กรมเชื้อเพลิงฯ ปรับแผน Shut Down เอราวัณ ผนึก ปตท.กฟผ. เพิ่มใช้ก๊าซ JDA แทน LNG เซฟค่าเชื้อเพลิงกว่า 2 พันล้าน

802
แหล่งเอราวัณ
- Advertisment-

กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติสั่งปรับแผน Shut Down เอราวัณ สั่งปิดซ่อมบำรุงเพียงบางส่วนให้การผลิตก๊าซต่อเนื่อง พร้อมดึงก๊าซจาก เจดีเอ B 17 เสริมอีก 308 ล้านลบ.ฟุตต่อวัน โดยได้ไฟเขียวจากรัฐมนตรีพลังงาน สั่งการ ปตท. กฟผ. ร่วมมือ ชะลอแผนใช้LNG นำเข้า ได้ผลลัพธ์ช่วยลดต้นทุนค่าเชื้อเพลิง กว่า 2 พันล้านบาท

ดร.สราวุธ แก้วตาทิพย์ อธิบดีกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ เปิดเผยถึงความคืบหน้าการดำเนินการผลิตก๊าซในแหล่งเอราวัณ (G1/61)​ หลังเปลี่ยนจาก ระบบสัมปทานมาเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต หรือพีเอสซี ที่มี บริษัท ปตท.สผ. เอนเนอร์ยี่ ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (ปตท.สผ. อีดี) เป็นผู้รับสัญญารายใหม่ ตั้งแต่วันที่ 24 เม.ย.65 ว่า กรมได้สั่งให้ ปตท.สผ. อีดี ปรับแผนซ่อมบำรุงแหล่งผลิตปิโตรเลียมเอราวัณ (G1/61)​ จากที่เสนอมาว่าจะต้องปิดซ่อมบำรุงทั้งหมด ( Totally Shut Down )​ ทุกแหล่งย่อย คือ เอราวัณ ปลาทอง สตูล และ ฟูนาน เป็นเวลา 2 สัปดาห์ ที่จะทำให้ต้องหยุดการผลิตก๊าซทั้งหมด มาเป็น การหยุดซ่อมบำรุงเพียงบางส่วน ( Partially​ Shut Down )​ที่ยังทำให้มีการผลิตก๊าซส่งป้อนเข้าระบบได้ ซึ่งจะลดการนำเข้าLNGเข้ามาทดแทน ในช่วงที่ราคายังอยู่ในระดับสูงและส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้า

โดยแผนการปิดซ่อมบำรุงเพียงบางส่วนที่ทาง ปตท.สผ. อีดี นำเสนอมา แบ่งเป็น 2 ช่วง คือช่วงแรกเป็นการปิดซ่อมบำรุงเฉพาะแหล่งปลาทอง ซึ่งดำเนินการไปแล้ว เมื่อวันที่ 31 พ.ค. -12 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา ซึ่งส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซฯ หายไป 150 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

- Advertisment -

ส่วนการปิดซ่อมบำรุงช่วงที่2 ในแหล่ง เอราวัณ สตูล ฟูนาน เริ่มระหว่างวันที่ 21-27 มิ.ย. 2565 นี้ ส่งผลให้กำลังการผลิตก๊าซฯ หายไป 170 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ดร.สราวุธ กล่าวว่า แผนการปิดซ่อมบำรุงแหล่งเอราวัณ (G1/61) ที่ประกอบด้วย 4 แหล่งย่อยนั้น ทางคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.)​ได้รับทราบข้อมูลล่วงหน้าแล้วว่าหากปิดซ่อมบำรุงทั้งหมดปริมาณก๊าซจะหายไปจากระบบเท่าไหร่และต้องนำเข้าLNGมาทดแทนแค่ไหนเพื่อใช้ในการคำนวณผลกระทบค่าไฟฟ้า เนื่องจาก LNGนำเข้ามีราคาที่สูงกว่าก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ซึ่งเมื่อกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ สามารถเจรจาให้ ปตท.สผ. อีดี ปรับแผนซ่อมบำรุงเป็นแบบ Partially​ Shut Down ที่ทำให้ก๊าซไม่ได้หายไปทั้งหมด ผลกระทบที่มีต่อค่าเอฟที น่าจะดีขึ้น

