้านบาทต่อเดือน

ดังนั้นมีความเป็นไปได้ที่คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง อาจพิจารณาปรับขึ้นราคาดีเซลอีกครั้ง เพื่อลดภาระกองทุนฯ และพยายามเร่งให้กองทุนฯ มีสถานะเงินรายวันกลับมาเป็นบวก เพื่อให้ทันต่อการนำไปชำระหนี้เงินต้นก้อนแรก 30,000 ล้านบาท ซึ่งจะครบกำหนดชำระในเดือน พ.ย. 2567 นี้

ขณะที่ทิศทางราคาน้ำมันตลาดโลกล่าสุด ณ วันที่ 10 เม.ย. 2567 เวลาประมาณ 14.00 น. ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ที่ระดับ 90.02 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ลดลง 0.72 เหรียญสหรัฐฯ ต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบเวสต์เท็กซัส (WTI) อยู่ที่ 85.52 เหรียญหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล  และราคาน้ำมันดิบเบรนท์ (BRENT) อยู่ที่ 89.71 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล เพิ่มขึ้น 0.29 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล

สำหรับในส่วนของค่าการตลาดน้ำมันที่ผู้ค้าได้รับ ในวันที่ 10 เม.ย. 2567 ซึ่งรายงานโดย สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) พบว่าค่าการตลาดดีเซลอยู่ที่ 1.71 บาทต่อลิตร ส่วนกลุ่มเบนซินยังสูงอยู่ที่ประมาณ 3-4 บาทต่อลิตร โดยเฉลี่ยค่าการตลาดน้ำมันตั้งแต่ 1-10 เม.ย. 2567 อยู่ที่ 2.06 บาทต่อลิตร  (จากค่าการตลาดที่ควรได้ 1.50-2 บาทต่อลิตร)

Advertisment