กวักมือเรียกพรรคก้าวไกล จับตากระบวนการสรรหา 4 กรรมการกำกับกิจการพลังงาน

589
Screenshot
- Advertisment-


อีก 4 เดือน รู้ผลใครจะเป็น  4 กรรมการกำกับกิจการพลังงานคนใหม่  ผู้มีบทบาทสำคัญต่อการกำกับดูแลกิจการพลังงานมูลค่าหลักล้านล้าน ที่ภาคประชาสังคมและพรรคก้าวไกล ควรต้องสนใจ เมื่อตั้งประเด็นถามหาค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม

วันที่ 30 กันยายน 2567 คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือเรียกกันสั้นๆว่า บอร์ด กกพ. 4 คน จากที่มีอยู่ทั้งหมด 7 คน จะครบวาระ 6 ปี ซึ่งประกอบด้วย 1.นายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. 2.นายสุธรรม อยู่ในธรรม กรรมการ กกพ. 3.นายบัณฑูร เศรษฐศิโรตม์ กรรมการ กกพ. และ 4.นายสหัส ประทักษ์นุกูล กรรมการ กกพ.  โดยกระบวนการสรรหาบุคคลที่จะมาเป็นบอร์ด กกพ.นั้นได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว ด้วยการตั้งคณะกรรมการสรรหา จำนวนประมาณ 7-8 คน แต่เป็นที่น่าสังเกตว่า พรรคฝ่ายค้านอย่าง พรรคก้าวไกล และภาคประชาสังคมที่เคยมีบทบาทเรียกร้องค่าไฟฟ้าที่เป็นธรรม ยังไม่ให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ ทั้งๆที่ ตำแหน่ง กรรมการ กกพ. นั้นเรียกได้ว่าเป็น 7 อรหันต์ผู้คุมกฏเกณฑ์กติกาในการกำกับดูแลกิจการพลังงานที่มีมูลค่ามากกว่าล้านล้านบาท  และเป็นผู้ที่กำหนดอัตราค่าไฟฟ้าที่จัดเก็บกับประชาชนด้วย

ส่วนที่มีความสำคัญตั้งต้นนั้น อยู่ที่บุคคลที่จะมาเป็นคณะกรรมการสรรหา 7-8 คน เพราะหากปล่อยให้กระบวนการคัดเลือกผู้ที่จะมาเป็นกรรมการสรรหานั้น โน้มเอียงไปทิศทางใด หรือมีฝ่ายการเมือง กลุ่มทุนพลังงานเข้ามาแทรกแซง ในชั้นนี้ได้ ก็แทบจะบอกได้เลยว่า  บุคคลที่จะได้รับการคัดเลือกเป็นกรรมการ กกพ. จะเป็นคนของฝ่ายใด 

- Advertisment -

อย่างไรก็ตามการคัดเลือกบุคคลที่จะมาเป็นผู้ดำเนินการสรรหาบอร์ด กกพ. นั้น ทางสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ได้ดำเนินการกระบวนการสรรหาตามที่ “คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.)” เคยดำเนินการมาก่อนหน้านี้ โดยเบื้องต้นองค์ประกอบของคณะกรรมการสรรหาฯ จะประกอบด้วย อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน , อดีตปลัดกระทรวงการคลัง, ตัวแทนองค์กรเอกชน,  ตัวแทนจากมหาวิทยาลัย และตัวแทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่ง สำนักงาน กกพ. ได้ลงนามในประกาศวันที่ 11 มีนาคม  2567 ประกาศ “รับสมัครคัดเลือกผู้แทนอธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐ” และ “รับสมัครคัดเลือกผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหากำไรในทางธุรกิจ” เพื่อมาเป็นกรรมการสรรหาตำแหน่ง กกพ.แล้ว และมีการประกาศรายชื่อผู้แทนอธิการบดีจากสถาบันอุดมศึกษาของรัฐแล้ว ได้แก่ ศ.ดร.นายแพทย์ พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดีมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ส่วนผู้แทนองค์กรเอกชนที่ไม่แสวงหาผลกำไรในทางธุรกิจ ได้แก่ นายวิจารย์ สิมาฉายา ตัวแทนมูลนิธิสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย   อย่างไรก็ตามเป็นที่น่าสังเกตว่า หลังจากได้รับการคัดเลือกแล้ว นายวิจารย์ สิมาฉายา ได้ยื่นหนังสือขอลาออกจากการเป็นกรรมการสรรหา เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2567 และ วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงาน กกพ. ได้ลงนามแต่งตั้ง นายสมศักดิ์ สันธินาค จากสมาคมเครือข่ายอาสาสมัครพิทักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมหมู่บ้านอยุธยา  เป็นคณะกรรมการสรรหาแทน  ในขณะที่ รายชื่อกรรมการสรรหาคนอื่นๆ ที่ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค จะเป็นผู้พิจารณาคัดเลือกนั้น ยังไม่ได้รับการเปิดเผยจากทาง สำนักงาน กกพ. 

โดยตามกระบวนการ หลังจากที่ได้รายชื่อคณะกรรมการสรรหา ครบแล้ว ทางสำนักงาน กกพ. จึงจะมีการเปิดรับสมัครบุคคลที่จะเข้ารับการสรรหาเป็นคณะกรรมการ กกพ.ทั้ง 4 ตำแหน่ง และนำเสนอให้คณะรัฐมนตรี ให้ความเห็นชอบ ซึ่งจำเป็นจะต้องแล้วเสร็จก่อน 30 กันยายน 2567 นี้  เนื่องจากหากมีความล่าช้า ก็จะกระทบต่องานกำกับกิจการพลังงานที่จะไม่สามารถประชุมบอร์ดกกพ.ได้ เพราะนายเสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. ที่พ้นจากตำแหน่งในคราวนี้ด้วยจะไม่สามารถรักษาการตำแหน่งประธาน กกพ. ได้ตามหลักเกณฑ์ของกฏหมายเพราะมีอายุครบ 70 ปี แล้ว

เสมอใจ ศุขสุเมฆ ประธาน กกพ. ที่จะครบวาระ 30 กันยายน 2567

ในบรรดากรรมการ กกพ.ทั้ง 4 คนที่จะต้องมีการสรรหาใหม่นั้น ประเด็นที่น่าสนใจติดตามก็คือเรื่อง ตำแหน่งประธาน กกพ. จะมีใครมาแทน นายเสมอใจ ซึ่งมีความสำคัญต่อการกำหนดวาระและคุมเกมการประชุม  และการสรรหา จะได้บุคคลที่มีความรู้ความสามารถมาเป็นกรรมการ หรือไม่ หรือจะเป็นบุคคลที่ถูกล็อกสเปคเอาไว้แล้วตั้งแต่ต้นทาง  แต่ที่เห็นในตอนนี้ก็คือ ยังไม่มีใครจากพรรคก้าวไกล ซึ่งเป็นแกนนำพรรคฝ่ายค้าน หรือตัวแทนจากภาคประชาสังคม ที่ออกมาพูดถึงเรื่องนี้ ทั้งๆที่ก่อนหน้านี้ เคยออกมาเรียกร้องและตั้งประเด็นกับบทบาทภาครัฐเรื่องค่าไฟฟ้าที่ควรจะจัดการอย่างเป็นธรรมกับประชาชน  ซึ่งทั้ง 4 คนที่จะเข้ามาเป็นบอร์ด กกพ. ล้วนมีบทบาทสำคัญต่อเรื่องนี้ 

Advertisment