นอกจากนี้ ในช่วงที่มีการปิดซ่อมบำรุงแหล่งปลาทอง นั้น เป็นช่วงที่โรงแยกก๊าซของมาเลเซียปิดซ่อมบำรุงด้วย ซึ่งทำให้ไม่ต้องการใช้ก๊าซ
กรมฯ จึงเจรจากับทางมาเลเซียเพื่อขอรับก๊าซที่จะต้องส่งให้โรงแยกก๊าซมาใช้แทน ซึ่งได้ก๊าซจากพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย หรือเจดีเอ ในแปลงB17 เพิ่มขึ้นจาก 30 ล้านลูกบาศ์กฟุตต่อวัน เป็น 308 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ในราคา 4.11 เหรียญสหรัฐฯ ต่อล้านบีทียู ซึ่งถูกกว่าเมื่อเทียบกับราคาก๊าซ LNG แบบตลาดจร (Spot) ที่ราคา 20 เหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู ทำให้ประหยัดค่าเชื้อเพลิงได้ถึง 62 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อล้านบีทียู หรือประมาณ 2,000 ล้านบาท เทียบเฉพาะช่วงที่โรงแยกก๊าซมาเลเซียปิดซ่อมบำรุง

โดยการที่สามารถนำก๊าซทั้ง 308 ล้านลูกบาศก์​ฟุตต่อวันจากเจดีเอ มาใช้ได้ทั้งหมด ทั้งๆที่ ปตท.มีการสต็อกLNG ไว้เต็มคลังเก็บเพื่อรองรับ การปิดซ่อมบำรุงแหล่งเอราวัณ ไว้พร้อมแล้ว ก็ด้วยการสั่งการจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน และความร่วมมือจากผู้บริหารทั้ง ปตท.และ กฟผ. ในการปรับแผนที่จะหรี่กำลังผลิตจากโรงไฟฟ้าที่จะใช้LNG เป็นเชื้อเพลิงลง

“เราถือว่าความสำเร็จครั้งนี้เพราะทุกฝ่ายทุ่มเทและให้ความร่วมมือกันอย่างเต็มที่เป็นทีมไทยแลนด์ ทั้งฝ่ายนโยบายคือท่านรัฐมนตรีพลังงาน ผู้บริหารของกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติที่รีบบินไปเจรจากับทางมาเลเซีย รวมถึง ผู้บริหาร ปตท.ที่เลื่อนชะลอแผนใช้LNGที่มีราคาแพงและผู้บริหาร กฟผ.ที่เตรียมโรงไฟฟ้าเพื่อรับก๊าซที่เราได้มาเพิ่มจากเจดีเอ B17 ซึ่งผลลัพธ์​ที่ได้คือต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ลดลง คิดเป็นเงินกว่า 2 พันล้านบาท ” ดร.สราวุธ กล่าว

นอกจากนี้ เมื่อวันที่ 18 มิ.ย. 2565 ที่ผ่านมา กรมฯ ยังได้เจรจากับมาเลเซีย เพื่อร่วมกันวางแผนบริหารจัดการ ก๊าซฯ ช่วงที่ทางมาเลเซียจะมีการหยุดซ่อมบำรุงโรงแยกก๊าซและไม่ต้องการรับก๊าซจากแหล่งเจดีเอ ร่วมกัน เพื่อที่ฝ่ายไทยจะขอรับก๊าซฯส่วนดังกล่าวมาใช้แทน ซึ่งจะทำให้การผลิตก๊าซในแหล่งเจดีเอ สามารถผลิตได้ต่อเนื่องและเป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งมาเลเซียและไทย

สำหรับแหล่งผลิตปิโตรเลียมบงกช (G2/61)​ นั้น จะปิดซ่อมบำรุงอีก 16 วันตามรอบแผนงาน ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่วันที่ 29 มิ.ย. 2565 นี้ ทำให้ก๊าซฯ หายไปจากระบบ 185 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากกำลังผลิตทั้งหมด 870 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เนื่องจาก กรมฯ ให้ใช้การปิดซ่อมบางส่วน แทนการปิดซ่อมพร้อมกันทั้งหมดเช่นเดียวกับแหล่งเอราวัณ

