กองทุนน้ำมันฯ ยืนยัน พ.ย. นี้ พร้อมจ่ายหนี้เงินต้นคืนแบงค์แน่นอน หลังบริหารเงินจนมีรายรับเข้า 2,733 ล้านบาทต่อเดือน

298
- Advertisment-

สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) มั่นใจมีเงินเพียงพอจ่ายหนี้เงินต้นที่กู้มาได้แน่นอน หลังรายรับเริ่มเป็นบวก 88.15 ล้านบาทต่อวัน หรือ 2,733 ล้านบาทต่อเดือน ตั้งแต่ ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา ระบุจะเริ่มทยอยจ่ายหนี้ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน นับตั้งแต่ พ.ย. 2567 นี้ วางแผนจ่ายคืนหมด  105,333 ล้านบาท ภายในปี 2571-2572 ตามสัญญา  ผอ. สกนช. ยืนยันกองทุนฯ มีประโยชน์ช่วยพยุงราคาน้ำมันและ LPG ตลอด 4 ปีที่เผชิญวิกฤติพลังงานและเศรษฐกิจตกต่ำ เตรียมส่งไม้ต่อให้ ผอ. สกนช.คนใหม่ หลังหมดวาระงาน 16 ส.ค. 2567 นี้

นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง เปิดเผยว่า สำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง (สกนช.) ยืนยันว่ากองทุนฯ มีเงินจ่ายหนี้เงินต้นที่กู้มาจากสถาบันการเงินอย่างแน่นอน โดยจะเริ่มทยอยจ่ายตั้งแต่เดือน พ.ย. 2567 เป็นต้นไป เนื่องจากปัจจุบันกองทุนฯ มีรายรับวันละ 88.15 ล้านบาทต่อวัน หรือ 2,733 ล้านบาทต่อเดือน ซึ่งมาจากการเรียกเก็บเงินจากผู้ใช้น้ำมันกลุ่มเบนซิน-แก๊สโซฮอล์ 81.76 ล้านบาทต่อวัน และรายรับจากโรงแยกก๊าซ 39.87 ล้านบาทต่อวัน ส่วนเงินต้นที่ต้องทยอยจ่ายคืนอยู่ที่ประมาณ 1,000 ล้านบาทต่อเดือน

โดยที่ผ่านมากองทุนฯ กู้เงินรวม 105,333 ล้านบาท เป็นการทยอยกู้ครั้งละ 5,000-10,000 ล้านบาท และที่ผ่านมาได้จ่ายดอกเบี้ยทุกเดือนประมาณ 150-200 ล้านบาทต่อเดือน ส่วนเงินต้นจะเริ่มจ่ายคืนตามสัญญาภายใน 2 ปี และมีกรอบสิ้นสุดระยะเวลาคืนหนี้ภายใน 5 ปี ดังนั้นเงินกู้ทั้งหมด 105,333 ล้านบาทจะต้องคืนครบภายในปี 2571-2572

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามกองทุนฯ เพิ่งจะเริ่มมีรายรับเป็นบวกเมื่อเดือน ก.ค. 2567 ที่ผ่านมา และคาดว่าระยะเวลาที่เหลือก่อนจะถึงเดือน พ.ย. 2567 กองทุนฯ น่าจะยังมีเงินไหลเข้าต่อเนื่อง เพราะพิจารณาว่าสถานการณ์สงครามในต่างประเทศจะกระทบเพียงแค่ระบบโลจิสติกส์มากกว่าราคาน้ำมัน และราคาน้ำมันดีเซลอ้างอิงตลาดสิงคโปร์น่าจะอยู่ที่ระดับ 100 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ส่วนน้ำมันดิบดูไบเฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 80 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ซึ่งใกล้เคียงกับสถานการณ์ปัจจุบันที่กองทุนฯ ยังสามารถบริหารจัดการให้มีรายรับเป็นบวกได้ในแต่ละวัน

ทั้งนี้กรณีที่รัฐบาลกำหนดตรึงราคาดีเซลไว้ไม่เกิน 33 บาทต่อลิตร ซึ่งจะไปสิ้นสุดในเดือน ต.ค. 2567 นี้ ภาครัฐจะไม่ปรับลดราคาดีเซลลงต่ำกว่า 33 บาทต่อลิตร เนื่องจากจะกระทบต่อรายรับกองทุนฯ ทันที ทำให้กองทุนฯ ต้องนำเงินออกไปชดเชยราคาดีเซลเพิ่มขึ้น ส่วนนโยบายดูแลราคาดีเซลหลังสิ้นสุดมาตรการตรึงราคา คงต้องรอทิศทางการบริหารจากผู้อำนวยการ สกนช. คนใหม่ก่อน ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหา ผอ. สกนช. โดยคาดว่าจะรู้ผลประมาณเดือน ต.ค. 2567 เนื่องจาก ผอ.สกนช.คนปัจจุบันจะสิ้นสุดวาระงานในวันที่ 16 ส.ค. 2567 นี้

โดยปัจจุบันสถานะกองทุนฯ ล่าสุด ณ วันที่ 28 ก.ค. 2567 ยังติดลบรวม -111,663 ล้านบาท ซึ่งมาจากบัญชีน้ำมันติดลบรวม 64,066 ล้านบาท และบัญชีก๊าซหุงต้ม (LPG) ติดลบรวม -47,597 ล้านบาท         

สำหรับการบริหารงาน 4 ปีที่ผ่านมา นายวิศักดิ์ กล่าวว่า กองทุนน้ำมันฯ มีบทบาทสำคัญในการดูแลเสถียรภาพราคาน้ำมันในช่วงวิกฤติ ซึ่งจะเห็นได้ว่าตลอด 4 ปีที่ผ่านมา กองทุนฯ ต้องเข้าไปช่วยดูแลราคาน้ำมัน และ LPG  หลังเผชิญกับสถานการณ์วิกฤติราคาพลังงาน, การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 และภาวะเศรษฐกิจตกต่ำทั่วโลก ทำให้กองทุนฯ ติดลบสูงสุดเป็นประวัติการณ์ถึง 1.3 แสนล้านบาทในปี 2565 โดยราคาน้ำมันดิบในขณะนั้นสูงถึง 120-130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ท้ายที่สุดรัฐบาลต้องอนุมัติให้กู้เงินได้ในกรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาท และ สกนช. กู้มาร่วม 105,333 ล้านบาท ขณะที่ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศก็ต้องปรับขึ้นจาก 30 บาทต่อลิตร มาอยู่ในเพดานที่ 35 บาทต่อลิตร และปรับลดลงเมื่อมีรัฐบาลใหม่เข้ามาเหลือ 30 บาทต่อลิตร ส่งผลให้กองทุนฯ ที่เริ่มมีรายรับเพิ่มขึ้นเมื่อต้นปี 2567  ต้องกลับไปชดเชยราคาดีเซลเพิ่มอีกรอบจนปัจจุบันกองทุนมีฐานะติดลบรวม -111.663 ล้านบาท

อย่างไรก็ตามคาดว่า  ผอ.สกนช. คนใหม่คงจะเข้ามาบริหารกองทุนฯ ได้อย่างต่อเนื่อง และการดูแลกองทุนฯ ก็ยังมีภาครัฐที่คอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเชื่อว่าจะพิจารณาการใช้เงินจากหลายมิติ เพื่อให้การบริหารเงินกองทุนฯ มีประสิทธิภาพมากที่สุด

Advertisment