กระทรวงพลังงานพร้อมขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสู่ภาคปฏิบัติ

532
- Advertisment-

กระทรวงพลังงานตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน หวังแปรแนวทางข้อเสนอตามยุทธศาสตร์ ของคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่มีนายพรชัย รุจิประภาเป็นประธาน สู่แผนปฏิบัติ พร้อมระดมสมอง พลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ลงพื้นที่สร้างการมีส่วนร่วมกับประชาชน ให้เข้าใจถึง แผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน 6 ด้าน 17 ประเด็น 

วันนี้ (21กย.2561) นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช รองปลัดกระทรวงพลังงาน เป็นประธานเปิดงานสัมมนา “สื่อสารนโยบายปฏิรูปประเทศด้านพลังงานสู่การปฏิบัติ”โดยมีพลังงานจังหวัดทั่วประเทศ ผู้แทนจากหน่วยงานภายในกรมและรัฐวิสาหกิจสังกัดกระทรวงพลังงาน กว่า 300 คน ร่วมสัมมนา พร้อมทั้งคณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ได้แก่ นายพรชัย รุจิประภา ประธานคณะกรรมการ พลเอกเลิศรัตน์  รัตนวานิช รองประธาน และนายมนูญ ศิริวรรณ คณะกรรมการ เข้าร่วมเป็นวิทยากรบรรยาย สร้างความรู้ความเข้าใจในแนวทางปฏิบัติ

โดย นางสาวนันธิกา เปิดเผยว่า ในส่วนของกระทรวงพลังงาน ทางรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้มีการลงนามแต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน โดยมีปลัดกระทรวงพลังงานเป็นประธาน  พร้อมคณะอนุกรรมการ อีก 5ชุด ประกอบด้วย ชุดที่1 คณะอนุกรรมการด้านบริหารจัดการพลังงาน มีตน เป็นประธาน  ชุดที่2.ด้านไฟฟ้า มีผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน(สนพ.) เป็นประธาน   ชุดที่3 ด้านปิโตรเลียมและปิโตรเคมี มี อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติเป็นประธาน  ชุดที่4 ด้านสนับสนุนพลังงานทดแทน การอนุรักษ์พลังงานและการใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพ  มีอธิบดีกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน(พพ.) เป็นประธาน  และ  ชุดที่ 5 ด้านเทคโนโลยีนวัตกรรมและโครงสร้างพื้นฐาน มี ผอ.สนพ. เป็นประธาน    ซึ่งคณะกรรมการจะมีการจัดประชุมอย่างน้อยเดือนละ 1ครั้งเพื่อติดตามความคืบหน้า และรายงานให้คณะกรรมการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ที่มีนายพรชัย รุจิประภาเป็นประธาน รับทราบต่อไป

- Advertisment -

ทั้งนี้ การดำเนินการตามแผนปฏิรูปประเทศด้านพลังงานช่วง ปี 2561 – 2565  ของคณะกรรมการและอนุกรรมการที่ตั้งขึ้น จะครอบคลุมแนวทางการปฏิรูป ทั้ง 6 ด้าน 17 ประเด็น โดยจะเป็นการเปลี่ยนแปลงเชิงนโยบายด้านพลังงานที่สำคัญเพื่อนำไปสู่การปฏิบัติ  และจะเป็นแผนงานที่เน้นการปรับปรุงโครงสร้างการบริหารจัดการเพื่อสร้างความเชื่อมั่นการยอมรับของประชาชน ส่งเสริมด้านเทคโนโลยีและการมีส่วนร่วมของประชาชนให้การบริหารจัดการด้านพลังงานมีธรรมาภิบาล ก่อให้เกิดการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานพลังงานและการลงทุนในอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง

โดย กรอบการปฏิรูปฯ  ที่ต้องเร่งดำเนินการในช่วงแรกที่สำคัญ ๆ อาทิ การจัดหาพลังงาน โดยเฉพาะการสำรวจและผลิตก๊าซธรรมชาติจากแหล่งในประเทศ  ให้เกิดความต่อเนื่อง เดินหน้าปลดล๊อคกฎระเบียบ เพื่อให้การพัฒนาพลังงานทางเลือกเกิดความคล่องตัวและเติบโตยิ่งขึ้น การยกระดับการออกแบบอาคารเพื่อการอนุรักษ์พลังงาน รับเกณฑ์มาตรฐานการออกแบบอาคาร (BEC)  รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพพลังงานอาคารรัฐด้วยกลไก ESCO  การจัดตั้งศูนย์สารสนเทศพลังงานแห่งชาติ เพื่อเผยแพร่ข้อมูลพลังงานที่เชื่อถือได้สู่การวิเคราะห์รอบด้าน และลดการบิดเบือนข้อมูลพลังงาน เป็นต้น

ส่วนในช่วงปลายของการปฏิรูปฯ จะเกิดเป้าหมายการพัฒนาพลังงานที่ชัดเจน ทั้งด้านยานยนต์ไฟฟ้า ระบบเก็บกักพลังงาน การลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน  เสริมสร้างเศรษฐกิจในระยะยาว การสร้างโรงไฟฟ้า สายส่งที่ล้ำสมัย การลงทุนธุรกิจปิโตรเคมีระยะใหม่ ประชาชนจะเกิดทางเลือกที่สามารถผลิตและใช้พลังงานทดแทนอย่างเสรี ลดการผูกขาด สร้างการแข่งขันในทุกกิจการพลังงาน ในขณะเดียวกันสามารถบังคับใช้กฎหมาย หรือระเบียบด้านการอนุรักษ์และใช้พลังงานอย่างมีประสิทธิภาพต่อทุกภาคส่วน

สำหรับพลังงานจังหวัดทั่วประเทศที่เข้ามาร่วมในงานสัมมนาครั้งนี้ จะมีส่วนสำคัญที่จะนำความเข้าใจเกี่ยวกับแนวทางการปฏิรูปประเทศด้านพลังงาน ไปสื่อสารกับประชาชนในพื้นที่ ว่าเมื่อปฏิรูปพลังงานตามแนวทางดังกล่าว จะช่วยสร้างงาน สร้างรายได้ และคุณภาพชีวิตที่ดี  มีอิสระในการผลิตพลังงานใช้เอง เหลือแล้วขายเข้าระบบได้ รวมทั้งจะมีราคาพลังงานที่สมดุลในระยะยาว  หากแผนปฎิรูปพลังงานบรรลุผลตามเป้าหมาย

 

Advertisment