กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง ลุ้น ครม.ต่ออายุลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร ก่อนสิ้นสุดมาตรการ 20 ม.ค. 2566 นี้ หวังพยุงกองทุนน้ำมันฯ ที่ยังติดลบถึง 1.16 แสนล้านบาท ระบุเงินกู้ 3 หมื่นล้านบาทก้อนแรกหมดเกลี้ยง รอสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรรจุวงเงินเพิ่มตามกรอบที่ ครม. อนุมัติไว้ 1.5 แสนล้าน เพื่อทำเรื่องกู้ต่อ ด้าน คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) วันนี้สั่งปรับลดเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนฯ อีกรอบ หลังราคาน้ำมันโลกขยับขึ้น ตามนโยบายเปิดประเทศของจีนทำให้ความต้องการใช้น้ำมันโลกพุ่ง
ผู้สื่อข่าวศูนย์ข่าวพลังงาน (Energy News Center-ENC)รายงานว่า ในวันที่ 17 ม.ค. 2566 คณะรัฐมนตรี(ครม.) จะมีการประชุมพิจารณาเกี่ยวกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันดีเซล เนื่องจากมาตรการลดภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร จะสิ้นสุดในวันที่ 20 ม.ค. 2566 นี้ โดยสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยังต้องการให้กระทรวงการคลังช่วยต่อเวลาลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรออกไปก่อน เนื่องจากสถานะกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงโดยรวมยังติดลบสูงถึง 1.16 แสนล้านบาท ประกอบกับแนวโน้มราคาน้ำมันโลกยังผันผวน เพราะจีนเปิดประเทศส่งผลให้ความต้องการใช้น้ำมันเพิ่มขึ้น และทำให้ราคาปรับสูงขึ้นในช่วงนี้
โดยสถานะกองทุนน้ำมันฯ ล่าสุด ณ วันที่ 15 ม.ค. 2566 กองทุนฯ ติดลบสุทธิ 116,883 ล้านบาท โดยมาจากการนำเงินไปอุดหนุนราคาน้ำมัน 72,089 ล้านบาท และอุดหนุนราคาก๊าซหุงต้ม(LPG) 44,794 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามการที่ราคาน้ำมันโลกขยับสูงขึ้น ส่งผลให้ล่าสุด คณะกรรมการบริหารกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(กบน.) ได้เปิดประชุมในวันที่ 16 ม.ค. 2566 อีกครั้งเพื่อปรับลดการเรียกเก็บเงินผู้ใช้ดีเซลเข้ากองทุนฯ จาก 4.81 บาทต่อลิตร เหลือ 4.64 บาทต่อลิตร เพื่อเป็นการชดเชยค่าการตลาดให้ผู้ค้าดีเซล เพราะไม่ต้องการให้ผู้ค้าน้ำมันปรับขึ้นราคาดีเซลเกิน 35 บาทต่อลิตร โดยค่าการตลาดผู้ค้าน้ำมันดีเซล ณ วันที่ 16 ม.ค. 2566 (รายงานโดยสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน หรือ สนพ.) อยู่ที่ 1.23 บาทต่อลิตร ต่ำกว่าที่ภาครัฐขอความร่วมมือให้คงค่าการตลาดไว้ที่ 1.40 บาทต่อลิตร
และหากกรณี ครม. ต่ออายุการลดภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตรอีกครั้ง จะส่งผลดีให้กองทุนฯ ยังคงมีเงินไหลเข้าแบบรายวันได้ต่อไป แต่หากกระทรวงการคลังกลับมาเก็บภาษีดีเซล 5 บาทต่อลิตร หรือ ปรับลดภาษีดีเซลเพียงแค่ 3 บาทต่อลิตร จะมีผลกระทบต่อฐานะกองทุนฯ ทันที เนื่องจากกองทุนฯ ต้องนำเงินไปชดเชยอัตราภาษีดีเซลที่ถูกปรับขึ้น เพื่อไม่ให้ราคาน้ำมันดีเซลขายปลีกขยับสูงขึ้น และจะส่งผลให้กองทุนฯ กลับมามีสถานะติดลบรายวันอีกครั้ง จากปัจจุบันที่กองทุนฯ เริ่มกลับมามีรายรับรายวันเป็นบวกตั้งแต่ต้นปี 2566
โดยปัจจุบันกองทุนฯ เริ่มมีเงินไหลเข้าวันละ 300 กว่าล้านบาท ซึ่งมาจากการเก็บเงินผู้ใช้น้ำมันเข้ากองทุนฯ ได้วันละ 359 ล้านบาท และมีรายจ่ายจากการชดเชยราคา LPG วันละ 26.21 ล้านบาท แต่ภาระหนี้กองทุนฯ ที่ต้องจ่ายปกติให้ผู้ค้าปิโตรเลียมประจำวันสูงถึง 1.1 แสนล้านบาท ดังนั้นกองทุนฯ จำเป็นต้องมีเงินหมุนเวียนเพื่อบริหารสภาพคล่องในแต่ละวัน โดยเงินกู้จากสถาบันการเงิน 30,000 ล้านบาทที่ผ่านมา ได้เข้ามาช่วยเสริมสภาพคล่องทางการเงินให้กองทุนฯ ได้ส่วนหนึ่ง ซึ่งขณะนี้กองทุนฯ ได้ใช้เงินดังกล่าวไปหมดแล้ว ดังนั้นกองทุนฯ จึงยังต้องการเงินกู้เพื่อเสริมสภาพคล่องรายวันต่ออีก
อย่างไรก็ตามกองทุนฯ ต้องรอให้ สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.) บรรจุวงเงินหนี้สาธารณะให้กองทุนฯ เพิ่มเติมจาก 30,000 ล้านบาทที่ใช้หมดไปแล้ว เพื่อให้กองทุนฯ นำกรอบวงเงินที่ สบน.บรรจุเพิ่ม ไปขอกู้เงินจากสถาบันการเงินต่อไปได้ โดย สกนช.คาดว่าจะได้รับการบรรจุวงเงินภายใน 1-2 สัปดาห์นี้
สำหรับภาพรวมการกู้เงินของ สกนช. เข้ากองทุนฯ นั้น เป็นการกู้เงินตามมติคณะรัฐมนตรี(ครม.) ที่ได้ผ่านความเห็นชอบกฎหมายที่ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันเงินกู้วงเงิน 1.5 แสนล้านบาท โดยกำหนดกรอบวงเงินกู้ไว้ 1.7 แสนล้านบาท แต่กู้ได้สูงสุดเพียง 1.5 แสนล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี นับจากวันที่ 6 ต.ค.2565-5 ต.ค. 2566 แต่ทั้งนี้ต้องให้ สบน. บรรจุเป็นหนี้สาธารณะในแต่ละครั้งก่อน จากนั้น สกนช.จึงจะทำเรื่องขอกู้กับสถาบันการเงินได้