กระทรวงพลังงาน ชูเทคโนโลยีด้านพลังงานทั้งระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ และโซลาร์เซลล์ผลิตไฟฟ้า ช่วยลดรายจ่ายค่าไฟให้วิสาหกิจชุมชนเลี้ยงจิ้งหรีด แสนตอ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ผลิตสินค้าได้ตามมาตรฐานความต้องการของตลาดและมีรายได้ต่อเดือนเพิ่มขึ้น
เมื่อวันที่ 20 มิ.ย.66 กระทรวงพลังงาน โดยนายสุรเดช เหลาพันนา พลังงานจังหวัดขอนแก่น นำคณะสื่อมวลชนสัญจรเข้าเยี่ยมชมวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ซึ่งมีการนำเทคโนโลยีด้านพลังงานมาปรับใช้กับการเลี้ยงจิ้งหรีด ซึ่งช่วยลดต้นทุนค่าใช้จ่ายของวิสาหกิจฯในแต่ละเดือนได้ค่อนข้างมาก และช่วยให้วิสาหกิจชุมชนแห่งนี้มีกำไรเพิ่มขึ้น
นายสุรเดช เหลาพันนา พลังงานจังหวัดขอนแก่น เปิดเผยว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ เป็นหนึ่งในกลุ่มวิสาหกิจที่ได้รับการส่งเสริมและสนับสนุนเทคโนโลยีพลังงานเพื่อลดต้นทุนการผลิต เพิ่มรายได้แก่ชุมชน โดยเป็นส่วนหนึ่งของโครงการสถานีพลังงานชุมชนองค์การบริหารส่วนตำบลบัวใหญ่ อำเภอน้ำพอง จังหวัดขอนแก่น ภายใต้กลุ่มเศรษฐกิจฐานราก งบกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ปีงบประมาณ พ.ศ. 2564
โดยวิสาหกิจฯ เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอถือว่าเป็นแหล่งผลิตใหญ่ที่สุดของประเทศไทย มีปริมาณการผลิตจิ้งหรีดรวมประมาณ 50 – 60 ตัน/เดือน ซึ่งจิ้งหรีดถูกจัดเป็นแมลงเศรษฐกิจตัวใหม่ที่สร้างรายได้แก่ประเทศและเกษตรกรของไทยในระยะยาว เนื่องจากองค์การอาหารและเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO: Food and Agriculture Organization) ได้จัดให้แมลงเป็นแหล่งอาหารในอนาคตของโลก โดยปัจจุบันในภาพรวมของประเทศ มีการส่งออกจิ้งหรีดทั้งในรูปแบบจิ้งหรีดผง จิ้งหรีดแปรรูป และจิ้งหรีดแช่แข็ง
ทั้งนี้ เทคโนโลยีด้านพลังงานที่ทางวิสาหกิจฯ เลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ได้รับความช่วยเหลือ ประกอบด้วย 1.ระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ขนาด 3 x 4 เมตร จำนวน 1 ระบบ เพื่อลดระยะเวลาในการตากแผงไข่ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ในการเลี้ยงจิ้งหรีด
2.ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ On Grid ขนาด 10 กิโลวัตต์ สำหรับห้องเย็นที่มีส่วนช่วยลดค่าไฟฟ้าลงได้เกือบ 50% รวมทั้งชุดครอบและ 3.หัวเตาแก๊สประสิทธิภาพสูงจำนวน 4 ชุด เพื่อช่วยลดค่าก๊าซหุงต้มลง
นายเพ็ชร วงศ์ธรรม ประธานวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ กล่าวว่า วิสาหกิจชุมชนกลุ่มเศรษฐกิจพอเพียงเลี้ยงจิ้งหรีดบ้านแสนตอ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2558 มีสมาชิกทั้งหมด 31 คน ถือเป็นแหล่งผลิตจิ้งหรีดที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทยและความต้องการสินค้ายังมีในปริมาณที่สูง โดยมีการส่งสินค้าทั้งที่เป็นจิ้งหรีดสด และจิ้งหรีดแช่เเข็ง และมีขั้นตอนการเก็บรักษาคุณภาพจิ้งหรีดในห้องเย็น ที่มีต้นทุนค่าไฟฟ้าค่อนข้างสูง ประมาณหมื่นกว่าบาทต่อเดือน ดังนั้นการได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงานในการติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบ On Grid ขนาด 10 กิโลวัตต์ จึงช่วยให้ภาระต้นทุนค่าไฟฟ้าลดลงเหลือประมาณ 5 พันกว่าบาทต่อเดือนหรือลดลงประมาณครึ่งหนึ่ง
ในขณะที่กระบวนการทำความสะอาด และการต้มให้สุกก่อน หลังจากต้มสุกแล้วนำจิ้งหรีดไปตากผึ่งให้แห้งหมาดๆ ในระบบอบแห้งพลังงานแสงอาทิตย์ ก็ช่วยรักษาคุณภาพ ความสะอาดและร่นระยะเวลาให้เร็วขึ้น
ส่วนการต้มจิ้งหรีดโดยใช้ก๊าซหุงต้ม ที่ได้รับการช่วยเหลือด้วยหัวเตาแก๊สประสิทธิภาพสูงก็ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิงลงได้ด้วย
นายเพ็ชร กล่าวว่า ในกระบวนการเลี้ยงจิ้งหรีดในสายพันธุ์ซึ่งเป็นที่ต้องการของตลาดจะใช้ระยะเวลาประมาณ 35 วันซึ่งต้นทุนส่วนใหญ่คืออาหารที่ใช้เลี้ยงซึ่งต้องซื้อจากบริษัทที่จัดจำหน่ายโดยเฉพาะ และมีการปรับราคาสูงขึ้น ในขณะที่ราคาขายส่งซึ่งมีผู้มารับเหมาซื้อไป ไม่ได้มีการปรับขึ้น ทำให้ผู้เลี้ยงจิ้งหรีดรายย่อยมีกำไรที่ลดลง การได้รับความช่วยเหลือจากกระทรวงพลังงาน จึงมีส่วนอย่างมากในการลดค่าใช้จ่ายและเพิ่มรายได้ให้กับวิสาหกิจชุมชนกลุ่มนี้
ทั้งนี้ กลุ่มวิสาหกิจฯ ได้รับจิ้งหรีดจากสมาชิกที่อยู่ในพื้นที่จังหวัดขอนแก่นส่งมาเข้ากระบวนการผลิตและส่งจำหน่ายในแต่ละครั้งประมาณ 8 – 9 ตัน/ครั้ง สัปดาห์ละ 1 – 2 ครั้ง ปริมาณรวมผลิตได้ประมาณ 50 – 60 ตัน/เดือน ซึ่งชุมชนได้จำหน่ายราคาประมาณ 85,000 บาท/ตัน รายได้รวมประมาณ 4 – 5 ล้านบาท/เดือน โดยผลิตให้แก่บริษัท รับขายส่งเนื้อสัตว์และผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์รายใหญ่ในจังหวัดขอนแก่น และลูกค้ารายย่อยที่จังหวัดสุโขทัย และจังหวัดอุดรธานี