กองทุนน้ำมันฯ ส่อวิกฤติสภาพคล่องติดลบ 1 แสนล้านบาท อีกรอบ 2 มี.ค.นี้

514
- Advertisment-

กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ส่อวิกฤติสภาพคล่องทางการเงินอีกรอบ คาดเดือน มี.ค. 2567 อาจติดลบแตะ 1 แสนล้านบาทเป็นรอบที่ 2 ขณะที่เงินกู้ธนาคารถึงเวลาต้องเริ่มชำระเงินต้นในเดือน พ.ย. 2567 บีบให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) ต้องเร่งพิจารณาราคาดีเซลหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 30 บาทต่อลิตร สิ้นเดือน มี.ค. นี้ เนื่องจากเป็นต้นเหตุหลักทำเงินกองทุนไหลออกอย่างหนัก

ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center- ENC) รายงานว่า สถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง มีแนวโน้มจะติดลบแตะ 1 แสนล้านบาท ในเดือน มี.ค. 2567 นี้ ซึ่งจะเป็นการติดลบระดับ 1 แสนล้านบาทเป็นรอบที่ 2 หลังจากเคยติดลบสูงสุด 1.3 แสนล้านบาท เมื่อปี 2565 

ทั้งนี้เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ ประสบปัญหาเงินไหลออกถึงวันละประมาณ 278 ล้านบาท ซึ่งมาจากการชดเชยราคาดีเซลถึงวันละประมาณ 272 ล้านบาท และชดเชยราคาก๊าซหุงต้ม (LPG)   วันละประมาณ 63 ล้านบาท

- Advertisment -

โดยภาพรวมกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ( 18 ก.พ. 2567) ติดลบรวม 89,882 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบ 43,275 ล้านบาทและบัญชี LPG ติดลบ 46,607 ล้านบาท

นอกจากนี้ในเดือน พ.ย. 2567 กองทุนฯ จะครบกำหนดต้องชำระหนี้เงินต้นที่กู้งวดแรกมาประมาณ 3 หมื่นล้านบาท (จากปัจจุบันที่ชำระเพียงดอกเบี้ยเท่านั้น) ซึ่งจะส่งผลให้คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (กบน.) จะต้องเริ่มพิจารณาแนวทางการบริหารกองทุนฯ สำหรับชำระหนี้เงินต้นดังกล่าว

ดังนั้นเบื้องต้น กบน. จะต้องเร่งพิจารณาว่าจะดำเนินการอย่างไรกับราคาน้ำมันดีเซลหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา 30 บาทต่อลิตรในเดือน มี.ค. 2567 นี้ เนื่องจากการตรึงราคาดีเซลเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้กองทุนฯ ประสบปัญหาเงินไหลออกจำนวนมาก  โดยปัจจุบันกองทุนฯ ต้องชดเชยราคาดีเซลถึง 4.81 บาทต่อลิตร หรือ 272.48 ล้านบาทต่อวัน 

ปัจจุบันราคาน้ำมันดีเซลโลกยังทรงตัวระดับสูงอยู่ ประกอบกับกระทรวงการคลังให้การช่วยเหลือลดภาษีดีเซลเพียงแค่ 1 บาทต่อลิตร จากที่ผ่านมาเคยช่วยเหลือลดภาษีถึง 5 บาทต่อลิตร จึงทำให้กองทุนฯ ประสบปัญหาวิกฤติสภาพคล่องทางการเงินในขณะนี้

อย่างไรก็ตามกองทุนฯ ยังเหลือเงินที่สามารถเบิกจากสถาบันการเงินได้ 30,333 ล้านบาท เนื่องจากที่ผ่านมาได้ทำเรื่องขอกู้เงินไว้แล้วแต่ยังไม่ได้เริ่มเบิกออกมาใช้  ซึ่งมีแนวโน้มที่กองทุนฯ อาจต้องเบิกเงินกู้ดังกล่าวออกมาเพื่อเสริมสภาพคล่องทางการเงิน โดยนำมาจ่ายชำระหนี้คืนให้ผู้ค้าปิโตรเลียมประมาณ 2 หมื่นล้านบาท หลังจากนั้นกองทุนฯ จะเหลือเพียงหนี้เงินกู้ธนาคาร 75,500 ล้านบาทเท่านั้นที่ต้องทยอยชำระคืนต่อไป 

Advertisment