ในขณะที่แผนซ่อมบำรุประจำปีของแหล่งเอราวัณจะมีอีกครั้งในช่วงปลายปี 2565
แต่เชื่อว่าจะไม่มีผลกระทบมากนัก เนื่องจากเป็นช่วงฤดูหนาว ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้า และ ก๊าซฯในประเทศลดลง

สำหรับก๊าซฯ ในแหล่งเอราวัณและบงกช เดิมมีกำลังการผลิตรวม 2,100 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่ ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากระบบสัมปทานเป็นระบบแบ่งปันผลผลิต(PSC) ในเดือน เม.ย. 2565 ที่ผ่านมา กำลังผลิตก๊าซฯ จากแหล่งเอราวัณและบงกช ตามสัญญา PSC จะเหลือเพียง 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แบ่งเป็นแหล่งเอราวัณ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน และบงกช 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งทำให้ก๊าซฯ หายไป 600 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งส่วนนี้ต้องใช้ก๊าซ LNG ราคา Spot มาใช้แทน และมีผลกระทบต่อราคาค่าไฟฟ้า

ดร.สราวุธ กล่าวว่า ปตท.สผ.อีดี จะเริ่มระดมเจาะหลุมผลิตปิโตรเลียมแหล่งเอราวัณ (G1/61)​ ในหลุมผลิตเดิมที่ทาง ผู้รับสัมปทานรายเดิมได้ปิดหลุมไว้ก่อนส่งมอบ ซึ่งจะทำให้เริ่มมีก๊าซฯ มาเติมในระบบได้ประมาณเดือน ต.ค. 2565 ส่วนการเจาะหลุมผลิตและวางแท่นผลิตใหม่จะเริ่มอย่างจริงจังตลอดทั้งปี 66 และ คาดว่าปริมาณก๊าซจะถึงตามสัญญาพีเอสซีที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวันช่วงปี 67

ก๊าซจากแหล่งเอราวัณ ส่วนใหญ่แต่ละหลุมผลิตเป็นกระเปาะเล็กๆ อายุการผลิตของแต่ละหลุมอยู่ที่ประมาณ 1 ปีครึ่ง -​3​ ปี มีบางหลุมผลิตที่เป็นหลุมใหญ่แต่พบไม่บ่อยนักจะมีอายุผลิตได้ถึง 10 ปี โดยในวันที่ ปตท.สผ.อีดี รับส่งมอบแหล่งจากเชฟรอน มีปริมาณการผลิตก๊าซเหลืออยู่ประมาณ 399 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ซึ่งปริมาณการผลิตดังกล่าวจะค่อยๆลดลงเรื่อยๆจนหมดไปในที่สุด หากไม่มีการลงทุนเจาะหลุมผลิตเพิ่ม เพื่อทดแทนหลุมผลิตเดิมที่ก๊าซหมดลงไป

ทั้งนี้กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติมีการประมูลหาผู้มาบริหารจัดการแหล่งเอราวัณภายใต้ระบบพีเอสซี จนได้ผู้ชนะคือ ปตท.สผ.อีดี ตั้งแต่ ก.พ. 62 หรือล่วงหน้าก่อนที่สัมปทานจะสิ้นสุดอายุในวันที่ 23 เม.ย.65 กว่า 3 ปี แต่ ปตท.สผ.อีดี ก็ไม่สามารถที่จะเข้าไปเตรียมการลงทุนเจาะหลุมผลิตใหม่ ไว้ล่วงหน้าได้ เนื่องจากผู้รับสัมปทานเดิมไม่อนุญาตให้เข้าพื้นที่ก่อนสัมปทานสิ้นสุดอายุ โดยกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติได้ทำหน้าที่ประสานการเจรจาจนในที่สุด ปตท.สผ.อีดี สามารถทำข้อตกลงกับเชฟรอน เพื่อเข้าพื้นที่ได้ในช่วงเดือน ธ.ค.64 ก่อนสิ้นสุดสัญญาสัมปทานไม่กี่เดือน จึงมีช่วงที่ปริมาณก๊าซจากเอราวัณจะลดต่ำกว่าสัญญาประมาณ 2 ปี ที่ต้องใช้LNGนำเข้ามาทดแทน คิดเป็นปริมาณรวม 2.6 ล้านตัน โดยมี ปตท.เป็นผู้จัดหาLNGในส่วนดังกล่าว

Advertisment